‘กูเกิล’ ส่ง ‘Google Play Protect’ ปกป้องคนไทยจาก ‘กลโกงออนไลน์’

‘กูเกิล’ ส่ง ‘Google Play Protect’ ปกป้องคนไทยจาก ‘กลโกงออนไลน์’

สถิติระบุว่า ประเทศไทยมี "คดีหลอกลวง" และ "กลโกงออนไลน์" เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา...

KEY

POINTS

  • Google เปิดตัว ฟีเจอร์ Google Play Protect ใหม่ ปกป้องผู้ใช้แอนดรอยด์ จากการถูกหลอกลวงและกลโกงทางการเงิน

  • สถิติเผย 7 ใน 10 ของผู้ใช้ออนไลน์ในประเทศไทยตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางออนไลน์

  • 95% ของการติดตั้งแอปหลอกลวงมาจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต

  • ความเสียหายที่พบหลักๆ จะเป็นเรื่องของการสูญเสียทางการเงิน รวมไปถึงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล บัญชีส่วนตัวถูกแฮก และปัญหาสุขภาพจิตที่จะตามมา

สถิติระบุว่า ประเทศไทยมี "คดีหลอกลวง" และ "กลโกงออนไลน์" เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา...

จากข้อมูลของ Google แม้ว่าในปีที่ผ่านมาผู้คนจะตระหนักถึงกลโกงทางออนไลน์กันมากขึ้นแต่กลับพบว่า 7 ใน 10 ของผู้ใช้ออนไลน์ในประเทศไทยตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางออนไลน์ ทั้งๆ ที่มีความมั่นใจว่าตนเองนั้นสามารถมองกลโกงออกและหลีกเลี่ยงได้

ล่าสุด Google ประเทศไทย จัดกิจกรรม Safer Songkran ระหว่างวันที่ 3-6 เม.ย. ที่สามย่านมิตรทาวน์ ภายใต้โครงการ Safer with Google ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 พร้อมประกาศความร่วมมือกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในการเสริมสร้างความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ให้กับคนไทยผ่านฟีเจอร์และแคมเปญใหม่ ได้แก่

‘กูเกิล’ ส่ง ‘Google Play Protect’ ปกป้องคนไทยจาก ‘กลโกงออนไลน์’ ฟีเจอร์ Google Play Protect ใหม่ เพื่อช่วยปกป้องผู้ใช้แอนดรอยด์ จากการหลอกลวงและกลโกงทางการเงิน พร้อมจัดทำแคมเปญ Pause Check Protect ที่จะชวนคนไทยตั้งสติ ตรวจสอบ ป้องกัน ด้วยการนำเสนอเคล็ดลับต่างๆ ผ่านคอนเทนต์ที่เข้าใจง่าย และสามารถส่งต่อกันได้ เพื่อให้คนไทยไม่ตกเป็นเหยื่อของกลโกงออนไลน์

ยกระดับมาตรการ ‘ความปลอดภัย’

แจ็คกี้ หวาง ผู้อำนวยการ Google ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ยุคที่ผู้คนพึ่งพาอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น การตระหนักถึงภัยคุกคามไม่ว่าจะเป็น การหลอกลวงทางออนไลน์ รวมถึงการรับมือกับผู้ไม่ประสงค์ดี การเตรียมพร้อม รู้เท่าทัน และมีข้อมูลที่จำเป็นในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างฉลาดและรอบคอบเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่เคย

Google พบว่า เหล่าสแกมเมอร์ได้เพิ่มกลวิธีหลอกลวงที่มีความซับซ้อน ทั้งใช้ช่องทางบนดิจิทัลที่หลากหลายเพื่อเข้าถึงเหยื่อ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียและการโทรหลอกลวง โดยคนอายุ 25-34 ปีเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด

ส่วนความเสียหายที่พบหลักๆ จะเป็นเรื่องการสูญเสียทางการเงิน รวมไปถึงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล บัญชีส่วนตัวต่างๆ ถูกแฮก และปัญหาสุขภาพจิตที่จะตามมา

