กิจกรรม “กันน็อก กันนะ” รณรงค์สวมหมวกกันน็อก 100 %

กิจกรรม “กันน็อก กันนะ” รณรงค์สวมหมวกกันน็อก 100 %

สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมร่วมใจสวมหมวกกันน็อก 100% ปี 2561” นำร่องในสถานศึกษาอาชีวะ 6 แห่ง มุ่งลดความสูญเสียจากอุบัติเห

                                                                                                                             

 

นายสุราษฎร์  เจริญชัยกุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า                “เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกรุงเทพมหานคร ด้านมหานครปลอดภัย ในปี 2561 นี้ สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร นำร่องจัดกิจกรรม  “การรณรงค์สถานศึกษา (อาชีวะ) ร่วมใจสวมหมวกกันน็อก 100%” ในสถานศึกษาอาชีวะจำนวน 6 แห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 1.วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี 2.วิทยาลัยพาณิชยการบางนา 3.วิทยาลัยเทคโนโลยีปทีปพลีผล 4.วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร 5. วิทยาลัยอาชีวศึกษาสันติราษฎร์ในพระอุปถัมภ์ฯ และ
6.วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค)  เพื่อให้ความรู้เรื่องการเลือกและสวมหมวกกันน็อกที่ถูกต้อง และสร้างความตระหนักในการขับขี่อย่างปลอดภัยให้กับนักศึกษา เนื่องจากพบว่ากลุ่มคนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 15-29 ปี และพบว่าประเภทยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่คือ รถจักรยานยนต์ โดยสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษา เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มชื่นชอบรถจักรยานยนต์ และนิยมใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะในการเดินทาง ทั้งนี้การสวมหมวกกันน็อกจะช่วยลดอาการบาดเจ็บที่รุนแรงหากเกิดอุบัติเหตุ  ซึ่งหมวกกันน็อกมีคุณสมบัติพิเศษสามารถยืดหยุ่นได้เมื่อถูกกระแทก  จึงช่วยดูดซับและกระจายแรงไม่ให้ส่งไปยังสมองของผู้ประสบอุบัติเหตุ  ขณะที่วัสดุภายนอกมีความแข็งแรง จะช่วยปกป้องศีรษะไม่ให้กระแทกกับพื้นถนนโดยตรง จึงช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ”

ด้านนายธนันท์ชัย  เมฆประเสริฐวนิช ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.)  กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “การสวมหมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐานและถูกวิธี จะช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงที่ศีรษะได้ร้อยละ 72  และลดการเสียชีวิตได้ ร้อยละ 39 เมื่อประสบอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัยทุกครั้งที่ขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์
ไม่ว่าจะเดินทางในระยะใกล้หรือไกล การเลือกใช้หมวกกันน็อกควรใช้หมวกกันน็อกแบบเต็มใบที่มีขนาดพอดีกับศีรษะ
มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หมวกมีน้ำหนักไม่มากเกินไป รวมถึงมีสีสันสดใส จะช่วยให้ผู้ขับรถคนอื่นมองเห็นอย่างชัดเจนในระยะไกล การสวมหมวกกันน็อกในลักษณะหน้าตรง ไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง คาดสายรัดคางและปรับความตึงให้กระชับใต้คาง สายไม่พลิก บิดหรือหย่อน รวมถึงกระชับเพียงพอที่หมวกนิรภัยจะไม่หลุดออกจากศีรษะเมื่อประสบอุบัติเหตุ จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ ”

ข้อควรระวังในการใช้หมวกกันน็อก ควรเปลี่ยนหมวกกันน็อกทุก ๆ 3-5 ปี หรือภายหลังที่หมวกนิรภัยกระแทกพื้นหรือของแข็งอย่างรุนแรง เพราะวัสดุภายในหมวกกันน็อกจะเสื่อมสภาพและไม่สามารถรองรับแรงกระแทกได้
เมื่อประสบอุบัติเหตุ สวมหมวกกันน็อกและคาดสายรัดคางทุกครั้งที่ขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์ พร้อมใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะเป็นระดับความเร็วที่หมวกกันน็อกรองรับแรงกระแทกได้อย่างมีประสิทธิภาพ   

                                                            

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

คุณธนศักย์  อุทิศชลานนท์ (โป้ง)   โทร    081 421 5249