‘ต้นแบบ’กองทุนสวัสดิการชุมชน พัฒนาเด็กเยาวชนและผู้สูงวัยสู่ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

‘ต้นแบบ’กองทุนสวัสดิการชุมชน พัฒนาเด็กเยาวชนและผู้สูงวัยสู่ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

 

หนึ่งในกลไกสำคัญที่ดูแลคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนก็คือ การจัด “ระบบสวัสดิการชุมชน”ที่ปัจจุบันมีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศกว่า 5,900 กองทุนซึ่งได้มีการพัฒนารูปแบบสวัสดิการกองทุนที่หลากหลายสอดรับกับสถานการณ์ของสังคมให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละท้องถิ่น  จนก่อให้เกิดเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่นำไปสู่การจัดงานมอบรางวัล“ธรรมาภิบาลดีเด่น แห่งปี 2561”ปีที่ 3 ภายใต้แนวคิด “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”ของ ศาสตราจารย์ ดร. ป๋วยอึ๊งภากรณ์ซึ่งจัดโดยสถาบันป๋วยอึ๊งภากรณ์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับชาติ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะอนุกรรมการส่งเสริมองค์กรสวัสดิการชุมชน ในคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิมั่นพัฒนา และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วยอึ๊งภากรณ์

“บ้านสร้างสุข” รากฐานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลห้วยงู หนึ่งในกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นที่ได้รับรางวัลประเภท “การสร้างครอบครัวอบอุ่น การดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิต และคุณค่าในสังคม”กองทุนที่มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุนฯ ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนแบบครบวงจร รวมถึงการดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการ ที่นำไปสู่การสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน

นางสาวอรวรรณเศรษฐพงษ์  ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลห้วยงู อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลห้วยงูมาจากสถานการณ์ของจำนวนประชากรผู้สูงอายุในชุมชนที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันมีสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุ ประมาณ 16% ของประชากรในพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สอดคล้องกันกับประเทศไทยในการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จึงเป็นสาเหตุให้สมาชิกกองทุนฯ ตระหนักถึงความสำคัญ และเตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนการดูแลผู้สูงอายุ แบบบูรณาการ โดยเริ่มจากการก่อตั้งชมรมผู้สูงอายุในปี พ.ศ. 2546 และต่อยอดมาเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนในปี พ.ศ. 2554 โดยมีวัตถุประสงค์คือการเน้นการจัดสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุ ที่นอกเหนือจากการดูแลในเรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้สามารถยกระดับไปสู่การช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน อาทิ ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง  ยากไร้  และด้อยโอกาส พัฒนาสู่การสร้างคุณค่าและสร้างศักยภาพให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นกำลังหลักในการสร้างครอบครัวที่อบอุ่นให้เกิดขึ้นได้ ภายใต้แนวคิด “ครอบครัวอบอุ่น คุณภาพชีวิตดี ผู้สูงอายุมีคุณค่า นำพาสังคมน่าอยู่”

โดยสมาชิกกองทุน มีความเห็นร่วมกันว่า “ต้องพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้มากกว่าการบริหารจัดการที่เน้นสวัสดิการโดยใช้เงินเป็นที่ตั้ง” เนื่องจากในอดีตสวัสดิการเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ได้รับจากหน่วยงานรัฐไม่เพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพ ด้วยเหตุนี้ กองทุนฯ จึงให้ความสำคัญต่อการวางแผนการดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการและสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ด้วยการมีแนวทางการดำเนินงานที่เน้นให้สมาชิกและคนในชุมชนทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน และสามารถมีส่วนร่วมได้ในทุกขั้นตอนของการบริหารจัดการสวัสดิการ เพื่อนำมาสู่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของการจัดสวัสดิการชุมชนที่สอดคล้องและสามารถตอบสนองกับสภาพความเป็นอยู่ของคนในชุมชนที่สามารถรองรับสังคมสูงวัยได้ในทุกมิติ ในรูปแบบที่ชื่อว่า “บริษัทสร้างสุขตำบลห้วยงู”ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดจากการทำงานแบบบูรณาการเชื่อมโยง 9 เครือข่ายเพื่อสร้างเสาหลักการทำงานร่วมกัน  ได้แก่ 1) กองทุนสวัสดิการชุมชน 2) กองทุนสุขภาพ 3) วัด 4) เทศบาลตำบล 5) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) 6) ชมรมผู้สูงอายุ 7) กำนันผู้ใหญ่บ้าน 8) โรงเรียน และ9) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น สภาองค์กรชุมชนตำบล สถานีตำรวจ ฯลฯ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนบูรณาการเครือข่ายในการขับเคลื่อนดูแลผู้สูงวัยไปสู่การสร้างสวัสดิการทางสังคม

