ลุ้นเคาะ ‘เอไอเอส-3บีบี’ กสทช.คาดไม่เกินสิ้นปี ชี้ดีลส่อแววผ่านฉลุย

ลุ้นเคาะ ‘เอไอเอส-3บีบี’ กสทช.คาดไม่เกินสิ้นปี ชี้ดีลส่อแววผ่านฉลุย

อนุฯผู้บริโภคคาด ส.ค.นี้ สรุปความเห็นดีล 'เอไอเอส-3บีบี' เข้าบอร์ด กสทช.ได้ สนง.ชี้ชัดกรณีดังกล่าวถือเป็นรวมธุรกิจประเภทเดียวกันไม่ใช่เทคโอเวอร์ ด้านนักวิชาการมองตลาดยังเอื้อให้มีการแข่งขันกันได้ วิเคราะห์กรณีเลวร้ายอาจดันค่าบริการแพงขึ้น 9-22%

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และ บริษัท ทริปเปิลทรี บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3บีบี ด้านผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง กล่าวว่า วานนี้ (25 ก.ค.) คณะอนุกรรมการการรวมธุรกิจดังกล่าวด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง ได้จัดการรับฟังความเห็นสาธารณะในวงจำกัด (โฟกัส กรุ๊ป) เพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน เพื่อนำข้อมูลไปประกอบกับผลการศึกษาของอนุฯ ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง

โดยจะไปรวมกับผลการศึกษาของอนุฯ อีก 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐศาสตร์ กฎหมาย และเทคโนโลยี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค. จากนั้น ก็จะนำผลการศึกษาทุกด้านให้กับสำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำบรรจุเป็นวาระ เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.พิจารณาลงมติต่อไปแต่ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเป็นช่วงเวลาใด

ทั้งนี้ หากผลการศึกษาของอนุฯ ด้านใดยังไม่แล้วเสร็จ หรือยังไม่สามารถจัดโฟกัสกรุ๊ปได้ตามที่ควรจะมี ก็สามารถเสนอขยายระยะเวลาต่อบอร์ด กสทช. จากกำหนดเดิมภายในระยะ 90 วัน ออกไปอีกได้ ซึ่งอยู่ที่ดุลยพินิจของบอร์ด กสทช. ว่าจะให้ขยายออกไปอีกกี่วัน เช่น 30 วัน หรือ 60 วัน อย่างไรก็ตามเชื่อว่ากระบวนการต่างๆ ตลอดจนการลงมติของบอร์ด กสทช.ว่าจะอนุญาตให้รวมธุรกิจหรือไม่ จะเสร็จสิ้นก่อนสิ้นปีอย่างแน่นอน

“ที่ผ่านมาอนุฯ ได้มีการเชิญผู้ประะกอบการทุกบริษัท เข้ามาให้ข้อมูลหมดแล้ว ทั้งในส่วนของผู้ยื่นขออนุญาต คือ เอไอเอส และ 3บีบี รวมถึงผู้ประกอบการอื่นในตลาด คือ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ซึ่งได้ข้อมูลครบถ้วน ขณะที่ผลศึกษาของสำนักงาน กสทช.ที่จัดทำก็เสร็จสิ้นแล้ว อย่างไรก็ตามจะต้องมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาอิสระหรือไม่นั้น เป็นเรื่องบอร์ดจะพิจารณา”

 

สนง.กสทช.ชี้ดีลถือเป็นการรวมธุรกิจ

ตัวแทนของสำนักงานกสทช. กล่าวว่า หากพิจารณาประกาศมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเอไอเอส ที่ระบุ เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2565 เข้าซื้อหุ้นในบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3บีบีจำนวน 7,529,242,385 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.87 มูลค่ารวม 19,500 ล้านบาท และเข้าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิส (JASIF) จำนวน 1,520,000,000 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.00 ของจำนวนหน่วยลทุนทั้งหมดของ JASIF ในราคาหน่วยละ 8.5 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 12,920 ล้านบาทรวมสองธุรกรรมว่า “ธุรกรรมซื้อหุ้นและซื้อหน่วยลงทุน” มีมูลค่ารวม 32,420 ล้านบาท

โดยการรวมธุรกิจนี้เข้าข่ายเป็นการรวมธุรกิจเป็นไปตามข้อ 3 (3) ในระเบียบของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ระบุว่า “การที่ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตเข้าซื้อหุ้นตั้งแต่ร้อยละยี่สิบห้าขึ้นไปของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น เพื่อควบคุมนโยบาย การบริหารกิจการ การอำนวยการ หรือการจัดการ”

นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช.ได้รวบรวมข้อมูลภายหลังจากเกิดการควบรวมธุรกิจโดยใช้การวัดค่าดัชนี HHI (Herfindahl-Hirschman Index : HHI) หรือการคำนวณค่าการกระจุกตัวเพื่อวิเคราะห์สภาวะการแข่งขันในตลาดของธุรกิจ โดยจะเกิดผลกระทบ 2 ลักษณะ คือ 1.ตลาดค้าปลีกบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ประจำที่ (Fixed Broadband Internet) ดัชนี HHI ก่อนรวมธุรกิจอยู่ที่ 2,716 ดัชนี HHI หลังรวมธุรกิจอยู่ที่ 3,624 และดัชนี HHI หลังการรวมธุรกิจ - ก่อนรวมธุรกิจ อยู่ที่ 908 เพิ่มขึ้น 33.43%

