โจทย์ใหญ่ ‘ทีมเศรษฐกิจ’ หลังปรับ ครม. กระตุ้นระยะสั้น – ปรับโครงสร้างระยะยาว

โจทย์ใหญ่ ‘ทีมเศรษฐกิจ’ หลังปรับ ครม.  กระตุ้นระยะสั้น – ปรับโครงสร้างระยะยาว

โจทย์ท้าทาย "ทีมเศรษฐกิจ" รัฐบาลหลังปรับ ครม.กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว หลังตัวเลขเศรษฐกิจสะท้อนความสามารถการแข่งขันสินค้าไทยหลายชนิดลดลง ส่งออกซบ MPI ไม่ฟื้น จีดีพีถูกหั่น วัดฝีมือ "พิชัย" ฟื้นเศรษฐกิจไทยโตเต็มศักยภาพ

การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุดหลายฝ่ายจับตามองไปที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะการขยับปรับในส่วนของกระทรวงการคลังที่เศรษฐา ทวีสิน สละเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการไปนั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว และให้พิชัย ชุณหวชิร มานั่งในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลังทำหน้าที่เป็น “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล”

การเข้ามาทำหน้าที่ของคุณพิชัยเข้ามาในช่วงเวลาที่มี่ความสำคัญในทางเศรษฐกิจหนึ่งคือการที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้ามาประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่างบประมาณที่จะเข้าสู่การเบิกจ่ายของรัฐบาลไม่ได้เต็มวงเงินทั้ง 3.48 ล้านล้านบาท เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีการใช้ไปพลางก่อนมาก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังมีงบประมาณที่เหลืออยู่สามารถเบิกจ่ายได้หลายแสนล้านบาท โดยเฉพาะในโครงการที่เป็นโครงการลงทุนใหม่ๆ ที่รัฐบาลมีหน้าที่ในการผลักดันการใช้จ่าย และให้นโยบายการเบิกจ่ายงบประมาณได้โดยตรง

โจทย์ใหญ่ ‘ทีมเศรษฐกิจ’ หลังปรับ ครม.  กระตุ้นระยะสั้น – ปรับโครงสร้างระยะยาว

อีกส่วนหนึ่งช่วงเวลาที่คุณพิชัยเข้ามานำทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นช่วงที่หน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆมีการทยอยประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 ออกมา และเริ่มมีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจของไทยลง เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จาก 2.8% เหลือ 2.4% ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดจีดีพีไทยลงเหลือ 2.7% หลังจากมองว่าแรงกระตุ้นการคลังในปีนี้ลดลง

การปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจลงของหน่วยงานเศรษฐกิจสะท้อนให้เห็นข้อจำกัดในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งในปีนี้อาจเป็นอีกปีหนึ่งที่เราอาจเห็นการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต่ำกว่า 3% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ และต่ำกว่าเป้าหมายการเติบโตของรัฐบาลอีกปี

งานท้าทายหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล

หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจึงต้องเข้ามาดูทั้งหมดทั้งในส่วนของการดึงการลงทุน การขับเคลื่อนการส่งออก การกระตุ้นและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

ส่งออกติดลบ-กำลังการผลิตหดต่อเนื่อง 

นอกจากนั้นการแถลงตัวเลขการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ล่าสุดการส่งออกเดือน มี.ค.ของไทยติดลบ 10.9% การส่งออกไตรมาสแรกหดตัว -0.3%ขณะที่ตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีนาคม 2567 ที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยออกมาอยู่ที่ระดับ 104.06 หดตัวร้อยละ 5.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 62.39 ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสแรกของปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 100.85 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.65 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60.45 เท่านั้น

หลายสินค้าแข่งขันยาก

ซึ่งตัวเลขการหดตัวของภาคการส่งออก การใช้กำลังการผลิตที่ไม่ฟื้นตัวไม่ได้สะท้อนเฉพาะปัญหาระยะสั้นของเศรษฐกิจไทยแต่ยังสะท้อนปัญหาในโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหากลงไปดูในรายละเอียดสินค้าส่งออกหลายชนิดของไทยเริ่มแข่งขันได้ยาก ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ Krungthai Compass ชี้ว่าการส่งออกที่หดตัวในเดือน มี.ค.นั้นมาจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมติดลบ 12.3%YoY กลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน หลังจากเดือนก่อนขยายตัว 5.2%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่

  • รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-12.4%)
  • สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (-10.5%)
  • เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-11.8%)
  • เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (-12.7%)
  • อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (-16.1%) เป็นต้น

อย่างไรก็ดี สินค้าสำคัญบางรายการที่ขยายตัว ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ (+4.0%) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (+3.9%) เป็นต้น

ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่องที่ -5.1%YoY จากเดือนก่อน -1.1%YoY ตามการหดตัวต่อเนื่องของสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ -9.9%YoY ขณะที่สินค้าเกษตรเติบโต +0.1%YoY สินค้าส่งออกสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-16.7%) น้ำตาลทราย (-45.6 %) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง (-38.7%) และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (-50.2%) เป็นต้น ขณะที่สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว (+30.6%) ยางพารา (+36.9%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (+1.5%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+29.6%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (+20.0%) และนมและผลิตภัณฑ์นม (+19.1%) เป็นต้น

การส่งออกที่หดตัวและภาคการผลิตที่ไม่ฟื้นนโยบายและมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นที่เป็น “ควิกวิน”เท่านั้น แต่ต้องการนโยบายที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน และโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้นในระยะยาวด้วย             

บทบาทของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลจึงต้องเข้ามาสานต่อนโยบายหลายๆอย่างที่กำลังเดินหน้า พร้อมทั้งเติมเต็ม และขับเคลื่อนให้มีความรวดเร็วมากขึ้นในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น ทั้งนโยบายดึงการลงทุนจากต่างประเทศ นโยบายการทูตเชิงรุก นโยบายการเปิดตลาดการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมียุทธศาสตร์ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสกลับมาขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพได้อีกครั้ง