เครือข่ายอนาคตไทยรุกหน้ารวมพลังองค์กรสมาชิก

เครือข่ายอนาคตไทยรุกหน้ารวมพลังองค์กรสมาชิก

 

เครือข่ายอนาคตไทยรุกหน้ารวมพลังองค์กรสมาชิก ร่วมขับเคลื่อน  “อย่าให้ใครว่าไทยฟุ้งเฟ้อ”

สร้างวินัยทางการเงิน ป้องกัน แก้ไข ปัญหาหนี้สินของพนักงานในองค์กรอย่างจริงจังล่าสุด เผยผลการวิจัยเรื่อง “แนวทางการบริหารจัดการเงินและการแก้ไขปัญหาหนี้สินของพนักงานในองค์กร” ที่จะนำมาขยายผลสู่การปฏิบัติจริงในหน่วยงานสมาชิกเครือข่ายอนาคตไทย หวังสร้างองค์กรต้นแบบในการสร้างวินัยทางการเงินและแก้ไขปัญหาหนี้สินของพนักงานในสังคมไทย

เครือข่ายอนาคตไทยเป็นการรวมตัวกันของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการรณรงค์ระดับประเทศ Thailand Campaign ภายใต้ชื่อ "อย่าให้ใครว่าไทย"  ซึ่งเป็นโครงการที่มีจุดมุ่งหมายที่จะกระตุ้นให้คนไทยปรับเปลี่ยนทัศนคติลดเลิกพฤติกรรมเชิงลบ (ฟุ้งเฟ้อ ขี้โกง มักง่าย ไร้สติ) โดย 6 องค์กรหลักผู้ริเริ่ม ได้แก่ มูลนิธิมั่นพัฒนา สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและสภาหอการค้าไทย ปัจจุบันมีภาคีเครือข่ายทั้งสิ้นจำนวน 112 องค์กร

นายธาตรี  ลิขนะพิชิตกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันมั่นพัฒนา มูลนิธิมั่นพัฒนา เล่าว่าการดำเนินงานที่ผ่านมาของเครือข่ายอนาคตไทยนอกเหนือจากการสร้างเครื่องมือตัวช่วยให้คนไทยได้ลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างวินัยทางการเงินและปรับวิถีชีวิตไปสู่ความพอเพียง มีสไตล์ มีสตางค์ ผ่านสื่อรณรงค์ “อย่าให้ใครว่าไทย” ปี 2560 อย่าง โปสเตอร์ “อย่าให้ใครว่าไทย” ปฏิทิน และแอปพลิเคชัน คิดดี...มีตังค์ แล้ว ในส่วนขององค์กรสมาชิกเครือข่ายอนาคตไทยเองได้มีการทำงานเชิงลึกโดยมูลนิธิมั่นพัฒนา ผู้รับผิดชอบบริหารจัดการเครือข่ายฯ ร่วมมือกับ คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีจัดทำโครงการวิจัยเพื่อศึกษาแนวทางการบริหารจัดการภาคีเครือข่ายอนาคตไทยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยประเด็นสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งของกรณีศึกษาในการวิจัยครั้งนี้คือ แนวทางการบริหารจัดการเงินและการแก้ไขปัญหาหนี้สินของพนักงานในองค์กรโดยจะนำผลการวิจัยดังกล่าวมาขยายผลสู่การปฏิบัติจริงในองค์กรสมาชิกเครือข่ายฯ ในปีนี้ซึ่งได้มีการนำเสนอผลการวิจัยและหารือแนวทางการขยายผลกับองค์กรสมาชิกเครือข่ายฯ ไปแล้วเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา

วิธีการศึกษาวิจัยในครั้งนี้คณะนักวิจัยใช้การศึกษาทบทวนรูปแบบการทำงานเรื่องการบริหารจัดการเงินและการแก้ไขปัญหาหนี้สินของพนักงานในองค์กรทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ และได้มีการคัดเลือกหน่วยงานที่มีรูปแบบการดำเนินงานเรื่องการจัดการปัญหาหนี้สินของพนักงานภายในองค์กรจำนวนทั้งสิ้น  5 องค์กร ซึ่งมีทั้งหน่วยงานที่เป็นสมาชิกเครือข่ายฯ และหน่วยงานภาคเอกชนภายนอกเครือข่ายฯ เพื่อเป็นกรณีศึกษาโดยการสัมภาษณ์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อถอดรูปแบบการดำเนินงานในแต่ละหน่วยงานออกมา ทำการวิเคราะห์และสังเคราะห์ พัฒนารูปแบบการดำเนินงานเรื่องการบริหารจัดการเงินและการแก้ไขปัญหาหนี้สินของพนักงานในองค์กรที่จะได้นำมาขยายผลในองค์กรสมาชิกเครือข่ายฯ

ผลการศึกษา 5 หน่วยงาน ที่เป็นกรณีศึกษา พบว่า แต่ละหน่วยงานมีจุดเริ่มต้นและรูปแบบการดำเนินงานที่แตกต่างกันไป หน่วยงานแรก บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เป็นหน่วยงานที่มีการแก้ไขปัญหาหนี้สินพนักงานในลักษณะของนโยบายจากบนลงล่าง (Top-down) โดยผู้บริหารระดับสูงและบุคลากรฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) เป็นหน่วยงานที่ริเริ่มโครงการปลดหนี้ชีวีมีสุข  คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูงมีบทบาทในการอนุมัติโครงการและสนับสนุนติดตามผลสำเร็จของโครงการ ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดมีฝ่าย HR เป็นเจ้าภาพหลัก ตั้งแต่ การกำหนดวัตถุประสงค์โครงการ การสำรวจปริมาณและความรุนแรงของหนี้ การสำรวจประเภทหนี้สินของพนักงาน การออกแบบวิธีการและดำเนินการแก้ปัญหาหนี้สินของพนักงาน รวมถึงการกำหนดมาตรการสนับสนุน และการติดตามผล เช่นเดียวกับ กลุ่มบริษัทศรีกรุงที่มีจุดเริ่มต้นจากผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่มีความตระหนักถึงปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้นกับพนักงานและได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาของพนักงานโดยใช้แนวคิดการดำเนินงานในรูปแบบที่คล้ายกับการเปิดโรงพยาบาลรักษา “โรคหนี้” แก่พนักงานที่รู้ตัวว่ามีปัญหาและมีความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาของตนเอง โดยมีคลินิกให้คำปรึกษา และมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามระดับความรุนแรงของปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้นกับพนักงานแต่ละคน แต่สำหรับหน่วยงานที่สามบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) พื้นที่ โรงงานอาหารสัตว์บก บางนา กม.21 มีกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้สินพนักงานในแบบที่แตกต่างจากสองหน่วยงานแรก คือ เป็นนโยบายจากล่างขึ้นบน (Bottom-up) คือ มีการริเริ่มและดำเนินการโดยชมรมออมทรัพย์ของพนักงานในองค์กร ในขณะที่ผู้บริหารระดับสูงมีบทบาทในการให้คำแนะนำต่อโครงการ สนับสนุนงบประมาณและติดตามให้คำแนะนำเมื่อมีปัญหาในการดำเนินงาน ส่วนผู้บริหารระดับกลาง/หัวหน้างานซึ่งเป็นที่ไว้วางใจของพนักงานจะเข้ามาช่วยในขั้นตอนการสำรวจปัญหาหนี้สินและปฏิบัติการเป็นพี่เลี้ยง (Trainer) ผู้ให้ความรู้และคำแนะนำในการปรับตัวกับพนักงานเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการดำเนินการในฐานะของผู้เผยแพร่องค์ความรู้ในการจัดการการเงินและการสร้างวินัยทางการเงินโดยทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายอื่นๆ ที่มีพันธกิจร่วมกัน และสุดท้ายคือ บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด ซึ่งมีตัวอย่างรูปแบบการทำงานเรื่องการส่งเสริมการออมในพนักงาน

