ม.กรุงเทพ จับมือ สสว. เสริมจุดแข็งผู้ประกอบการไทยสู้ตลาดโลก

ม.กรุงเทพ จับมือ สสว. เสริมจุดแข็งผู้ประกอบการไทยสู้ตลาดโลก

จัดงานสัมมนา “สถานการณ์ความเป็นผู้ประกอบการไทยและโลก ประจำปี 2561” รวบรวมผลการศึกษาวิจัยการประเมินระดับสังคมความเป็นผู้ประกอบการ 

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดงานสัมมนา “สถานการณ์ความเป็นผู้ประกอบการไทยและโลก ประจำปี 2561” (GEM Report 2018) งานสัมมนาที่รวบรวมผลการศึกษาวิจัยการประเมินระดับสังคมความเป็นผู้ประกอบการ  Global Entrepreneurship Monitor (GEM) จากประเทศต่างๆ ที่ใช้ร่วมกันในกลุ่มสมาชิก GEM ทั่วโลก มุ่งสนับสนุน SMEs ให้มีศักยภาพที่เข้มแข็งสามารถแข่งขันในตลาดโลก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ มาลัย รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและผู้ประกอบการสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า การเริ่มต้นหรือพัฒนาธุรกิจ ตลอดจนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการริเริ่มธุรกิจ กระบวนการเหล่านี้จะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐาน เกี่ยวกับสถานภาพของสังคมผู้ประกอบการของประเทศไทย ที่เป็นอยู่ปัจจุบันตลอดจนเป็นแนวทางและปัจจัยในการเสริมสร้างสังคมผู้ประกอบการและการสร้างผู้ประกอบการใหม่ให้ได้ตามเป้าหมาย มีคุณภาพและการเติบโตที่มั่นคง ดังนั้นสังคมผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Society) ถือเป็นแกนหลักของการเจริญเติบโตที่เข้มแข็งของประเทศ ดังนั้นความเข้มแข็งและความเป็นพลวัตรของสังคมผู้ประกอบการจะเป็นแรงกระตุ้นและตัวเร่งที่สำคัญในการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ ย้ำว่า หากพิจารณาธุรกิจในประเทศไทยในภาพรวม พบว่า ผู้ประกอบการทั้งหญิงและชายเหล่านี้ยังคงต้องการการพัฒนาธุรกิจให้เติบโต เนื่องจากกว่าร้อยละ 70 ธุรกิจเหล่านี้ยังคงเป็นธุรกิจขนาดเล็กและมีการเติบโตช้า อีกทั้งยังขาดการพัฒนาในด้านนวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขัน  เนื่องจากกว่าร้อยละ 90 ของธุรกิจเหล่านี้เป็นธุรกิจซื้อมาขายไปเท่านั้น เราต้องการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการหญิงเหล่านี้  เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนไทยในอนาคต เนื่องจากธุรกิจที่มีศักยภาพจะสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและลดช่องว่างในสังคม  โดยการสร้างงานสร้างอาชีพ พัฒนาสินค้าและนวัตกรรม กระบวนการผลิต การบริการและการค้าขายภายในประเทศ  ซึ่งผู้ประกอบการผู้หญิงโดยเฉพาะในประเทศไทย ยังคงเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่

คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (School of Entrepreneurship and Management, Bangkok University : BUSEM) เป็นตัวแทนเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยขององค์กร GCEE (Global Consortium for Entrepreneurship) ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่มีสมาชิกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกที่ทำการวิจัยด้านความเป็นผู้ประกอบการ

คุณสุวรรณชัย  โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างสังคมผู้ประกอบการ เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เข้มแข็งโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม การสร้างสังคมผู้ประกอบการเป็นกระบวนการที่มีความเกี่ยวพันกับหลายส่วน ตั้งแต่การสร้างแรงจูงใจในระดับปัจเจกชนให้มีความคิดอยากที่จะเป็นผู้ประกอบการ การสร้างความยอมรับในการเป็นผู้ประกอบการที่แพร่หลายในสังคม การพัฒนาทักษะและความรู้ในการประกอบการให้แก่ผู้ที่ต้องการเริ่ม งานนี้มีการเปรียบเทียบข้อมูลของประเทศไทยกับประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก ทำให้ได้แนวคิด และกรอบวิธีการทำงานศึกษาในระดับสากล ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการสร้างสังคมผู้ประกอบการของไทย

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและบริหารกิจการ (BUSEM) ได้ผสานความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ตั้งแต่ปี 2554 ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Global Entrepreneurship Monitor : GEM และดำเนินการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันมีประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก GEM ประมาณ 63 ประเทศทั่วโลก ในการร่วมกันเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยการประเมินระดับสังคมความเป็นผู้ประกอบการ รวมทั้งยังได้มีการศึกษาทัศนคติ ความตื่นตัว และการมีส่วนร่วมของประชากรในกิจกรรมด้านการเป็นผู้ประกอบการ ศึกษาปัจจัยแวดล้อมเกื้อหนุนต่อการเติบโตของผู้ประกอบการ สำหรับคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นสถาบันการศึกษาแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีความแข็งแกร่งในด้านวิชาการเพื่อการสร้างผู้ประกอบการ โดยเน้นการสร้างกระบวนการคิดและลงมือปฏิบัติเป็นแนวทางบ่มเพาะนักศึกษาและผู้ประกอบการอย่างสร้างสรรค์