ดังนั้นฟีเจอร์ความปลอดภัยใหม่ใน Google Play Protect จะช่วยปกป้องผู้ใช้อุปกรณ์แอนดรอยด์จากกลลวงต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นด้วยการบล็อกการติดตั้งแอปที่อาจมีความเสี่ยงซึ่งโหลดมาจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จัก

ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่ 2 ของโลก ต่อจากสิงคโปร์ ที่กูเกิลได้นำร่องให้ใช้งานฟีเจอร์นี้ ซึ่งถือเป็นการยกระดับความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ขึ้นไปอีกขั้น  ‘กูเกิล’ ส่ง ‘Google Play Protect’ ปกป้องคนไทยจาก ‘กลโกงออนไลน์’

นอกเหนือจากการรักษาความปลอดภัยในตัวแบบหลายชั้นที่มีอยู่แล้วทั้งบนแอนดรอยด์และ Google Play ซึ่งรวมถึงการป้องกันสแปมใน Google Messages, Google Safe Browsing ใน Chromeและ Google Play Protect ที่ตอนนี้มีการสแกนแอปแบบเรียลไทม์เพิ่มเข้ามาด้วย

เพิ่มแนวป้องกันแบบ ‘เรียลไทม์’

ฟีเจอร์ Google Play Protect จะทำหน้าที่บล็อกการติดตั้งโดยอัตโนมัติ พร้อมแสดงคำอธิบายให้ผู้ใช้ทราบ หากผู้ใช้พยายามติดตั้งแอปซึ่งโหลดมาจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักที่มีเจตนาในการใช้สิทธิ์เข้าถึงข้อมูลละเอียดอ่อน

เมื่อผู้ใช้พยายามจะติดตั้งแอปที่อาจมีความเสี่ยงจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเว็บเบราว์เซอร์ แอปรับส่งข้อความ หรือโปรแกรมจัดการไฟล์ ที่อาจใช้สิทธิ์เข้าถึงข้อมูลละเอียดอ่อน ซึ่งมักจะถูกนำไปใช้ในกลโกงทางการเงิน Google Play Protect จะบล็อกการติดตั้งโดยอัตโนมัติ พร้อมแสดงคำอธิบายให้ผู้ใช้ทราบ

พร้อมกันนี้ จะตรวจสอบสิทธิ์ของแอปแบบเรียลไทม์ โดยเฉพาะสิทธิ์ 4 รายการนี้ ซึ่งได้แก่ การอ่าน SMS (READ_SMS) การรับ SMS (RECEIVE_SMS) การช่วยเหลือพิเศษ (Accessibility) และการฟังการแจ้งเตือน (BIND_Notifications)

จากการวิเคราะห์ด้านภัยคุกคามโดยละเอียดของกูเกิลพบว่า มิจฉาชีพมักจะใช้สิทธิ์เหล่านี้เพื่อดักจับรหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียวที่ส่งมาทาง SMS หรือการแจ้งเตือน รวมทั้งแอบส่องเนื้อหาบนหน้าจอของผู้ใช้

เมื่อวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของกลุ่มมัลแวร์สำหรับกลโกงหลักๆ ที่ใช้ประโยชน์จากสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลละเอียดอ่อนเหล่านี้ พบด้วยว่ากว่า 95% ของการติดตั้งมาจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ภัยคุกคามทางไซเบอร์ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มิจฉาชีพมักมีวิธีใหม่ๆ เพื่อหลอกลวงให้คนไทยจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของกลลวงออนไลน์ ซึ่งส่งผลให้คนไทยสูญเสียเงินทองและข้อมูลที่สำคัญ

ด้วยความร่วมมือครั้งนี้ ความเชี่ยวชาญของGoogleรวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะสามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่คนไทยและขับเคลื่อนสังคมไทยสู่อนาคตดิจิทัลที่ปลอดภัย