เทรนด์เทคฯปี 67 ‘คลาวด์-เอไอ’ ปลุก ‘บิ๊กคอร์ป’ วาง ‘ยุทธศาสตร์สร้างความต่าง

เทรนด์เทคฯปี 67 ‘คลาวด์-เอไอ’ ปลุก ‘บิ๊กคอร์ป’ วาง ‘ยุทธศาสตร์สร้างความต่าง

ส่องเทรนด์เทคฯปี 67 ‘คลาวด์-เอไอ’ ปลุก ‘บิ๊กคอร์ป’ วาง ‘ยุทธศาสตร์ไอที’ ที่แตกต่าง การเอาชนะความไม่แน่นอน และการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นสิ่งสำคัญมากต่อความสำเร็จที่ยั่งยืน

เทคโนโลยี และ นวัตกรรมที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ความจำเป็นทางธุรกิจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ทำให้ “คลาวด์” มีความสำคัญมากขึ้น และความต้องการโครงสร้างพื้นฐานไอทีแบบผสมผสาน (ไฮบริด) ก็เพิ่มมากขึ้น โลกที่ให้ความสำคัญกับดิจิทัลก่อนสิ่งอื่นใด (digital-first) ที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ขับเคลื่อนด้วยคลาวด์

นอกจากนี้ “เอดจ์” ซึ่งเป็นศูนย์กลางที่ทำให้ “อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์” เร็วขึ้น หรือการประมวลผลข้อมูลให้แสดงผลเร็วใกล้เคียงกับความเร็วของเครือข่ายมากที่สุด ยังสร้างความต่างกับองค์กรอย่างมีนัยสำคัญ ช่วยให้ได้รับข้อมูลและข้อมูลเชิงลึกเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีที่ร้อนแรงที่สุด และเป็นหัวข้อสนทนาของทุกคนอย่างรวดเร็วเพียงชั่วข้ามคืน คือ ‘เอไอ’ ซึ่งมีองค์กรจำนวนมากรีบเร่งกระโดดขึ้นรถไฟสาย ‘เอไอ’ ในระดับชั้นการใช้งานที่ต่างกัน และท่ามกลางความคลุมเครือ

เทรนด์เทคฯปี 67 ‘คลาวด์-เอไอ’ ปลุก ‘บิ๊กคอร์ป’ วาง ‘ยุทธศาสตร์สร้างความต่าง

“แอรอน ไวท์” รองประธานและผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขาย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น นูทานิคซ์ เล่าว่า ท่ามกลางเทคโนโลยีใหม่มากมายที่เกิดขึ้นเร็วมาก และความรู้สึกว่าต้องนำนวัตกรรมเหล่านี้ไปใช้อย่างเร่งด่วน ทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจทางธุรกิจเริ่มพบว่าพวกเขาถูกรุมล้อมด้วยโซลูชันใหม่ๆ มากเกินไป

แม้ “เอไอ” ยังคงเป็นที่สนใจของทุกภาคส่วน แต่องค์กรจำเป็นต้องหยุดคิด และถอยออกมาอย่างเร็วเพื่อวางกลยุทธ์คลาวด์ที่จะช่วยเปิดทางสู่ดิจิทัลให้ชัดเจน ทั้งนี้ องค์กรจำเป็นต้องเข้าใจเทคโนโลยีสแต็กที่องค์กรใช้อยู่ ให้ความสำคัญกับความพยายามในการสร้างหรือฟื้นฟูความเชื่อมั่นที่ลูกค้ามีให้องค์กร และพัฒนาทักษะต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานตามทันความต้องการด้านต่าง ๆ ของลักษณะแวดล้อมทางดิจิทัลที่พัฒนาไม่หยุดนิ่งได้

‘ไฮบริดมัลติคลาวด์’ตัวเลือกเริ่มต้นองค์กร

“ไวท์” ประเมินว่า อุตสาหกรรมทุกประเภทและทุกภูมิภาคใช้บริการคลาวด์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป การ์ทเนอร์ คาดว่า 75% ของข้อมูลองค์กร จะถูกสร้างและประมวลผลนอกดาต้าเซ็นเตอร์แบบเดิม หรือคลาวด์ภายในปี 2568 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากจากปี 2561 ที่มีเพียง 10% เท่านั้น

องค์กรต่างๆ พยายามนำแอปพลิเคชันหลากหลายมาใช้ พยายามเพิ่มความคล่องตัวทางธุรกิจและปรับค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม แม้กระแสนี้จะมาแรง แต่ไม่ใช่เวิร์กโหลดทุกรายการจะเหมาะกับการใช้บนพับลิคคลาวด์ได้อย่างราบรื่น และองค์กรจำนวนมากยังยึดติดอยู่กับแอปพลิเคชันแบบเก่าและข้อมูลที่ใช้และจัดเก็บอยู่ในระบบที่ติดตั้งอยู่ภายในองค์กรหรือไพรเวทคลาวด์

ดังนั้น โซลูชันไฮบริดมัลติคลาวด์ ซึ่งเป็นโซลูชันที่นำเสนอสมรรถนะที่ดีที่สุดของไพรเวทคลาวด์และพับลิคคลาวด์จะกลายเป็นทางเลือกเริ่มต้นขององค์กรที่ต้องการสร้างสมดุลระหว่างประสิทธิภาพ ความปลอดภัย การทำตามกฎระเบียบ และค่าใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ข้อมูลจากรายงาน Nutanix 2023 ECI ระบุว่า 86% ของผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอทีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น คาดว่า ไฮบริดคลาวด์จะให้ผล กระทบเชิงบวกต่อธุรกิจตัวเองปี 2567

