นวัตกรรมลำไยกรอบ

นวัตกรรมลำไยกรอบ

ลำไยอบกรอบ ต่อยอดจากงานวิจัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีลักษณะพิเศษคือ กรอบเหมือนการทอดโดยไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน แต่คงสารอาหารครบถ้วน

ลำไยอบกรอบ ต่อยอดจากงานวิจัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีลักษณะพิเศษคือ กรอบเหมือนการทอดโดยไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน แต่คงสารอาหารครบถ้วน

บ่มเพาะจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับการทดลองผลิตระดับแล็บสเกล ผ่านไป 3 ปี "ลำไยอบกรอบ" ในบรรจุภัณฑ์รูปลักษณ์ทันสมัยขานรับกลุ่มลูกค้าผู้รักสุขภาพทั้งในไทยและต่างประเทศ ด้วยกำลังการผลิต 1 แสนซองต่อเดือน ทั้งยังขยายวัตถุดิบไปสู่ผักผลไม้ประเภทอื่นๆ ทั้งกล้วย สับปะรด ในรูปแบบเครื่องดื่มสมุนไพร

การันตีคุณภาพและความเป็นสินค้านวัตกรรมด้วยรางวัล ฟู้ด ดีไซน์ อะวอร์ด อาเซียน, รางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี DEmark จากกรมส่งเสริมการส่งออก, รางวัลการออกแบบดี (G-Mark) ล่าสุดปีนี้กับรางวัล OTOP ระดับสี่ดาว และใบรับรองมาตรฐานคาร์บอนฟุตพริ้นต์

งานวิจัยที่ก้าวไกลหิ้ง

นราพร มุสิกะนันทน์ วาฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท คริสปี้ เวจ แอนด์ ฟรุ๊ต จำกัด กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ลำไยอบกรอบนี้ได้จากการต่อยอดลิขสิทธิ์งานวิจัยของ ผศ.จาตุพงศ์ วาฤทธิ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่มุ่งแก้ปัญหาผลผลิตการเกษตรในท้องถิ่นล้นตลาดโดยมุ่งเป้าหมายไปที่ "ลำไย" ทั้งยังพัฒนานวัตกรรมอบแห้งด้วยระบบสุญญากาศ ทำให้ได้ผลผลิตที่มีลักษณะพิเศษคือ กรอบเหมือนการทอดโดยไม่มีส่วนผสมของน้ำมันจากการทอด ปราศจากคลอเลสเตอรอลและสารปรุงแต่ง แต่คงรสชาติ กลิ่นและคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้เป็นอย่างดี

"วัตถุดิบ 16 กิโลกรัม หลังจากผ่านเครื่องอบแห้งด้วยระบบสุญญากาศจะได้เนื้อลำไยที่ฟูกรอบเพียง 1 กิโลกรัม"

นักธุรกิจและนักวิจัยร่วมกันนำเสนอแผนธุรกิจนวัตกรรม เพื่อรับความช่วยเหลือจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติผ่านโครงการนวัตกรรมดี ไม่มีดอกเบี้ย ในการต่อยอดผลงานวิจัยออกสู่พาณิชย์และตั้งโรงงานผลิตที่ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ จากนั้นช่วงปลายปี 2553 สินค้าล็อตแรกก็ออกสู่ตลาด

"เราวางตำแหน่งสินค้าให้เป็นขนมขบเคี้ยวทดแทนขนมทอดกรอบหรือขนมประเภทจังก์ฟู้ด ตั้งเป้าหมายเจาะตลาดเพื่อสุขภาพและเน้นทำตลาดต่างประเทศมากกว่าขายในไทย ช่วงแรกส่งขายใกล้ๆ อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกงและจีน ที่แนวโน้มของตลาดอาหารเพื่อสุขภาพมาแรง ขณะที่กลุ่มสินค้าที่เป็นผลไม้อบกรอบเพื่อสุขภาพก็ยังมีน้อย" เธอกล่าวและว่า เมื่อฐานลูกค้าในกลุ่มแรกเพียงพอแล้วจะขยายตลาดไปสู่ตะวันออกกลาง ที่มีกำลังการซื้อสูงและชอบผลไม้รสหวาน

ลำไยอบกรอบ ( Crispy Longan ) เป็นสินค้านวัตกรรมประเภทอาหารเพื่อสุขภาพ หรือ Functional Food ซึ่งกำลังเติบโตอย่างมากในตลาดโลก โดยมูลค่าการตลาดโลกเมื่อปี 2551 สูงถึง 45 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะขยายตัวถึง 200% ในปี 2556 ดังนั้น โอกาสทางการตลาดของลำไยอบกรอบจึงมีความเป็นไปได้สูงมาก

เพิ่มทางเลือกให้คนไทย

เมื่อวางสินค้าไว้ในกลุ่มพรีเมียม นราพรจึงความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์โดยการดีไซน์เน้นความทันสมัย โดดเด่นด้วยโทนสีขาว มีรูปดวงตาดำเพื่อสื่อถึงเมล็ดลำไย แล้วใช้ตัวอักษรเป็นลูกเล่นเน้นสีโทนยูโรเปี้ยนอย่างสีชมพู สีฟ้า บนซองอลูมิเนียมฟอยล์ที่ติดซิปและนำกลับมาใช้ใหม่ จึงเป็นที่มาของรางวัล G-Mark

หลังจากลำไยอบกรอบซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์นำร่องเริ่มอยู่ตัวแล้ว ทางบริษัทได้พัฒนาสินค้าประเภทอื่นๆ ที่ผลิตจากผลไม้ท้องถิ่นหรือสมุนไพรไทย ไม่ว่าจะเป็น เครื่องดื่มลำไยชนิดผง สับปะรดอบกรอบ กล้วยน้ำหว้าอบกรอบ ชาตะไคร้และชาตะไคร้ใบเตย

รวมถึงจะขยายตลาดให้ได้มากกว่านี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยต้องการจะให้มีสัดส่วน 50-50 จากปัจจุบันที่เน้นการส่งออกกว่า 70% เพราะตลาดเมืองไทยหาผลไม้สดกินง่าย แต่ที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนตลาดในเมืองไทย เพราะอยากให้คนไทยมีอาหารเพื่อสุขภาพเป็นทางเลือกเพิ่มขึ้น อีกทั้งลดผลกระทบในกรณีที่ตลาดโลกผันผวน

ในการทำตลาดเชิงนวัตกรรม เธอบอกว่า การสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดผ่านบูธกิจกรรมต่างๆ แต่เนื่องจากเป็นธุรกิจไซส์มินิที่เพิ่งก้าวออกจากห้องแล็บ จึงต้องก้าวเดินอย่างระมัดระวังทั้งด้านการลงทุนและการตลาด

"ท่ามกลางการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงในตลาด คริสปี้ฯ ยึดจุดยืนที่ชัดเจนในความเป็น อาหารเพื่อสุขภาพ จึงมั่นใจได้ว่า "ไม่มี" ส่วนผสมของสารเคมี สารกันบูด สารถนอมอาหารหรืออื่นๆ ที่จะช่วยประหยัดต้นทุนเพื่อให้ราคาขายถูกลง" นราพร กล่าว

ลักษ์โตเย่น วุฒิศักดิ์ รายงาน