Young Happy สูงวัย ไม่กลัวเหงา

Young Happy สูงวัย ไม่กลัวเหงา

 

เพราะชีวิตคนในเมืองมีความโดดเดี่ยวสูง ต่างคนต่างอยู่ ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุปัญหาสุขภาพใจมากขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่มีผลวิจัยพบว่า ผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่ในเมืองมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่าผู้สูงวัยที่อยู่ต่างจังหวัดถึง 60%  

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ยอมรับในเรื่องนี้ว่า ปัญหาผู้สูงอายุในเมืองเป็นประเด็นที่น่าห่วงใยจริง เพราะด้วยสภาพสังคมเมืองที่แยกกันอยู่ทำให้ผู้สูงอายุประสบปัญหาทั้งด้านสุขภาพกายและใจในหลายมิติ โดยจากการรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุ ปี 2560 พบสถิติผู้สูงอายุที่โสด อยู่ตามลำพังคนเดียวหรืออยู่กับคู่สมรส โดยไม่มีลูกหลานมากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากต้องเผชิญปัญหาสุขภาพทางกาย ความเสี่ยงอุบัติเหตุ หรือความไม่สะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีปัญหาสุขภาวะทางจิตสูงขึ้น ไปจนถึงปัญหาฆ่าตัวตาย

“ในต่างจังหวัดเรามีการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ แต่สังคมเมืองอยู่อย่างตัวใครตัวมัน รวมตัวยาก ซึ่งในสถิติที่เราพบสะท้อนการอยู่ตามลำพัง มีลูกลดลง ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยเยอะขึ้น สสส.มองเห็นปัญหาดังกล่าว และมองว่า ยังมีกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้ปานกลาง มีความรู้ เหล่านี้จริงๆ แล้ว มีศักยภาพ เป็นกลุ่มที่เรามองว่าเขาก็ต้องการดูแลจิตใจในช่วงเวลาที่ต้องเปลี่ยนผ่าน นอกจากการดูสุขภาพ การเข้าสังคม แต่ยังไม่มีใครเข้ามาส่งเสริมเขา”

ดังนั้นการที่คนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งเกิดความท้าทายตัวเองในการที่อยากจะลุกมาแก้ปัญหาผู้สูงอายุ  และนำมาสู่การก่อตั้ง ยังแฮปปี้ (Young Happy)ที่หลายคนอาจรู้จักในฐานะแอพลิเคชัน คอมมูนิตี้ หรือแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะในฐานะอะไร เป้าหมายสูงสุดของ Young Happy มีเรื่องเดียวคือการเป็นตัวช่วยให้ผู้สูงวัยมีความสุขมากขึ้น ผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น สอนให้ผู้สูงวัยรู้จักเทคโนโลยี การใช้มือถือ การเรียนถ่ายรูป ตลอดจนกิจกรรมบันเทิงอย่างการท่องเที่ยว เต้นลีลาศ เรียนร้องเพลง ฯลฯ  

หลังการดำเนินงานก้าวสู่ปีที่สองแล้ว Young Happy ได้ขยายแนวคิดและแนวทางการทำงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น จนเป็น word of  mouth ที่คนในสังคมกล่าวถึงและทำให้ทาง สสส.มองเห็นทางออกของการแก้ไขปัญหาผู้สูงวัยกลุ่มนี้ร่วมกับทีมงาน Young Happy มากขึ้น

ธนากร พรหมยศ ผู้ร่วมก่อตั้ง Young Happy เอ่ยว่าการที่ Young Happy หันมาโฟกัสผู้สูงวัยในเมืองนั้น เพราะมองเห็นช่องว่างว่ายังมีประชากรกลุ่มที่เป็น Active Senior กว่า 80% ที่ยังมีพลังและคุณค่าสามารถออกมาใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมได้ ไปจนถึงสามารถเป็นจิตอาสาช่วยเหลือผู้อื่น

