จากเบื้องหลัง ... สู่เบื้องลึกโลกแห่งโทรคมนาคม

จากเบื้องหลัง ... สู่เบื้องลึกโลกแห่งโทรคมนาคม

 

จากคนทำงานด้านเทคนิค ที่เก็บตัวอยู่กับอุปกรณ์ ฮาร์ดแวร์ / ซอฟท์แวร์ อยู่เบื้องหลังการวางระบบเชื่อมโยงสื่อสารโทรคมนาคมให้กับบุคคล/ธุรกิจมากมาย ให้สามารถพูดคุย แชทส่งข้อมูล ผ่านเครือข่ายด้วยทราฟฟิคจำนวนมหาศาลในแต่ละวันอภิชาติ สวรรค์คำธรปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์สื่อสารข้อมูล บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT)ได้ผ่านประสบการณ์ในการพัฒนาธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมมาหลายยุคสมัย  อีกทั้งการทำงานเบื้องหลังที่ต้องพร้อมแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้กับลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมงประสบการณ์ต่างๆ เหล่านี้ทำให้เขาได้เห็นความก้าวล้ำของเทคโนโลยีการสื่อสารที่เข้ามามีบทบาทในเกือบทุกนาทีของชีวิตในปัจจุบัน  และที่สำคัญเขามองเห็นความล้ำยุคของการสื่อสารที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและจะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนทั่วโลกที่เราแทบไม่ทันได้สังเกต หรือรู้ตัว

การเริ่มงานด้าน operation ของคุณอภิชาติฯ ด้วยความทุ่มเทด้วยใจรักในงานบริการ โดยนอกจากการให้บริการในช่วงเวลาปกติแล้ว การเฝ้าระวังมอนิเตอร์ระบบเครือข่ายสำหรับการใช้งานของลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่ในขณะนั้นจะเป็นลูกค้ากลุ่มองค์กร/ธุรกิจ เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องถือเป็นภารกิจที่สำคัญในหน้าที่ความรับผิดชอบ

จากเบื้องหลัง ... สู่เบื้องลึกโลกแห่งโทรคมนาคม

“ กว่า 20 ปีก่อน เครือข่ายเชื่อมโยงสำหรับระบบโทรคมนาคมยังเป็นการลงทุนในระยะเริ่มต้น เส้นทางระบบเคเบิลใต้น้ำยังมีไม่มากนัก ทำให้การออกแบบเชื่อมโยงในเส้นทางหลัก/สำรองจะมีต้องมีการบริหารจัดการ และดูแลอย่างใกล้ชิดให้พร้อมสำหรับการเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งเราก็สามารถแก้ปัญหาต่างๆผ่านไปได้ด้วยดีมาโดยตลอด   ในยุคแรก ผู้ให้บริการของประเทศต่างๆ ที่ต้องการเชื่อมโยงผ่านหรือเข้ามาในประเทศไทยเพื่อให้บริการกับลูกค้า จะมุ่งมาที่การเชื่อมโยงกับ CAT ซึ่งเป็นผู้ให้บริการหลักสำหรับเครือข่ายระหว่างประเทศ  ซึ่งทำให้ผมได้ประสบการณ์ทั้งการให้บริการในประเทศและระหว่างประเทศ  อีกทั้งผมยังมีความใกล้ชิดกับผู้ประกอบการโทรคมนาคมในนานาประเทศ ทำให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยโดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศพัฒนา  ซึ่งส่งผลให้ได้เรียนรู้ในเรื่องของการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและได้นำมาใช้ในงานพัฒนาธุรกิจในปัจจุบัน”

