กรมเจรจาฯ เฟ้นหาผู้ชนะการประกวดแผนใช้เอฟทีเออาเซียน-จีน

กรมเจรจาฯ เฟ้นหาผู้ชนะการประกวดแผนใช้เอฟทีเออาเซียน-จีน

ค้นหาสุดยอด 5 ทีมที่มีแผนธุรกิจยอดเยี่ยมจากการใช้ประโยชน์เอฟทีเออาเซียน-จีน เป็นผู้ชนะ เตรียมบุกแดนมังกร จับคู่ธุรกิจที่มหานครเซี่ยงไฮ้



กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดการประกวดแข่งขันการประกวดแผนธุรกิจ “DTN Business Plan Award 2019” รอบชิงชนะเลิศ ค้นหาสุดยอด 5 ทีมที่มีแผนธุรกิจยอดเยี่ยมจากการใช้ประโยชน์เอฟทีเออาเซียน-จีน เป็นผู้ชนะ เตรียมบุกแดนมังกร จับคู่ธุรกิจที่มหานครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน มั่นใจช่วยกระตุ้น SMEs ไทยให้ใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอบุกตลาดจีน เสริมศักยภาพส่งออกไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยในงานการประกวดแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ (pitching) ว่า โครงการ DTN Business Plan Award 2019 เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่กรมฯ จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 99 ปีกระทรวงพาณิชย์ เพื่อกระตุ้นให้ภาคการส่งออกของไทยโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปหันมาใช้เอฟทีเอขับเคลื่อนการส่งออกสู่ตลาดจีน ซึ่งมีผู้ผ่านเข้ารอบ 15 ทีม จากผู้สมัครทั้งหมด 131 ทีม โดยผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลแผนธุรกิจยอดเยี่ยมจำนวน 5 ทีม (Best Practice) จะได้เดินทางบุกแดนมังกร เพื่อเรียนรู้และจับคู่ธุรกิจในจีน พร้อมทั้งเข้าเยี่ยมชมงาน The 10th China (Shanghai) International Catering Food & Beverage Exhibition 2019 ในเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งจะเป็นการช่วยต่อยอดธุรกิจแก่ SMEs ไทยให้รุกเข้าสู่ตลาดจีนได้มากขึ้น รวมทั้ง ยังมีรางวัลพิเศษ Most Favorite Biz Plan สำหรับคลิปวีดีโอแนะนำผลิตภัณฑ์ของทีมที่มียอด Like สูงสุดใน Facebook: DTN Business Plan Award 2019 ชิงเงินรางวัล 10,000 บาท

“เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ทั้ง 15 ราย ซึ่งได้เข้าร่วมอบรมบู้ธแคมป์ เทคนิคการรุกตลาดจีนให้รวยด้วยเอฟทีเอ ที่กรมฯ จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 25 – 27 เมษายน ที่ผ่านมา ได้นำความรู้จากการอบรมมาใช้ในการจัดทำแผนให้มีความน่าสนใจ และสามารถนำไปปฏิบัติได้ ซึ่งหากได้รับการผลักดัน และส่งเสริมให้ดำเนินการตามแผนที่ได้จัดทำไว้อย่างเป็นรูปธรรม จะสามารถสร้างการเติบโตให้แก่ตัวผู้ประกอบการในระยะยาว และยังส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย” นางอรมน กล่าว