2.ตลาดค้าส่งบริการเข้าถึงบรอดแบรนด์ (Wholesale Broadband Access) ดัชนี HHI ก่อนรวมธุรกิจอยู่ที่ 3,893 ดัชนี HHI หลังรวมธุรกิจอยู่ที่ 5,167 และดัชนี HHI หลังการรวมธุรกิจ - ก่อนรวมธุรกิจ อยู่ที่ 1,274 เพิ่มขึ้น 32.72%

โดยทั้ง 2 ตลาดส่งผลกระทบต่อการเข้าสู่ตลาดรายใหม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการลงทุนสูง และอำนาจต่อรองของผู้ขอใช้โครงข่ายโทรคมนาคมอยู่ระดับต่ำ จะเป็นอุปสรรคต่อผู้เล่นรายใหม่ หลังควบรวมเอไอเอสซึ่งตลาดเกิดการกระจุกตัว และการแข่งขันต่ำลง และอำนาจการต่อรองของผู้ใช้โครงข่ายโทรคมนาคมต่ำลง

ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานตลาดค้าปลีกบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ประจำที่ และตลาดค้าส่งบริการเข้าถึงบรอดแบรนด์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากกลุ่มบริษัทเอไอเอส มีโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นต่อการให้บริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาค

รวมธุรกิจหั่นผู้เล่นเหลือ2ราย

นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB - 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตประจำที่มีผู้เล่นอยู่ราวๆ 4 รายใหญ่ ได้แก่ เอไอเอส 14.3% เอ็นที 15.9% ทรู 37.3% 3บีบี 29.4% อื่น 3% ดังนั้น เมื่อเอไอเอส และ3บีบีรวมธุรกิจกัน จะทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 43.7% ขึ้นเป็นอันดับ 1 ขอตลาดในทันที ส่งผลให้ดัชนีการกระจุกตัว HHI จากปัจจุบันอยู่ที่ 2,724 จุด เพิ่มขึ้นเป็น 3,562 จุด สำหรับผลกระทบต่อตลาดแบ่งเป็น 2 ตลาด ได้แก่ ตลาดในพื้นที่เมืองและตลาดในพื้นที่ชนบท

อย่างไรก็ดี ในความเห็นส่วนตัวมองว่า ผลกระทบการกระจุกตัว อาจจะเกิดในวงจำกัด ไม่กระทบในวงกว้าง ตลาดยังพอเอื้อให้เกิดการแข่งขันอยู่ เพราะมีผู้ให้บริการรายย่อยเยอะ แต่หากมองกรณีเลวร้ายการรวมธุรกิจดังกล่าว จะดันให้ค่าบริการแพงขึ้น 9.5%-22.9% ซึ่งความแพงขึ้นอาจมองได้หลายทาง ทั้งได้บริการขายพ่วงลดลง ได้ความเร็วสปีดลดลง

ตลาดคอนเวอร์เจนท์ตัวชี้ชะตา

นายฉัตร กล่าวเสริมว่า การรวมเอไอเอสและ 3บีบี ต้องดูในประเด็น Fixed-Mobile Convergence จะเป็นเรื่องชี้เป็นชี้ตาย เพราะปัจจุบันมีทรู เอไอเอสเมื่อรวมกับ 3บีบี จะพ่วงบริการมือถือ อินเทอร์เน็ตบ้าน และคอนเทนต์ ซึ่งตลาดนี้จะเหลือผู้เล่น 2 ค่ายใหญ่เท่านั้น คือ ทรู และเอไอเอส ตัดเอาเอ็นทีออกไปเลยเพราะเอ็นทีไม่มีบริการที่ครบวงจร

โดยหากเกิดบริการพ่วงแบบลดราคา เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้าสู่ระบบนิเวศของตน ทำให้ลูกค้าเลือกใช้บริการเพิ่มขึ้น ทำให้รายที่ไม่มีบริการพ่วง ซึ่งหมายถึงเอ็นที และรายย่อยแข่งได้ยาก ลูกค้ามีต้นทุนในการย้ายค่ายสูงขึ้น ทำให้ตลาดโทรคมนาคมทั้งหมดอาจเหลือผู้ให้บริการรายหลักเพียง 2 รายทั้งประเทศ ซึ่งทรูเองมีสิทธิขยายบริการอินเทอร์เน็ตบ้านและคอนเทนท์ให้ลูกค้าดีแทคได้ ขณะที่เอไอเอส ขยายพื้นที่อินเทอร์เน็ตเพิ่มบริการมือถือให้ลูกค้า 3บีบีได้ด้วย

ภาคประชาชนประสานเสียงเห็นด้วย

สำหรับบรรยากาศการรับฟัง มีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าร่วมมากกว่า 100 คน โดยมีการลงชื่อขอแสดงความเห็นราว 20 คน ซึ่งระบุไปในทางเดียวกันว่า เห็นด้วยกับการรวมธุรกิจดังกล่าวเพราะจะทำให้มีบริการที่เข้าถึงและได้รับบริการที่ครบถ้วนมากขึ้น อีกทั้ง มองว่าลดการขยายโครงข่ายในพื้นที่เดียวกันไม่ซ้ำซ้อนด้านทรัพยากร และช่วยเพิ่มศูนย์บริการให้มากขึ้นได้