จากผลการศึกษาทำให้คณะนักวิจัยสามารถสรุปรูปแบบและขั้นตอนการดำเนินงานเรื่องการบริหารจัดการเงินและการแก้ไขปัญหาหนี้สินของพนักงานในองค์กร โดยจำแนกตามลักษณะของกลุ่มเป้าหมายคือพนักงานในองค์กร ที่มีทั้งกลุ่มที่ยังไม่ประสบปัญหาหนี้สิน และกลุ่มที่ประสบปัญหาหนี้สินแล้วโดยมีระดับความรุนแรงของปัญหาที่แตกต่างกัน ทำให้ลักษณะการดำเนินงานแบ่งออกเป็น การดำเนินงานในเชิงการป้องกันซึ่งเป็นการให้ความรู้และการสร้างทักษะการบริหารจัดการเงินให้กับพนักงาน และการดำเนินงานในเชิงการแก้ไขปัญหาหนี้สินสำหรับกลุ่มพนักงานที่ประสบปัญหาหนี้สินแล้ว ซึ่งหากเปรียบเทียบในทางการแพทย์อาจเรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนของการรักษาอาการเจ็บป่วยนั้นเอง โดยเมื่อได้มีการรักษาหรือการแก้ไขปัญหาหนี้สินแล้วก็ยังไม่ถือว่าจบกระบวนการ เนื่องจากยังต้องมีขั้นตอนของการบำบัด หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีก และสุดท้ายสำหรับกลุ่มพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้สินอย่างรุนแรงจนเกิดผลเสียต่อการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติงาน ก็ยังต้องมีกระบวนการให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง ที่เรียกว่าเป็นการฟื้นฟู ให้สามารถกลับมาปฏิบัติงานและใช้ชีวิตได้ตามปกติ เช่น การช่วยให้มีอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้สามารถมีค่าใช้จ่ายเพียงพอกับการชดใช้หนี้สินและการดำเนินชีวิตประจำวันได้ ซึ่งในแต่ละขั้นตอนของการดำเนินงานได้มีการรวบรวมข้อมูล ตัวอย่าง และแนวทางการดำเนินงานไว้อย่างเป็นระบบในคู่มือแนวปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของพนักงานที่คณะผู้วิจัยได้จัดทำขึ้น เพื่อให้หน่วยงานสมาชิกเครือข่ายที่สนใจจะดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินของพนักงานในองค์กรได้นำไปใช้ในการดำเนินงานต่อไป

“จากผลการวิจัยครั้งนี้ คณะทำงานเครือข่ายอนาคตไทย จะได้ดำเนินการสื่อสารทำความเข้าใจถึงประโยชน์และแนวทางการดำเนินงานร่วมกันกับหน่วยงานสมาชิกเครือข่ายฯ ทั้ง 112 องค์กร ที่มีความสนใจที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินของพนักงานในองค์กร โดยเฉพาะการทำงานในเชิงการป้องกัน หรือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับพนักงานใหม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้กับพนักงานภายในองค์กร ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนประเด็น “อย่าให้ใครว่าไทยฟุ้งเฟ้อ” ที่นอกเหนือจากสื่อรณรงค์ในภาพกว้างเพื่อการสร้างกระแสสังคม เพราะเป็นการทำงานในเชิงลึก โดยคาดหวังว่าการพัฒนารูปแบบการทำงานและการขยายผลสู่การปฏิบัติจริงในการบริหารจัดการเงินและการแก้ไขปัญหาหนี้สินของพนักงานในองค์กรของหน่วยงานสมาชิกเครือข่ายอนาคตไทย จะเกิดเป็นต้นแบบ และเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่จะส่งผลดีแก่สังคมไทยในวงกว้างได้ในอนาคต” นายธาตรี กล่าว

การประชุมนำเสนอผลการวิจัยกับองค์กรสมาชิกเครือข่ายอนาคตไทยเรื่อง “แนวทางการบริหารจัดการเงินและการแก้ไขปัญหาหนี้สินของพนักงานในองค์กร” เพื่อทำความเข้าใจและหารือแนวทางการทำงานร่วมกันภายในเครือข่ายฯ เพื่อขยายผลการวิจัยสู่การปฏิบัติจริง ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคีเครือข่าย รวมทั้งสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเครือข่ายฯ อย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ที่ได้ระดมความคิดเห็นต่อแนวทางการดำเนินงานร่วมกันเพื่อการขับเคลื่อนภารกิจ

เครือข่ายอนาคตไทย ยังคงมุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องทั้งในเชิงการสร้างกระแสสังคมและการพัฒนาต้นแบบเชิงการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเพื่อสร้างวิถีชีวิตใหม่ในแนวทางของความพอเพียง บนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นการสร้างพื้นฐานชีวิตของคนไทย ให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยคาดหวังที่จะเห็นหน่วยงานจากทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมไทยร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างพลังการขับเคลื่อนภารกิจเครือข่ายอนาคตไทยต่อไป