นางอรมน เพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการ 15 ทีมที่เข้าร่วมงานประกวด pitching ในครั้งนี้ ล้วนเป็นดาวเด่นในบรรดาผู้สมัครทั้งหมด ซึ่งเป็นสินค้ากลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ประกอบด้วย สินค้าที่แปรรูปจากมะม่วง ได้แก่ มะม่วงอบแห้งไม่ใส่น้ำตาล จากทีม 168, มะม่วงกรอบ สับปะรดกรอบ จากทีม Mango Hill, มะม่วงฟรีซดราย จากทีม Phuchaya – mango, ข้าวเหนียวมะม่วงฟรีซดรายด์ จากทีม Graccy group, ข้าวเหนียวมะม่วงสดพร้อมทาน จากทีม Triple Prime Mango นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่แปรรูปจากข้าว ได้แก่ ข้าวกล้องกรอบ รส ปาปริก้า ทีมข้าวสร้างสุข ขนมข้าวป๊อบ กราโนล่า จากทีม ยังเกอร์ ฟาร์ม, ซุปข้าวกล้องหอมมะลิและข้าวไรซ์เบอรี่ออร์แกนิคกึ่งสำเร็จรูป จากทีม Eiyo ซุปเปอร์คิดส์ รวมทั้ง ข้าวเหนียวทุเรียนพร้อมทาน จากทีม Big Durian, สินค้ากล้วยเส้นทรงเครื่อง Nawati จากทีม BANANA House, เงาะอบแห้ง IYHA จากทีม IYHA, Toptap มะพร้าวอัดเม็ด จากทีมปลาวริช 88, ชุดเครื่องปรุงต้มยำสำเร็จรูป จากทีม มิตรธัญญะกรุ๊ป ตลอดจนสินค้าจากกลุ่มเกษตรกร ได้แก่ ยาสีฟันสมุนไพรเอนไซต์เฮิร์บบุปผาวัน จากวิสาหกิจชุมชนยาสีฟันสมุนไพรเอนไซต์เฮิร์บทีมบุปผาวัน และผลิตภัณฑ์น้ำมันงา น้ำมันรำข้าวสกัดเย็น จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขาแหลม”


นางอรมน เสริมว่า จากผลงานที่ผู้ประกอบการได้จัดทำเพื่อมานำเสนอ สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันผู้ประกอบการ SMEs มีการใช้นวัตกรรมและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง นับเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของประเทศ ซึ่งกรมฯ ให้ความสำคัญกับการติดอาวุธให้ผู้ประกอบการไทย รุกตลาดจีนโดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเออาเซียน-จีน ตลอดจนเน้นการพัฒนาคุณภาพและสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า เจาะตลาดเข้าสู่เมืองใหม่ๆ โดยเฉพาะมณฑลทางฝั่งตะวันตกของจีน เช่น ซินเจียง กานซู หนิงเซียะ ฉงชิ่ง และมณฑลเมืองรองที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง เช่น เหอเป่ย เหอหนาน หูเป่ย รวมถึงร้านออนไลน์ที่มีชื่อเสียงของจีน เป็นต้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยจะต้องติดอาวุธและเรียนรู้ที่จะวางแผนในการทำธุรกิจและส่งออกไปจีน โดยเฉพาะพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า โดยในส่วนของสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปควรให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานทั้ง GAP และ GMP รวมทั้งต้องพยายามประชาสัมพันธ์ สร้างเครือข่ายให้ผู้บริโภคจีนรู้จักสินค้าไทยมากขึ้น

ทั้งนี้ ตั้งแต่ความตกลงเอฟทีเออาเซียน-จีน (ACFTA) มีผลใช้บังคับเมื่อปี 2548 ไทยและจีนได้ทยอยลดเลิกภาษีศุลกากรระหว่างกันมาเป็นลำดับ เริ่มจากยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บกับสินค้าผักและผลไม้นำเข้า เมื่อต้นปี 2549 จนล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 ได้ลดภาษีศุลกากรสินค้าล๊อตสุดท้ายให้เหลือร้อยละ 0-5 อาทิ สับปะรดแปรรูป โพลิเอสเตอร์ แป้งข้าวเจ้า ปลายข้าว เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ ซึ่งพบว่า การค้าระหว่างไทยกับจีนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มีมูลค่า 80,136 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 294.3 จากปี 2548 ที่เอฟทีเอเริ่มใช้บังคับ และขยายตัวร้อยละ 8.7 จากปี 2560 โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปจีน 30,175.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าจากจีน 49,961ล้านเหรียญสหรัฐ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์