“จุดเด่นที่สำคัญของ ‘บริษัทสร้างสุขตำบลห้วยงู’ คือการทำงานแบบบูรณาการที่สามารถเชื่อมโยงทุกภาคส่วนทั้งภาคีเครือข่ายในระดับตำบลและนอกชุมชนต่างๆ ที่สำคัญ โดยใช้กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลห้วยงูเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการร่วมกันจนเกิดเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรม และสามารถเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงเป็นตำบลต้นแบบด้านการสร้างความมั่นคงด้านสวัสดิการผู้สูงอายุ สู่ตำบลต้นแบบด้านการจัดสวัสดิการระดับประเทศ”

นางสาวอรวรรณกล่าวเพิ่มเติมว่า กว่าจะมาเป็น “บริษัทสร้างสุขตำบลห้วยงู”ทางกองทุนฯ ได้มีเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการขับเคลื่อนระบบสวัสดิการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน รวมถึงการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในระยะยาว ได้แก่ การจัดเวที “ครอบครัวข้ามรุ่นเพื่อสร้างความอบอุ่นในครอบครัว”โดยแกนนำอาสาสมัครดูแลผู้สูงวัยวัยใส (อผส.วัยใส) เป็นผู้อบรมการดูแลผู้สูงอายุ ให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในบ้าน เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้สูงอายุในครอบครัวกิจกรรมฟื้นฟูผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงด้านสุขภาพด้วยการสนับสนุนและจัดหาอุปกรณ์ฟื้นฟูสุขภาพ รวมถึงการสนับสนุนสวัสดิการชุมชนและผู้สูงอายุ เช่น การเยี่ยมบ้าน การตรวจสุขภาพ เป็นต้น

“ทางกองทุนฯ ต้องการจะดูแลผู้สูงอายุที่ไม่ใช่แค่ในเรื่องสิทธิหรือสวัสดิการทั่วไป แต่ต้องการดูแลให้ผู้สูงอายุรู้จักคุณค่าในตัวเอง เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การสร้างครอบครัวที่อบอุ่นและก่อให้เกิดความสุขในชุมชนที่เข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน”

ปลูกจิตสำนึกเด็กและเยาวชน “สร้างคนต้นแบบ”

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านเหล่าคือหนึ่งในกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นที่ได้รับรางวัลด้านการพัฒนาเด็กเยาวชนและการศึกษา  เพื่อการเติบโตเป็นคนดีและมีคุณภาพ” กองทุนที่มีความโดดเด่นในเรื่องการปลูกจิตสำนึกเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างคนต้นแบบให้สามารถกลับมาพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง

นายศุภชีพ  สิริวงศ์ใจคณะกรรมการและผู้ประสานงาน กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยากล่าวว่าจากสภาพปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่หลากหลายครอบครัวในชุมชนต่างเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เศรษฐกิจที่ไม่ดีทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำ คนวัยทำงานต้องทิ้งลูกหลานให้อยู่กับผู้สูงอายุ และออกไปทำงานนอกพื้นที่ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ครอบครัวแตกแยก เกิดการหย่าร้าง มีการกระทำรุนแรงในครอบครัวทำให้เด็กและเยาวชนไม่ได้รับความสนใจและความอบอุ่นจากครอบครัวจนนำไปสู่ปัญหาทางสังคมต่างๆ นี่จึงเป็นก้าวแรกของการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนของตำบลบ้านเหล่าที่มองเห็นปัญหาและหันมาให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวเป็นอันดับแรกที่เน้นสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน โดยมองว่า“การพัฒนาคนเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าการเจริญเติบโตของเมือง”

