TIJ ประเดิมหลักสูตรอบรม‘เทคนิคสอบปากคำ’ Investigative Interviewing

TIJ ประเดิมหลักสูตรอบรม‘เทคนิคสอบปากคำ’ Investigative Interviewing

 

มีคนเคยบอกเอาไว้ว่า กระบวนการยุติธรรมเปรียบเหมือน "สายพาน" เริ่มต้นที่ตำรวจหรือพนักงานสอบสวน ส่งต่อไปที่อัยการและศาล ฉะนั้นหากพยานหลักฐานที่รวบรวมตั้งแต่ต้นทางเกิดบิดเบี้ยว เมื่อคดีเคลื่อนไปถึงปลายสายพาน ผลของมันก็จะบิดเบือนตามไปด้วย

นี่คือปัญหาใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมลำดับต้นที่หากรวบรวมพยานหลักฐานได้ไม่ดีพอ มีอคติในการสืบสวนสอบสวน ตั้งธงล่วงหน้า หรือแม้แต่ซ้อมทรมานเพื่อให้ได้คำรับสารภาพ ก็จะทำให้เกิด "แพะในคดีอาญา" ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

สอดคล้องกับข้อมูลจาก The Innocence Project ที่อ้างอิงการศึกษาข้อมูลในสหรัฐอเมริกา พบว่าวิธีการกดดันและการทรมานผู้ต้องสงสัยให้ผลไม่น่าเชื่อถือ เพราะมี "ผู้ต้องขัง" มากกว่า 25% ที่หลังจากรับโทษไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง สามารถพิสูจน์ได้จากหลักฐาน DNA ว่าแท้จริงแล้วพวกเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ "ยอมรับสารภาพในความผิดที่ตนไม่ได้ก่อ" และถ้าศึกษาตัวเลขเฉพาะในกลุ่มเยาวชน จะพบว่าการสารภาพโดยไม่ได้กระทำผิดเพิ่มสูงเป็น 75%

นี่คือปัญหาใหญ่ในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระดับบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อหลักนิติธรรม และความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อ "สายพานยุติธรรม" ทั้งกระบวนการด้วย

และนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ (Thailand Institute of Justice) ร่วมกับ The Rule of Law and Development Fellows (RoLD Fellows) จับมือกับ ศูนย์สิทธิมนุษยชนแห่งนอร์เวย์ และ วิทยาลัยตำรวจนอร์เวย์ เปิดการอบรมหลักสูตร "การเพิ่มศักยภาพพนักงานสอบสวน-สืบสวนในการสอบปากคำ" หรือ Investigative Interviewing Methods อย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้

Investigative Interviewing คือการซักถามเพื่อใช้ในการสอบสวน เป็นเทคนิคที่ศูนย์สิทธิมนุษยชน วิทยาลัยตำรวจแห่งนอร์เวย์ พัฒนาขึ้นโดยผู้ปฏิบัติงานจริงภายใต้การเก็บรวบรวมข้อมูลและการศึกษาอย่างเป็นระบบ ผ่านการศึกษาวิจัยมากว่า 30 ปี เพื่อให้ "การซักถาม" ซึ่งเป็นวิธีการขั้นแรกของกระบวนการยุติธรรมเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยค้นหาความจริง และให้การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหา ผู้เสียหาย และพยานไปพร้อมๆ กัน

ทั้งยังเป็นวิธีการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรวบรวมและความน่าเชื่อถือของข้อมูล ลดความผิดพลาด ลดทรัพยากรและระยะเวลาที่อาจเกิดขึ้นในขั้นตอนต่อไปด้วย

หลักการ Investigative Interviewing เป็นวิธีการสอบปากคำด้วยหลักจิตวิทยาชั้นสูง ตามโมเดล CREATIV ซึ่งผ่านการคิดค้นและได้รับการยอมรับในระดับสากล แม้แต่สหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ก็นำไปใช้อบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจของตน เพราะเป็นวิธีการสอบปากคำที่มีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ ทั้งยังเคารพสิทธิมนุษยชน ปราศจาก
การบังคับ ข่มขู่ ข่มขืนใจ ล่อลวง หรือการใช้กำลังประทุษร้ายบังคับให้ผู้ถูกกล่าวหารับสารภาพโดยไม่เต็มใจ

โมเดล CREATIV ประกอบด้วย การให้ความสำคัญกับการสื่อสาร (Communication) การใช้หลักนิติธรรม (Rule of law) การใช้จริยธรรมและความเข้าใจ (Ethics and Empathy) การฟังอย่างตั้งใจ (Active Consciousness) การสร้างความเชื่อใจ (Trust) การให้ความสำคัญกับการเปิดรับข้อมูล (Information) และการตรวจสอบความถูกต้อง (Verification) 

สำหรับในประเทศไทย หน่วยงานที่ทำหน้าที่ "สืบสวน-สอบสวน" ไม่ได้มีเฉพาะตำรวจ แต่ยังมีหน่วยงานอื่นๆ อีก ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ และองค์กรอิสระ รวมถึงองค์กรกึ่งอิสระ ฉะนั้น TIJ ในฐานะผู้จัดหลักสูตรอบรม จึงเชิญผู้แทนหน่วยงานเหล่านี้เข้าร่วมอบรมด้วย ได้แก่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชรติ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวว่า การผลักดันหลักการซักถามเพื่อการสืบสวนสอบสวนด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เป็นพันธกิจเร่งด่วนที่ TIJ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในประเทศไทยที่ทำหน้าที่ด้านการสืบสวนสอบสวน จัดส่งบุคลากรคุณภาพเข้าร่วมการอบรม

"ผมเชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสกัดความอยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมที่เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนที่สุดครั้งหนึ่งในประเทศไทย" ผู้อำนวยการ TIJ กล่าว

กว่าจะเป็นหลักสูตรอบรมครั้งประวัติศาสตร์ TIJ และ RoLD Fellows ได้ร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย ศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนอร์เวย์ มหาวิทยาลัยออสโล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดการประชุมหารือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงมีเวิร์คชอปเล็กๆ เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้วเพื่อระดมสมองและกำหนดรูปแบบการจัดโครงการฝึกอบรมให้มีประสิทธิภาพและได้ประโยชน์สูงสุดด้วย

และนี่คืออีกหนึ่งพันธกิจของ TIJ ในฐานะสถาบันเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา หรือ UN-PNIs แห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับประสิทธิภาพงานสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งเป็น "ต้นทางแห่งสายพานยุติธรรม" ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม และอำนวยความยุติธรรมสูงสุดให้กับประชาชน