“ผมอยู่ในธุรกิจนี้มาตั้งแต่ยุคที่มีการสื่อสารโทรคมนาคมด้วยระบบเทเล็กซ์ ซึ่งมองกลับไปในยุคนั้น เทเล็กซ์ก็ยังสามารถตอบสนองความต้องการในการลดระยะเวลาของการติดต่อสื่อสารระยะไกลได้ แม้ในวันนี้เราจะมองว่ามันช้ามากก็ตาม เพราะนั่นคือ  ธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม   ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงและเติบโตแบบก้าวกระโดดเสมอโดยผู้บริโภคจะมีความต้องการในผลิตภัณฑ์/บริการสื่อสารโทรคมนาคมใหม่ๆ แบบ Double Qualityในระยะเวลาที่เร็วขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์จะเข้าสู่จุดอิ่มตัว (Maturity Stage) ของตลาดเร็วขึ้นส่งผลให้ผลิตภัณฑ์/บริการด้านสื่อสารโทรคมนาคมประเภทต่างๆ จะมีวงจรผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) สั้นลงเรื่อยๆนั่นเอง เช่นคุณอาจจะไม่เคยสังเกตว่าเราจะเปลี่ยนมือถือเครื่องใหม่เกือบทุกๆ 2 ปี สำหรับการใช้งานปกติ โดยที่เรารู้สึกเหมือนว่าใช้มานานกว่านั้นและสำหรับความต้องการในเครื่องใหม่เราจะต้องการสมรรถนะที่มากกว่าเดิมเป็น Double เช่นหน่วยความจำ หรือพื้นที่ฮาร์ดดิสก์ เพิ่มขึ้นอีกกว่าเท่าตัวหรืออาจจะต้องการมากกว่านั้น ในธุรกิจสื่อสารข้อมูลก็เช่นกัน ลูกค้ามีความต้องการแบบ Double Quality ทั้งความต้องการด้านปริมาณแบนด์วิดท์(Double Bandwidth), คุณภาพของระบบ/อุปกรณ์เชื่อมต่อ และมีเดียส่งสัญญาณซึ่งเราอาจจะเคยเห็นผู้ให้บริการบางรายใช้ตัวเลข Double Bandwidth ซึ่งเป็นความต้องการเชิงปริมาณของลูกค้ามาเป็นประเด็นจูงใจในการทำตลาดโดยไม่สอดคล้องกับคุณภาพการให้บริการที่แท้จริงซึ่งดูเหมือนจะได้ผลตอบรับในช่วงแรกๆ เท่านั้น  เพราะการทำการตลาดแบบยั่งยืนจะต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการ Double Quality ได้อย่างแท้จริง 

สำหรับธุรกิจสื่อสารข้อมูลของCAT เราเน้นในเรื่องของคุณภาพการให้บริการด้วยความซื่อสัตย์เป็นสำคัญ  โดยเราจะให้คำปรึกษาเกี่ยวรูปแบบบริการตามปริมาณความต้องการใช้งานจริงในธุรกิจของลูกค้า ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่ตัวเลข Double Bandwidthในเชิงปริมาณ แต่สามารถตอบสนองความต้องการ Double Quality ของลูกค้าได้ในเชิงคุณภาพ  เช่นการวางระบบสำรองเครือข่าย / ข้อมูล หรือ การแชร์ใช้ระบบเครือข่ายภายใน  ซึ่งสามารถทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในการใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องและเต็มประสิทธิภาพคุ้มค่าการลงทุน  และสามารถเพิ่มผลกำไรให้กับองค์กรได้อย่างแท้จริง

ถ้าถามว่าเทรนด์เทคโนโลยีของธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมปีหน้าหรืออนาคตจะเป็นอย่างไรผมมองว่าในอนาคตผลิตภัณฑ์/บริการด้านไอทีจะเดินไปในทิศทางของSmart Modeเป็นหลักคือการที่ระบบ/อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ต่างๆรอบตัวเราจะสามารถรับ-ส่งข้อมูล, ประมวลผล/วิเคราะห์ผล และตอบสนองต่อเราและ/หรือ บุคคล/อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องได้แบบ Real-timeแม้ว่าจะมีการพูดถึงเทรนด์ของIoT,Digital Transformation,Digital Based Serviceหรืออื่นๆก็ล้วนแล้วแต่มุ่งไปยัง Smart Concept ทั้งสิ้น โดยความก้าวหน้าทางดิจิทัลเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากกับทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งสังคมได้เกิดการเรียนรู้และปรับตัวมากขึ้นในช่วง 2-3  ปีที่ผ่านมาโดยบุคลากรในสาขาวิชาชีพต่างๆ มีความตื่นตัวที่จะเรียนรู้ในการปรับใช้ดิจิทัลในสาขาวิชาชีพของตนเอง และนั่นจะเป็นการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในระดับบุคคล ไปจนถึงระดับองค์กรและระดับประเทศต่อไป”