“กองทุนฯ ให้ความสำคัญกับการสร้างครอบครัวที่อบอุ่นของชุมชนเป็นอย่างมาก ที่เน้นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนภายในชุมชน ให้สามารถมีจิตสำนึก และตระหนักรู้ในคุณค่าของตนเองเพื่อนำไปสู่การเป็นเยาวชนที่เติบโตเป็นคนมีคุณภาพและกลับมาพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนได้”

แนวทางการดำเนินงานของกองทุนฯ คือการมุ่งปลูกจิตสำนึกให้แก่เด็กและเยาวชนด้วยการปูพื้นฐานวิธีคิดตั้งแต่วัยเด็ก  เริ่มจากการสนับสนุนกลุ่มเด็กและเยาวชนให้เป็นสื่อกลางในการส่งเสริมด้านสุขภาพ สุขภาวะและสิ่งแวดล้อมในชุมชนการจัดสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนในด้านต่างๆ  ตลอดจนการสร้างกลไกคุ้มครองเด็กและเยาวชนของตำบลบ้านเหล่าดังฐานคิดของตำบลบ้านเหล่าที่ว่า “เหล่าหล่อหลอม พร้อมสร้างสุขภาวะ”ซึ่งที่ผ่านมากองทุนฯได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในด้านการปลูกจิตสำนึก เพื่อสร้างเด็กและเยาวชนให้เป็น “คนต้นแบบ” หรือ “ผู้นำทางความคิด”

นายศุภชีพกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกลไกการเสริมสร้างการคุ้มครองเด็กในตำบลบ้านเหล่า นั้น ดำเนินการผ่านกิจกรรมของเด็กและเยาวชน 4กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) สภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านเหล่าที่มีบทบาทสำคัญของการเป็นตัวขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน เช่น ขยะฮอมบุญ เพื่อทุนการศึกษา หรือ อาสาสมัครพัฒนาสิ่งแวดล้อม 2)กลุ่มจิตอาสาต้นกล้าความดีเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้กับเด็กและเยาวชนในการอยู่ร่วมกันของชุมชน  โดยมีการทำกิจกรรมหลักๆ เช่น ให้เด็ก 1คนเชิญชวนให้คนใกล้ตัวเลิกดื่มแอลกอฮอล์ 5คน หรือการประชาสัมพันธ์เสียงตามสายในหมู่บ้านให้ลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3) กลุ่มเด็กDJ teenคือ การพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นเสียงสะท้อนถึงผู้ใหญ่ หรือการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน 4) การเสริมสร้างการคุ้มครองเด็กและเยาวชนในตำบลโดยการจัดเฝ้าระวังภัยทางสังคมและวัฒนธรรม การป้องกันเด็กไม่ให้ตกอยู่ในสภาวะเสี่ยง การสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชน สุดท้ายการเสริมสร้างกลไกการส่งเสริมคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของเด็กในตำบล

“ปัจจัยความสำเร็จของการดำเนินงาน คือ การให้ความสำคัญกับการทำงานเชิงป้องกันมากกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งผลที่ได้รับจากการดำเนินกิจกรรมเชิงป้องกัน ทั้งในรูปแบบการทำกิจกรรมและการสื่อสารในพื้นที่ ส่งผลต่อเด็กเยาชนในชุมชนเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น ลดปัญหาเด็กติดเกม ติดยาเสพติด  ทำให้ผลการเรียนของเด็กในชุมชนดีขึ้น ครอบครัวกลับมาอบอุ่นและมีความเข้มแข็งขึ้นอีกด้วย”