จ่อเข้าบอร์ด กสทช. ลุ้น ดีล 'เอไอเอส-3บีบี’ จบ ต.ค.นี้ ชี้ดีลไม่ซับซ้อน

จ่อเข้าบอร์ด กสทช. ลุ้น ดีล 'เอไอเอส-3บีบี’ จบ ต.ค.นี้ ชี้ดีลไม่ซับซ้อน

กสทช. เผย ดีลซื้อกิจการ 3บีบีของเอไอเอสไม่ซับซ้อน คาดผลการศึกษาด้านกฎหมาย และเทคนิค ตรงไปตรงมา ไม่ต้องโฟกัส กรุ๊ป รอลุ้นด้านเศรษฐศาสตร์ว่าจะกระทบต่อตลาดหรือไม่ ส่วนด้านผู้บริโภคเตรียมเข้าที่ประชุม 9 ส.ค.นี้ เชื่อจบไม่เกินต.ค.นี้

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) กสทช. วันพุธที่ 9 ส.ค. นี้ อนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง จะนำผลการศึกษา และการฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด หรือ โฟกัส กรุ๊ป

กรณีการรวมธุรกิจ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) บริษัทลูกของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3บีบี เสนอต่อ บอร์ด กสทช. เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้มีการรวมธุรกิจของทั้งสองบริษัทหรือไม่

ขณะที่ผลการศึกษาของอนุกรรมการอีก 3 ชุด ได้แก่ ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านเทคโนโลยี นั้น อยู่ระหว่าง การจัดทำและคาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆนี้ ซึ่งอาจไม่ต้องจัด โฟกัส กรุ๊ป สามารถรวบรวมนำเสนอต่อบอร์ด กสทช. ได้เลย

โดยในส่วนด้านกฎหมายนั้น ไม่ต้องมีการตีความซับซ้อนเหมือนกรณีการรวมกิจการของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพราะการรวมธุรกิจกรณีของ 3บีบีและเอไอเอสเป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549

โดยนัยของผลตามข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมจึงไม่เกี่ยวกับประกาศเรื่องมาตรการกำกับดูแล การรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2661 ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ บอร์ดกสทช.โดยตรงว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต

ขณะที่ด้านเทคโนโลยีนั้น ก็เข้าใจง่าย เพราะเป็นธุรกิจไฟเบอร์ที่ไม่ซับซ้อน ไม่เหมือนกับการถือครองคลื่นความถี่ ที่ต้องมีการประมูล ธุรกิจอินเทอร็เน็ต ใครมีความพร้อมก็มาขออนุญาตทำธุรกิจได้ แต่สิ่งที่บอร์ดทุกคนให้ความสนใจคือ ผลการศึกษา ด้านเศรษฐศาสตร์ ว่าจะมีผลกระทบอย่างไรบ้างในทุกมิติ เพราะถือเป็นข้อมูลที่สำคัญ

แหล่งข่าว จาก กสทช. กล่าวต่อว่า เมื่อได้รับผลการศึกษาครบแล้วทางบอร์ดแต่ละท่านจะนำไปพิจารณา ก่อนที่สำนักงาน กสทช.จะบรรจุวาระเพื่อให้บอร์ดลงมติต่อไป โดยคาดว่าจะเป็นช่วงเดือน ต.ค.นี้ และเชื่อว่าจะไม่ยืดเยื้อ เหมือนกรณีดีล ทรู-ดีแทค โดยคาดว่าจะบอร์ดจะลงมติให้รวบธุรกิจกันได้ แต่จะมีเงื่อนไขและมาตรการต่างๆออกมาควบคุม และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

“แม้ว่าดีลนี้ไม่ซับซ้อน พฤติการณ์ตรงไปตรงมามีการขออนุญาตจากสำนักงาน กสทช. ซึ่งธุรกิจอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์เป็นธุรกิจที่ใครก็ทำได้ ไม่เหมือนคลื่นความถี่ที่ต้องมีการประมูลคลื่น แต่กสทช.ก็ต้องทำขั้นตอนให้เหมือนกับกรณีทรูดีแทคเพื่อความเท่าเทียมกัน และไม่เกิดการตั้งคำถามภายหลัง”

สำหรับการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 1 ปีที่แล้ว โดยเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2565 คณะกรรมการเอไอเอสได้มีมติอนุมัติให้เอดับบลิวเอ็นซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ บริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ดำเนินการดังต่อไปนี้ 1. เข้าซื้อหุ้นใน 3บีบีจำนวน 7,529,242,385 หุ้น คิดเป็น สัดส่วนร้อยละ 99.87 คิดเป็นมูลค่ารวม 19,500 ล้านบาท

และ 2. เข้าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสอีฟจำนวน 1,520,000,000 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.00 ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของจัสอีฟในราคาหน่วยละ 8.5 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 12,920 ล้านบาท

ทั้งนี้ รวมเรียกทั้งสองธุรกรรมว่า ”ธุรกรรมซื้อหุ้นและซื้อหน่วยลงทุน” มีมูลค่ารวม 32,420 ล้านบาท