โตเกียว มอเตอร์โชว์ 2017 – “ก้าวต่อไปของยานยนต์ในอนาคต”

โตเกียว มอเตอร์โชว์ 2017 – “ก้าวต่อไปของยานยนต์ในอนาคต”

 

ในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกกำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญทางด้านเทคโนโลยี งานแสดงรถยนต์โตเกียว มอเตอร์โชว์ 2017 เลือกใช้แนวคิดหลักในการจัดงาน "Beyond the Motor" เพื่อนำเสนอนวัตกรรมที่ล้ำสมัยของรถยนต์ในอนาคตที่จะเป็นมากกกว่ายานพาหนะในการนำเราไปสู่จุดหมาย

สมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น (จาม่า) เริ่มต้นการจัดงานนี้ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2497 ด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่นทำให้รูปแบบการจัดงานเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นฐานการผลิตสำคัญของบริษัทรถยนต์ชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ก้าวเดินตามแนวทางที่โตเกียว มอเตอร์โชว์ นำเสนอมาตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เตรียมเริ่มต้นการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หลังจากประสบความสำเร็จกับการผลิตรถยนต์นั่ง 4 ประตู, รถกระบะ และรถยนต์ประหยัดพลังงาน (อีโคคาร์)  อีกด้วย

15 แบรนด์จาก 14 ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น และบริษัทรถยนต์ฝั่งยุโรปที่เข้าร่วมงานโตเกียว มอเตอร์โชว์ 2017 มีการนำคอนเซ็ปต์คาร์ และรถยนต์ที่เตรียมจะผลิตขายจริงมาเปิดตัวครั้งแรกของโลกมากถึง 28 รุ่น มอเตอร์ไซค์ต้นแบบ 22 รุ่น รวมทั้งรถยนต์รุ่นใหม่ที่เผยโฉมครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นอีก 22 คัน มีการนำเสนอเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ล้ำสมัย รวมไปถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ปัจจุบัน บริษัทรถยนต์ชั้นนำสามารถผลิตรถที่ขายจริง ทำให้เป้าหมายใหม่ของอุตสาหกรรมรถยนต์จะก้าวสู่การนำเสนอเทคโนโลยีเพื่อรองรับรูปแบบชีวิตของผู้คนในสังคมยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป

อาทิ โตโยต้า ตระหนักถึงสังคมผู้สูงอายุ ด้วยการนำเสนอ Concept-i Ride รถต้นแบบ 2 ที่นั่ง ที่มีการดีไซน์รองรับผู้ที่ต้องใช้งานวีลแชร์ และยานยนต์สามล้อ Concept-i Walk เพื่อใช้เดินทางเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ นิสสัน นำเสนอ รถต้นแบบไอเอ็มเอ็กซ์ (IMx) ที่มีความล้ำสมัยของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence-AI) ในการควบคุมการขับแทนมนุษย์

ในขณะที่มาสด้า ยังคงให้ความสำคัญกับรักษาสภาพแวดล้อมของโลกด้วยการพัฒนา สกายแอคทีฟ-เอ็กซ์ เครื่องยนต์เบนซินรุ่นแรกของโลกที่ไม่มีหัวเทียน รวมทั้งแสดงแนวคิดล้ำสมัยผ่าน วิชั่น คูเป้ (Vision Coupe) รถต้นแบบที่จะเป็นตัวแทนวิสัยทัศน์การออกแบบของแบรนด์ในอนาคต

ในงานนี้ยังถูกใช้เป็นเวทีประกาศการกลับมาของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ด้วยการเปิดตัวคอนเซ็ปต์คาร์ อี-อีโวลูชั่น (e-Evolution) เป็นการพลิกโฉมจากซีดานสมรรถนะสูงมาสู่รถยนต์อเนกประสงค์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่น่าจับตามอง

สำหรับค่ายรถยนต์เยอรมนี นำโดยเมอร์เซเดส-เบนซ์ เรียกเสียงตบมือจากชาวญี่ปุ่นด้วยการนำเสนอ สมาร์ต ฟอร์ทู (Smart Fortwo) ที่มีการติดตั้งจอบริเวณกระจังหน้าเพื่อบอกสถานะที่สามารถแสดงข้อความเป็นภาษาญี่ปุ่น