เหนือสิ่งอื่นใดในบริบทของดิจิทัลที่ขยายตัวตลอดเวลา และ การที่ เอไอ หยั่งรากลงไปในการดำเนินธุรกิจแต่ละวัน ทำให้ไฮบริดมัลติคลาวด์เป็นทางเลือกเริ่มต้นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และกลายเป็นเทคโนโลยีที่เร่งการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ได้ช่วยเพียงจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังช่วยให้องค์กรเติบโตท่ามกลางความไม่แน่นอนในอนาคต

ภัยคุกคามไซเบอร์ ก้าวข้ามความไม่แน่นอน

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นับเป็นช่วงที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทั้งยังมีสถานการณ์ยุ่งยาก และการหยุดชะงักของการดำเนินธุรกิจแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การเอาชนะความไม่แน่นอน และการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นสิ่งสำคัญมากต่อความสำเร็จที่ยั่งยืน แต่จะนำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของภัยไซเบอร์เป็นเงาตามตัว

ข้อมูลสถิติการรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2565 ถึงวันที่ 4 ส.ค.2566 ของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ในไทย พบว่า การโจมตีอันดับหนึ่งเป็นการ แฮกเว็บไซต์ (Phishing, Defacement, Gambling) หน่วยงานที่ถูกโจมตีมากที่สุดคือภาคการศึกษา 36% หน่วยงานภาครัฐอื่น 31% และภาคการเงินธนาคาร 8%

ประเทศไทยบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) 2562 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปี 2564 องค์กรหลายแห่งในไทยต้องเผชิญกับการถูกแรนซัมแวร์ขโมยข้อมูลลูกค้า ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าและผู้บริโภคจำนวนมาก ธุรกิจไทยทุกแห่งจึงทบทวนและเร่งแผนงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อให้แน่ใจว่าได้ปฏิบัติตาม PDPA อย่างเคร่งครัด และเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา

อาจกล่าวได้ว่าความเชื่อมั่น จะเป็นตัวกระตุ้นที่ทรงประสิทธิภาพในขณะที่ ภาคเทคโนโลยียังคงพัฒนาและสร้างสิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้องค์กรปลดล็อกศักยภาพของทีมอย่างเต็มที่เพื่อมองหาแนวคิดใหม่ ๆ และรับมือกับความเสี่ยงที่คาดไว้แล้วว่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากผู้ให้บริการเทคโนโลยียังคงลงทุนด้าน เอไอ , แมชีนเลิร์นนิ่ง และบริการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นการฝังความสามารถด้านความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และความโปร่งใสไว้ในระบบต่างๆ ที่ผู้ให้บริการเทคโนโลยีกำลังสร้างขึ้นมาจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก

บุคลากรที่มีทักษะ เสริมแกร่งนวัตกรรมดิจิทัล

ในขณะที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นมีอุปสรรคสำคัญคือการขาดแคลนบุคลากรที่เชี่ยวชาญและมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีที่เกิดใหม่

สำหรับประเทศไทยรายงาน Asia Pacific Workforce Hopes and Fears Survey 2023 ของ PWC ระบุว่า 77% ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่าทักษะด้านดิจิทัลมีความสำคัญต่ออาชีพการงาน และพวกเขาเชื่อว่าทักษะด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เป็นฮาร์ดสกิล และทักษะที่เป็นซอฟต์สกิลมีความสำคัญเท่าเทียมกันในอาชีพการงาน โดยทักษะที่สำคัญที่สุดคือทักษะการทำงานร่วมกัน 84% ทักษะการวิเคราะห์/ข้อมูล 83% และทักษะความเป็นผู้นำ 83%

ความเร็วของนวัตกรรมทำให้ยากที่จะคาดการณ์ว่า ทักษะด้านใดจะเป็นที่ต้องการและจำเป็นมากในอีกสองสามปีข้างหน้า แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนก็คือ องค์กรจำเป็นต้องเริ่มสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับเวิร์กโฟลว์หรือขั้นตอนการทำงานขององค์กร เพื่อยกระดับทักษะและเพิ่มทักษะให้กับบุคลากรในปัจจุบัน เพื่อเสริมความรู้ให้ทันต่อความต้องการทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

องค์กรยังจำเป็นต้องให้ความสำคัญด้านทักษะต่าง ๆ มากขึ้น นอกเหนือจากวุฒิการศึกษาจากมหาวิทยาลัย เพื่อปลดล็อกศักยภาพของบุคลากรด้านเทคโนโลยีในอนาคตได้อย่างเต็มที่ รายงาน Asia Pacific Workforce Hopes and Fears Survey 2023 ของ PWC ยังพบว่า 71% ของผู้ตอบแบบสำรวจไทยมั่นใจว่านายจ้างจะเสริมทักษะต่าง ๆ ที่สำคัญต่ออาชีพการงานของพวกเขาในอีกห้าปีข้างหน้า และ 70% เชื่อว่าทักษะในการทำงานของตนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในอีกห้าปีข้างหน้าเช่นกัน

“เรากำลังยืนอยู่ในจุดเปลี่ยนสำคัญของปีแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่เป็นเส้นทางสู่ความยืดหยุ่น นวัตกรรม และความยั่งยืน องค์กรต่างผ่านเรื่องราวต่าง ๆ และการผจญภัยทางเทคโนโลยีมาแล้วตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่จะใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเหล่านี้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การมีพันธมิตรทางเทคโนโลยีที่ใช่ มีทักษะและความสามารถที่เหมาะสม เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ที่จะพาองค์กรพุ่งสู่จุดสูงสุดในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี”