เดินหน้าเลือกตั้ง “สภาทนายความ” - “ผอ.เลือกตั้ง” ชี้รักษาการถ่วงดุลอำนาจ

“ผอ.เลือกตั้ง” เดินหน้ารับสมัคร สภาทนายความ ยันทำถูกต้องตามกฎหมาย มองปมถูกค้าน เพราะ “กรรมการสภาฯ” ต้องการตั้งคนของตนเองรับตำแหน่ง ลั่นต้องรักษาการถ่วงดุล ด้าน “อนุพร” ร้องสื่อฯ ให้ตรวจสอบ การประกาศเลือกตั้ง ก่อน สภาทนายความชุดปัจจุบัน หมดวาระ 9 เดือน ยุติธรรมหรือไม่

          ผู้สื่อข่าวรายงานถึงบรรยากาศการเปิดรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรรับเลือกตั้งเป็นนายก และกรรมการสภาทนายความ ในวาระปี 2565 - 2568 เป็นวันแรก ตามประกาศของผู้อำนวยการการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ  ที่มีนายเจษฎา คงรอด กรรมการมรรยาทสภาทนายความ เป็นผู้อำนวยการเลืกตั้งฯ  ซึ่งเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 20 -27 กุมภาพันธ์ ที่ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งฯ ซอยสุคนธสวัสดิ์3 แยก 3 เขตลาดพร้าว

 

         โดยมีทนายความและทีมทนายความ เข้ายื่นใบสมัคร ก่อนเวลาเปิดรับสมัคร คือ 08.30  น. รวมทั้งสิ้น 4 ทีมและต้องจับฉลากเพื่อให้ได้หมายเลขที่จะใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง คือ ทีมนายสมบัติ วงศ์กำแหง ผู้อำนวยการสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ สภาทนายความ, ทีมนายอนุพร อรุณรัตน์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ, ทีมนายวิเชียร ชุบไธสง อดีตอุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ สภาทนายความและ ทีมนายสรัลชา ศรีชลวัฒนา ประธานชมรมเครือข่ายทนายความภูมิภาค (กลุ่มทนายบ้านนอก)

 

         ทั้งนี้นายเจษฎา ให้สัมภาษณ์ถึงการเปิดรับสมัครฯ ว่าเป็นไปอย่างเรียบร้อยและจะยังเปิดรับสมัครไปจนกว่าจะครบตามประกาศ คือ 20 -27 กุมภาพันธ์  ส่วนเหตุผลที่ต้องใช้อาคารสำนักงานของตนเป็นสถานที่รับสมัครฯ แทนใช้พื้นที่ของสภาทนายความนั้น เนื่องจากนายกสภาทนายความไม่อนุมัติให้ใช้สถานที่ แม้จะมีการประกาศวันเลือกตั้งวันที่ 24 เมษายนไปแล้ว ดังนั้นตนต้องหาสถานที่ใหม่ เดิมจะใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่มีผู้ไปร้องคัดค้านทำให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขอยกเลิกการใช้สถานที่ ดังนั้นต้องหาสถานที่ใหม่ แต่มีเวลาไม่พอจึงต้องใช้อาคารสำนักงานของตนเป็นศูนย์รับสมัครฯ

เดินหน้าเลือกตั้ง “สภาทนายความ” - “ผอ.เลือกตั้ง” ชี้รักษาการถ่วงดุลอำนาจ

         นายเจษฎา กล่าวด้วยว่าส่วนกรณีที่สภาทนายความ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ให้เพิกถอนและระงับกระบวนการที่เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ เมื่อวันที่ 27 มกราคมนั้น ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับรายละเอียดจากทางศาลปกครอง และตราบใดที่ศาลปกครองไม่มีคำพิพากษาเพิกถอน ตนต้องหน้าที่ปฏิบัติตามข้อบังคับ และถือเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นกระบวนการเปิดรับสมัครต้องเดินหน้าตามที่ประกาศไว้

 

 

         นายเจษฎา กล่าวด้วยว่ากระบวนการประกาศวันเปิดสมัครรับเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 20 -27 กุมภาพันธ์ และประกาศวันเลือกตั้ง ในวันที่ 24 เมษายนนั้น ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตามพ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 ข้อ 19 กำหนดให้คณะกรรมการมรรยาททนายความมีอำนาจหน้าที่ควบคุมเลือกตั้งนายกและกรรมการให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับ ส่วนข้อบังคับว่าด้วยการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ พ.ศ.2529ข้อ3 กำหนดให้อำนาจประธานกรรมการมรรยาททนายความเป็นผู้ออกประกาศการเลือกตั้งและแต่งตั้งผู้อำนวยการเลือกตั้ง ไม่ต้องผ่านคณะกรรมการมรรยาททนายความ