เช่นเดียวกับ ออดี้ มีการนำรถต้นแบบเอเลียน (Elaine) มาเป็นไฮไลต์ประจำบูธ เพื่อโชว์เทคโนโลยีระบบการขับอัตโนมัติที่ล้ำสมัย

และเพื่อให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมรถยนต์มีการจัดแสดงรถยนต์เพื่อการพาณิชย์จากผู้ผลิตชั้นนำของญี่ปุ่น และต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น ฮีโน่อีซูซุมิตซูบิชิ ฟูโซ่ สแกนเนียวอลโว่ ทรัคส์ และยูดี ทรัคส์ ที่มีการนำเสนอเทคโนโลยีต้นแบบที่ล้ำสมัยไม่แตกต่างจากรถยนต์ขนาดเล็ก

นอกจากนี้ภายในงานโตเกียว มอเตอร์โชว์ 2017 มีการจัดนิทรรศการโตเกียว คอนเน็กเต็ดแล็บ 2017 (Tokyo Connected Lab 2017) นำเสนอรูปแบบการเดินทางในอนาคตผ่านระบบอินเตอร์แอคทีฟเสมือนจริง โดยแบ่งออกเป็น 3 โซนหลัก:

  • The Future: สัมผัสประสบการณ์การเดินทางของผู้คนในมหานครใหญ่ของโลก ด้วยการจำลองภาพโตเกียวในอนาคตผ่านจอโปรเจ็กชั่น 360 องศา บนหลังคาโดมที่สามารถรองรับผู้เข้าชมงานได้มากถึง 300 คน
  • The Maze: ศึกษารูปแบบการเดินทางในอนาคตผ่านแว่นตาสามมิติ (Virtual Reality-VR) เพื่อเข้าใจวิธีการที่รถยนต์, ผู้ขับขี่ และระบบโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียว
  • The Meet Up: พื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยการเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งในวงการรถยนต์ และดีไซเนอร์ชื่อดังมาพูดคุยเกี่ยวกับรูปแบบยานพาหนะในอนาคต

ทั้งหมดนี้ทำให้โตเกียว มอเตอร์โชว์ 2017 เปรียบเสมือนเวทีให้ผู้ผลิตรถยนต์แสดงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติที่จะพลิกโฉมรูปแบบการเดินทางของผู้คนทั่วโลกในอนาคตอันใกล้ และแสดงให้เห็นถึง “ก้าวต่อไปของยานยนต์ในอนาคต” ที่เป็นแนวความคิดหลักของการจัดงานครั้งนี้

 

ชินเมย์วะ ผู้เชี่ยวชาญการผลิตรถบรรทุกเพื่อกิจการพิเศษ

จากหนึ่งบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายแรกของประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อชินเมย์วะ ในปี 1949 เติบโตจนปัจจุบันกลายเป็นบริษัทอุตสาหกรรมระดับโลก ด้วยการเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรขนาดใหญ่ลิฟต์จอดรถยนต์ชิ้นส่วนเครื่องบิน และรถบรรทุกเพื่อกิจการพิเศษ

ในช่วงงานโตเกียว มอเตอร์โชว์ 2017 ชินเมย์วะ ได้เปิดให้เข้าชมโรงงาน

ผู้ผลิตรถบรรทุกเพื่อกิจการพิเศษ ในเมืองซาโนะ จังหวัดโตชิกิ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 233,000 ตารางเมตร เพื่อใช้ในการผลิตตั้งแต่การประกอบรถบรรทุกขนส่งที่ใช้งานทั่วไป รถบรรทุกแก๊ส-สารเคมี และรถบรรทุกเพื่อการใช้งานในอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน

นอกจากนี้ ชื่อเสียงด้านการปฏิบัติงานของชินเมย์วะในประเทศไทยได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี โดยได้มีการผลิตกระบอกไฮโดรลิกส์ประมาณ 30,000 ชิ้นต่อปี โดยในจำนวนนี้ 1,700 ชิ้น ผลิตสำหรับประเทศไทย เนื่องจากตลาดประเทศไทยมีการจำหน่ายกระบอกไฮโดรลิกส์ 10,000 ชิ้น ชินเมย์วะจึงครองส่วนแบ่งตลาด 17 เปอร์เซ็นต์