หากแต่คนกลุ่มนี้กลับกลายเป็นกลุ่มภาคนโยบายอาจมองข้ามไป

“ผู้สูงวัยกลุ่มนี้เขาเหมือน Gap ในสังคมนะครับ ปัจจุบันรัฐอาจต้องเลือกช่วยกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มที่ยังต้องพึ่งพิงยากจน หรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่จริงๆ สิ่งที่คนกลุ่มนี้ก็มีความต้องการเหมือนกัน ที่อาจไม่ใช่เรื่องการเงินหรืออะไร แต่สิ่งที่เขาต้องการคือไม่อยากรู้สึก Loneliness”

ธนากรยกกรณีของ “ลุงอรรณพ” เป็นตัวอย่างให้ฟังว่า จากวัยทำงาน ลุงอรรณพเคยเป็นพนักงานประจำ แต่วันหนึ่งพอเกษียณมา รู้สึกว่าง ไม่มีอะไรทำ ต้องอยู่บ้านเฉยๆ ก็เริ่มรู้สึกเบื่อ เหงา และโดดเดี่ยว จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า

“ทีนี้ความโดดเดี่ยว สุดท้ายมันโยงไปเป็น Health Issue อีกหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นอัลไซเมอร์ ภาวะสมองเสื่อม ซึ่งหากเราปล่อยให้ผู้สูงวัยกลายเป็นคนป่วยอัลไซเมอร์ แปลว่าต้องใช้ค่าดูแลไม่ต่ำกว่าเดือนละสามสื่หมื่นบาท ลูกหลานก็ต้องออกจากงานมาดูแลพ่อแม่

ดังนั้น การที่เราทำ Young Happy เรามีไมล์สโตนในใจว่า เพราะเราอยากให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่ในภาวะแอคทีฟพีเรียดให้นานที่สุด ก่อนที่เขาจะสู่ภาวะติดบ้าน และติดเตียงที่ต้องพึ่งพิงผู้อื่น สมมติว่าจากเดิมเขาจะต้องเป็นตอนอายุ 75 ปี ถ้าเราสามารถช่วยผู้สูงอายุยืดระยะตรงนี้ได้ ให้เขาแอคทีฟได้ถึง 80 ปีก็จะส่งผลดีในหลายมิติ” โดยธนากรยังเสริมต่อว่า

“ความจริงแล้วไม่ใช่แค่ลุงอรรณพ ที่เจอปัญหานี้ แต่เราสามารถพบผู้สูงอายุที่เป็นแบบลุงอรรณพได้รอบๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นในห้างศูนย์การค้า เป็นเพื่อนบ้าน ญาติ หรือคนในครอบครัว เราเลยมองเรื่องการมีพื้นที่ที่จะทำให้เขาได้รวมกลุ่ม สร้างปฏิสัมพันธ์กัน ผ่านกิจกรรมที่เราจัดขึ้น แต่ทุกวันนี้เราจะเห็นเขาไปกองกันอยู่ในห้างหมด ดังนั้น โจทย์ของ Young Happy คือทำอย่างไรให้เขากลับมามีสุขภาพกายและใจดีขึ้น” ธนากรเอ่ย

ทว่าด้วยโครงสร้างของความเป็นเมือง ทำให้มีข้อจำกัดคือพื้นที่ส่วนกลางน้อยสำหรับผู้สูงวัย  Young Happy จึงเลือกแพลตฟอร์มทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ให้เกิดการพบปะระหว่างกัน

Young Happy ยังเป็นศูนย์กลางสร้างสังคมใหม่ และเพื่อนใหม่ ผ่านแอพลิเคชันและเว็บไซต์ “Young Happy” สร้างคอมมูนิตี้ ชุมชนที่ผู้สูงวัยสามารถสมัครเข้ามาเป็นสมาชิก

แต่เพื่อให้กิจการยังคงอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง ทางทีมงานจึงดำเนินกิจการในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise โดยจากการเป็นมีฐานกลุ่มผู้สูงวัยซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความแอคทีฟสูง ที่เชื่อว่าอาจตรงใจกับองค์กรใดที่สนใจหรืออยากทำซีเอสอาร์กับกลุ่มผู้สูงอายุ หรือต้องการสนับสนุนโครงการ ในอีกบทบาทของทีมงาน Young Happy จึงยังต้องรับหน้าที่เป็น creative organizer ไปพร้อมกัน

