“เสี่ยโต” คุมทัพ “ส.ก.” พลังกรุงเทพ เดิมพันฟาสท์แทร็ก "เก้าอี้รัฐมนตรี"

“เสี่ยโต” คุมทัพ “ส.ก.” พลังกรุงเทพ เดิมพันฟาสท์แทร็ก "เก้าอี้รัฐมนตรี"

การย้ายมา “พลังประชารัฐ” ของ “เสี่ยโต” หนีไม่พ้นข้อสังเกตถึงความต้องการหาทางลัด พยายามเกาะเกี่ยวผู้มีอำนาจ เพื่ออัพเกรดเป็นรัฐมนตรี ในโควตา กทม.ที่ยังว่างหรือไม่ ท่ามกลางความนิยมของพรรค ตามผลสำรวจของโพลที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ

สนามท้องถิ่นเมืองหลวง ระดับ “ส.ก.” เที่ยวนี้ดูจะคึกคักเป็นพิเศษ แทบทุกพรรคการเมืองต่างส่งผู้สมัคร หมายปักธงในพื้นที่ให้ได้

พรรคพลังประชารัฐ” เองก็เป็นหนึ่งในนั้น แม้จะไม่ส่งผู้สมัคร "ผู้ว่าฯ กทม.” ในนามพรรค แต่ก็วางตัวผู้สมัคร ส.ก. ลงครบทั้ง 50 เขต 

ได้ฤกษ์เปิดตัวไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ภายใต้ชื่อทีม “พลังกรุงเทพ” แม้บรรยากาศจะดูเงียบเหงาไม่คึกคักเหมือนพรรคคู่แข่งอื่นๆ ก็ตาม

ประกอบกับการเข้ามาของ เสี่ยโต “อภิชัย เตชะอุบล” ที่ทิ้งเก้าอี้ส.ส.บัญชีรายชื่อ “พรรคประชาธิปัตย์” ก่อนมาสวมเสื้อ “พลังประชารัฐ” คุมทัพเลือกตั้ง “ส.ก.” ให้กับพรรค ก็สร้างความตื่นเต้นให้ “ส.ส.กทม.” และว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. ของพรรคไม่น้อย

ด้วยความคาดหวังว่า การเข้ามาของ “เสี่ยโต” จะตามมาด้วยท่อน้ำเลี้ยงก็อกโต สมชื่อ แต่เมื่อถึงเวลา กลับไหลเอื่อยไม่เหมือนที่หลายคนคิด เช็กน้ำหนักกระสุนแล้ว มีเสียงร่ำลือกันว่า 1 เขตต่อ 1 ก้อนเท่านั้น แต่ก็ไม่แน่ว่า ช่วงโค้งสุดท้าย น้ำเลี้ยงสายใหญ่อาจไหลบ่าเต็มแรงก็ได้

จะว่าไปแล้ว การเข้ามาของ “เสี่ยโต” กลางคันเช่นนี้ ความใกล้ชิดกับบรรดาผู้สมัคร ส.ก. อาจจะดูห่างเหินไปบ้าง เนื่องจากหลายคน ต่างมีสังกัดเป็นคนของใครต่อใครมาตั้งแต่ต้น เนื้อในพลังประชารัฐเลยดูจะไม่ค่อยเป็นปึกแผ่นเท่าที่ควร ต่างคนต่างหาที่พึ่งพาให้ตัวเองถึงฝั่งฝัน

ผู้สมัคร ส.ก. ทีมพลังกรุงเทพ ต่างมีหมุดหมายชัดเจนว่า จะสนับสนุนแคนดิเดตผู้ว่าฯกทม.คนใด โดยแทบไม่ได้ยึดโยงอะไรกับแกนนำพรรค และพรรคก็กำหนดกฎเกณฑ์ได้ยาก

บททดสอบสนามนี้ เดิมพันจึงตกไปอยู่ที่แม่ทัพเมืองหลวง อย่าง “เสี่ยโต” ที่ประเดิมคุมเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิต

คนในแวดวงการเมืองรับรู้กันเป็นอย่างดีว่า “เสี่ยโต” หรือ “อภิชัย” มีความทะเยอทะยานบนถนนสายนี้มากแค่ไหน ว่ากันว่า เขาหมายตาเก้าอี้เสนาบดี มาตั้งแต่อยู่ “ประชาธิปัตย์” หากสถานการณ์ในพรรคหลังเลือกตั้งใหญ่ เกิดลมเปลี่ยนทิศ และมีปัจจัยแทรกซ้อนอื่นๆ เลยทำให้ชวด จนเจ้าตัวยังคาใจมาจนทุกวันนี้

ดังนั้น “เสี่ยโต” จึงพยายามมองหาลู่ทางฟาสท์แทร็กต่างๆ มีการเข้านอกออกในมูลนิธิป่ารอยต่อฯ เป็นว่าเล่น มีความใกล้ชิดกับ “พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา” และ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ตั้งแต่ยังไม่ถูกขับออกจาก พลังประชารัฐ

ชื่อของเสี่ยโตโผล่เข้าไปมีเอี่ยวกับ “พรรคเศรษฐกิจไทย” ตั้งแต่ก่อนที่ “ร.อ.ธรรมนัส” จะยึดเป็นรังใหม่ 

ในช่วงนั้นมีกระแสข่าวว่า ปลัดฉิ่ง “ฉัตรชัย พรหมเลิศ” อดีตปลัดมหาดไทย เตรียมทำพรรครองรับผู้มีอำนาจ โดย เสี่ยโตออกตัวจะขอนั่งเลขาธิการพรรค เพราะคิดว่าตำแหน่งนี้การันตีเก้าอี้รัฐมนตรี แต่สุดท้ายดีลไม่ลงตัว ทำให้ต้องแยกย้าย

"เสี่ยโต" ไม่ละความพยายาม เดินเกมการเมืองร่วมกับ "ร.อ.ธรรมนัส" อย่างใกล้ชิด เขาถือเป็นอีกคนที่รู้เบื้องหลัง แทบจะทุกเหลี่ยมมุม ถึงแผนก่อกบฎปฏิบัติการล้มกระดาน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ช่วง ก.ย.2564 ที่สุดท้าย แผนล่มไม่เป็นท่า

การย้ายมา “พลังประชารัฐ” ของ “เสี่ยโต” หนีไม่พ้นข้อสังเกตถึงความต้องการหาทางลัดพยายามเกาะเกี่ยวผู้มีอำนาจ เพื่ออัพเกรดเป็นรัฐมนตรี ในโควตา กทม.ที่ยังว่างหรือไม่ ท่ามกลางความนิยมของพรรค ตามผลสำรวจของโพลที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ

นอกจากนั้น สิ่งที่ทำให้ ส.ส.และรัฐมนตรีหลายคนใน "พลังประชารัฐ" แปลกใจมากก็คือ การที่ "เสี่ยโต" โหน “ประยุทธ์” ว่ายังขายได้ในสนาม "ส.ก." ทั้งที่ใครก็รู้ว่า ใจของเสี่ยโตที่มีต่อนายกฯ เป็นอย่างไร ซึ่ง "ร.อ.ธรรมนัส" คือคนที่รู้ดีที่สุด