โรคข้อสะโพกเสื่อม ไม่จำกัดวัยใครๆก็เป็นได้

โรคข้อสะโพกเสื่อม ไม่จำกัดวัยใครๆก็เป็นได้

 

โรคข้อสะโพกเสื่อม เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย ไม่เฉพาะแต่ผู้สูงอายุเท่านั้น ซึ่งผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อสะโพกจะมีอาการ เดินนั่งลำบาก หรือเดินกะเผลกเหมือนขาสั้นยาวไม่เท่ากัน ที่สำคัญคือมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ปวดเรื้อรังจนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน และชีวิตการทำงาน

ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อีกครั้ง ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การรักษาด้วย เทคนิกผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมโดยไม่ต้องตัดกล้ามเนื้อ แผลเล็ก ซ่อนแผลผ่าตัด (ตามแนวบิกินี่) หมดกังวลกับรอยแผล เจ็บน้อย  เสียเลือดน้อย ฟื้นตัวไว (Direct Anterior Approach Cosmetic Incision Hip Replacement)

โรคข้อสะโพกเสื่อม ไม่จำกัดวัยใครๆก็เป็นได้

นพ.พนธกร พานิชกุล ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่ากรุงเทพ  โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ความเสื่อมของข้อสะโพกเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย  แน่นอนว่าปัจจัยหลักของความเสื่อมเป็นเรื่องอายุ   ทว่าที่น่าสนใจก็คือ เวลานี้คนอายุน้อยที่เป็นโรคนี้ก่อนวัยอันควรกลับมีจำนวนที่มากขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากการใช้ยาสเตียรอยด์ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยที่เป็นโรค SLE (โรคแพ้ภูมิตัวเอง)  รวมถึงข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิด ปัญหาข้อสะโพกที่เกิดจากอุบัติเหตุ การใช้ชีวิต  การทานอาหาร รวมถึงการดื่มแอลกอฮอลล์  เป็นต้น 

" ในหลาย ๆปัจจัย เช่น การใช้ยาสเตียรอยด์ และการดื่มแอลกอฮอลล์ส่งผลต่อการหมุนเวียนของเลือด ซึ่งทำให้หัวกระดูกข้อสะโพกขาดเลือดมาเลี้ยง เมื่อเลือดไปเลี้ยงที่หัวข้อสะโพกไม่เพียงพอ ก็ทำให้กระดูกส่วนหัวข้อสะโพกค่อยๆ เสื่อมเกิดการทรุดตัวลง การสังเกตเพื่อดูว่าตัวเรามีอาการของโรคข้อสะโพกเสื่อมหรือไม่ อาการเริ่มต้นผู้ป่วยจะเริ่มเจ็บบริเวณขาหนีบ เวลาเดินหรือวิ่งเกิดอาการเจ็บแปล๊บๆที่ข้อสะโพก จากนั้นอาจจะเริ่มปวดร้าวลงไปถึงหัวเข่าได้ และขาก็สั้นลง ผู้ป่วยจะเคลื่อนไหวได้น้อยลงเรื่อยๆ"

สำหรับขั้นตอนของการรักษา ผู้ป่วยควรมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัยและทำการรักษา ซึ่งจะต้องผ่าตัดหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย คุณหมอพนธกรบอกว่า ไม่ใช่ทุกรายที่ต้องผ่าตัด ถ้าหากอาการยังเป็นไม่เยอะมากก็แค่ทานยา ฉีดยา หรือทำกายภาพบำบัด แต่หากรักษาด้วยวิธีต่าง ๆแล้วไม่สำเร็จ การผ่าตัดจะเป็นวิธีสุดท้ายที่ช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติเหมือนเดิม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่ แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อนั้น  เป็นเทคนิกผ่าตามแนวทิศทางธรรมชาติของผิวหนังและซ่อนแผลผ่าตัด  โดยผ่าตัดทางด้านหน้าสะโพกบริเวณขาหนีบ เปิดแผล 2-3 นิ้ว แล้วแหวกช่องระหว่างกล้ามเนื้อเข้าไปทำการตัดข้อสะโพกที่เสื่อมทำการเปลี่ยนเป็นข้อต่อเทียมซึ่งจะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ  ซึ่งแบบที่หนึ่ง ทำจากเซรามิค คงทนต่อการสึกหรอได้ดี แบบที่สองทำจากเหล็ก ทนต่อการสึกหรอได้น้อยกว่า นอกจากนี้ แกนของข้อสะโพกเทียมรุ่นใหม่ยังมีการออกแบบพิเศษในลักษณะ แบบมีเงี่ยง ซึ่งจากการวิจัยของ นพ.พนธกร ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Oethopedics พบว่าข้อสะโพกเทียมรุ่นใหม่นี้ จะลดปัญหาข้อเทียมจม ทำให้ผู้ป่วยเดินได้อย่างมั่นคงและทนต่อการสึกหรอได้ดี

โรคข้อสะโพกเสื่อม ไม่จำกัดวัยใครๆก็เป็นได้

"การผ่าตัดแบบนี้ ทำให้สามารถผ่าตัดข้อสะโพกให้ผู้ป่วยได้พร้อมๆกันทั้ง 2 ข้างภายในครั้งเดียว  และเมื่อไม่มีการตัดกล้ามเนื้อใดๆ ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น เจ็บปวดน้อย  และซ่อนแผลใต้แนวบิกินี่ ทั้งยังลดโอกาสข้อหลุดหรือขาสั้นยาวไม่เท่ากัน ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น"

ต่างไปจากการผ่าตัดแบบเดิม ซึ่งจะเปิดแผลผ่าตัดทางด้านหลังบริเวณสะโพก หรือทางด้านข้าง ซึ่งต้องมีการตัดกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกจึงเป็นแผลใหญ่และทำให้เนื้อเยื่อเสียหาย ต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน ทั้งยังเสี่ยงข้อสะโพกเทียมหลุดหลังผ่าตัด เดินกระเผลก และขายาวไม่เท่ากันหลังผ่าตัดด้วย

คุณหมอพนธกร บอกว่า มี 3 ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การรักษาเกิดผลดีที่สุด และข้อสะโพกเทียมอยู่ได้ยาวนาน ก็คือ หนึ่ง ตัวผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัด ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังที่มีแรงกระแทกต่อข้อสะโพกมากๆ สอง ข้อสะโพกเทียมต้องมีคุณภาพดี และสาม ควรได้รับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง

โรคข้อสะโพกเสื่อม ไม่จำกัดวัยใครๆก็เป็นได้

ทั้งนี้  ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่ากรุงเทพ  โรงพยาบาลกรุงเทพ มีทีมแพทย์เฉพาะทางด้านข้อสะโพก ที่ผ่านการฝึกอบรม และมีประสบการณ์ในการผ่าตัดชนิดนี้จากต่างประเทศ และได้รับเชิญเป็นผู้ถ่ายทอดเทคนิกการผ่าตัดข้อสะโพกเทียมแนวใหม่นี้แก่โรงเรียนแพทย์ คณะแพทย์ทั่วประเทศ รวมถึงต่างประเทศในโซนเอเชียแปซิฟิก