“ปัญหาอุปสรรคก็มีบ้าง ในแง่ธุรกิจ เราต้องพยายามเข้าใจทั้งสองฝั่ง มุมลูกค้า ต้องเข้าใจว่าเขาคาดหวังอะไร เพราะต้องบอกก่อนว่าประเทศไทยยังมีองค์กรน้อยแห่งที่จะให้ความสนใจซื้อสินค้าบริการจากธุรกิจ SE หรือบางทีก็ไม่เข้าใจรูปแบบการทำงานที่ไม่ได้มุ่งเน้นการแสวงหากำไร  เราเป็นเหมือน gate keeper เพราะต้อง Concern ผู้สูงอายุด้วย เราต้องคำนึงถึงความปลอดภัยหรือผลกระทบ จะฮาร์ดเซลก็คงทำไม่ได้

สิ่งที่ยากที่สุดกับการทำงานผู้สูงอายุคือการทำให้เขาเชื่อใจ อย่าลืมว่าปัจจุบันผู้สูงอายุก็ระวังตัวเพราะกลัวเจอถูกหลอกลวง มิจฉาชีพ หาผลประโยชน์ เคยมีบางคนเข้ามา ถามเราเลยว่า น้องจะมาหลอกขายอะไรพี่หรือเปล่า เราก็ต้องเข้าใจพี่ๆ เขามากขึ้น เราพยายามปรับตัว”

ล่าสุด Young Happy จึงมีนโยบายรับพนักงานสูงอายุมาทำงานสามคน  ธนากรเอ่ยว่าข้อดีคือผู้สูงอายุเขาเข้าใจกันเองอยู่แล้ว อย่างเช่น พนักงานคอลเซนเตอร์ผู้สูงวัยจะรู้ว่าควรพูดหรือสื่อสารแบบไหนที่โดนใจคนวัยเดียวกัน หรือในด้านการคิดคอนเทนท์ Young Happy ก็จะมีผู้สูงวัยที่เกษียณแล้วมาเป็นที่ปรึกษาให้

สำหรับรายได้จากธุรกิจนอกจากจะนำมาบริหารจัดการ สร้างกิจกรรมภายใน ทางทีมงานยังต้งเป้าที่จะจัดสรรค  20% ของรายได้ เพื่อนำมาจัดตั้งกองทุน Fund Young Happy ที่จะสนับสนุนการทำงานในโครงการ Young Happy Time Bank หรือธนาคารเวลาของสูงวัยจิตอาสา ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่ตั้งเป้าขับเคลื่อนในปีนี้

“Young Time bank เราเห็นคอนเสปท์มานานในต่างปรเทศ ในยุโรป ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมันตรงกับแนวคิดของ Young Happy ว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้สูงอายุ สนุก มีคุณค่า และพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งนอกจากการเจอเพื่อน มีกิจกรรม เรามองว่า แล้วทำไงให้คนอีกกลุ่มที่เขายังมีคุณค่า ได้กลับมามีคุณค่าอีกครั้ง บางคนเขาอยากลุกขึ้นมาเป็นจิตอาสา ถ้างงั้นเราให้เขาสะสมชั่วโมงไว้ดีไหม เผื่อวันหนึ่งเขาอยากจะถอนไปใช้หรือเอาไปให้คนอื่นก็ได้”

Young Happy Time Bank หรือธนาคารเวลา เป็นหลักสูตรนักเปลี่ยนแปลงรุ่นใหญ่ โดยสนับสนุนให้ผู้สูงอายุทำความดีเก็บสะสมชั่วโมงและนำมาแลกเป็นบริการต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต เช่น ส่วนลดคอร์สตรวจสุขภาพ เป็นต้น

ล่าสุด ประเดิมโครงการด้วยการนำร่อง กิจกรรมรวมกัน 2,000 ปี เล่นโซเชียลมีเดียฟรี ซึ่งเป็นการรวมผู้สูงวัยประมาณ 30-40 คน ให้อายุครบ 2,000 โดยได้รับกิจกรรม time bank ให้หนึ่งครั้งฟรีๆ

นอกจากนี้ทางธนากรยังคัด Active Senior กลุ่มแรก 15 คน เป็นรุ่นบุกเบิกโครงการ ที่จะได้รับการเติมความรู้บางอย่าง เพื่อให้มีความเข้าใจว่าโครงการเพื่อสังคมหรือการเป็นจิตอาสาที่ดีควรเป็นอย่างไร จึงร่วมมือกับสถาบันป๋วยอึ้งภากรณ์ ทำหลักสูตรฝึกอบรมนักเปลี่ยนแปลงรุ่นใหญ่ เป็นเวลา 2 เดือน ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ

“โมเดล Time Bank ในต่างประเทศจะเน้นทำในชุมชนเล็กๆ ส่วนบ้านเราด้วยบริบทความเป็นสังคมเมือง ต้องมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสม จึงปรับวิธีการทำงานเป็นองค์กรกับองค์กร ที่ผ่านมาเราทำงานกับทางสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง คลอง 6”

ธนากรเอ่ยต่อว่าในต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรปอาจเป็นเรื่องปกติที่ผู้สูงอายุจะกลับไปทำงานได้ ต่างกับเมืองไทย ที่ยังมีค่านิยมสังคมแบบเอเชีย ถ้าเราปล่อยพ่อแม่ให้ไปทำงาน สังคมจะมองเราละว่าทำไมไม่ดูแลพ่อแม่ เช่นเดียวกับการส่งผู้สูงอายุอยู่ในบ้านพักคนชราเป็นเรื่องปกติในยุโรปแต่บ้านเราไม่ใช่ ขณะเดียวกันในเรื่องกฎหมายบ้านเราเองก็ยังไม่มีกฎหมายส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุ เหมือนที่มีกฎหมายจ้างผู้พิการ

“เรื่องนี้สังคมไทยเองต้องปรับไมนด์เซ็ต ว่าการที่ผู้สูงอายุออกไปทำงานไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย ซึ่งผู้สูงอายุ 15 คนนี้จะกลายเป็นผู้นำ แต่กิจกรรมอย่างต่อเนื่อง  ส่วนในอีกสองสามปีข้างหน้า Young Happy จะขยายไปหัวเมืองมากขึ้น”

ด้านภรณี เอ่ยเสริมถึงการทำงานกับผู้สูงอายุในแบบฉบับ สสส. ว่า การทำงานกับ Young Happy และผู้สูงอายุ ทำให้ได้ทราบถึงความต้องการหลายอย่างที่คาดไม่ถึง

“เราพบว่าผู้สูงอายุหลายคนเขาไม่รู้ถึงสิทธิ์พื้นฐานที่เขาควรได้รับ หรือแม้แต่ในการเดินทาง ด้วยวัยเขาไม่สะดวกที่จะทำอะไรเร็วๆ อาจขึ้นรถเมล์ช้าหรือไม่ทัน หรือจะเรียกแท็กซี่เขาก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ล่าสุด สสส. จึงประสานความร่วมมือกับทาง Grab Taxi และ All Thai Taxi เพื่ออบรมเพิ่ม ในด้านให้บริการผู้สูงอายุให้มีความละเอียดอ่อนมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความมั่นใจมากขึ้นในการลุกขึ้นมาเป็นจิตอาสา แต่สุดท้ายเป้าหมายสำคัญของเราคือการที่ผู้สูงอายุต้องมีความสุขทั้งกายและใจ” ภรณีกล่าวทิ้งท้าย

Young Happy สูงวัย ไม่กลัวเหงา

Young Happy สูงวัย ไม่กลัวเหงา

Young Happy สูงวัย ไม่กลัวเหงา

Young Happy สูงวัย ไม่กลัวเหงา