เดินหน้าเลือกตั้ง “สภาทนายความ” - “ผอ.เลือกตั้ง” ชี้รักษาการถ่วงดุลอำนาจ

         "ดังนั้นการแต่งตั้งจึงเป็นอำนาจเฉพาะตัวของประธานกรรมการมรรยาท การแต่งตั้งครั้งนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่สภาทนายความระบุว่าต้องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการมรรยาทฯ นั้น และนำไปเป็นประเด็นฟ้องให้เพิกถอนกระบวนการเลือกตั้ง ข้อเท็จจริงที่ประชุมกรรมการมรรยาทฯ เป็นเพียงการรับทราบตามที่ประธานกรรมการมรรยาทฯ แจ้งเท่านั้น ส่วนเหตุผลที่นำประเด็นดังกล่าวฟ้องร้องนั้น ตนไม่ทราบ" ผู้อำนวยการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ กล่าว

 

 

         นายเจษฎา กล่าวตอบคำถามต่อกรณีที่อาจมีประเด็นให้กระบวนจัดการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ ด้วยว่า ตนไม่กังวล เพราะตนทำตามหน้าที่และตามประกาศ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดีผู้ที่ยื่นใบสมัครเข้าใจ แต่มีเพียงทีมเดียวเท่านั้นที่ไม่ค่อยเข้าใจ

 

 

         ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่กรรมการสภาทนายความมองว่ากระบวนจัดการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้อ้างถึงความกังวลเรื่องความไม่โปร่งใส ผู้อำนวยการเลือกตั้งฯ กล่าวว่า  ปัจจุบันอำนาจควบคุมการเลือกตั้งเป็นของคณะกรรมการมรรยาท ที่มี นายพนิต บุญชะม้อย เป็นประธานฯ  โดยจะหมดวาระวันที่ 18 มีนาคม 2565 ส่วนกรรมการสภาทนายความปัจจุบัน ที่มีว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ รุยาพร เป็นนายกสภาทนายความ จะหมดวาระ 8 กันยายน 2565 เดิมระบบถ่วงดุลการเลือกตั้ง จะให้ กรรมการมรรยาท ที่ตั้งโดยสภาทนายความ ตามความเห็นชอบของสภานายกพิเศษ ที่มีรมว.ยุติธรรม เป็นประธาน เป็นผู้แต่งตั้งผู้อำนวยการเลือกตั้งที่มีความเป็นกลางทำหน้าที่ จึงเป็นการถ่วงดุลที่เหมาะสม แต่เมื่อปี 2557 ที่มีการรัฐประหาร ทำให้การเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ ถูกเลื่อนออกไปจากประเพณีปฏิบัติคือ เดือนเมษายน ไปเป็นเดือนกันยายน ทำให้คณะกรรมการสภาทนายความชุดใหม่ เข้ารับตำแหน่งในเดือนกันยายน ปี 2559

 

 

 

         “เมื่อวาระการดำรงตำแหน่งของนายกและกรรมการฯ ถูกเลื่อนไปเป็น 8 กันยายน จึงเกิดช่องว่าง มีความเป็นไปได้ที่สภาทนายความชุดปัจจุบัน ต้องการแต่งตั้งกรรมการมรรยาทชุดใหม่มาแทนชุดปัจจุบันที่จะหมดวาระในวันที่ 18 มีนาคม ผมมองว่าหากให้สภาทนายความชุดปัจจุบันตั้งกรรมการมรรยาทชุดใหม่ และให้กรรมการมรรยาทชุดใหม่เป็นผู้ตั้งกรรมการการเลือกตั้ง จะเกิดการรวบรัดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ เกิดการสืบทอดอำนาจ ทำลายระบบถ่วงดุลของสภาทนายความ ดังนั้นสิ่งที่กรรมการมรรยาทชุดปัจจุบันทำตอนนี้ คือ ตั้งผู้อำนวยการเลือกตั้ง เพื่อรักษาดุลอำนาจของสภาทนายความและการบริหาร” นายเจษฎา กล่าว

 

เดินหน้าเลือกตั้ง “สภาทนายความ” - “ผอ.เลือกตั้ง” ชี้รักษาการถ่วงดุลอำนาจ

         ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่สภาทนายความตั้งประธานกรรมการมรรยาทชุดใหม่ และทำหน้าที่ในวันที่ 19 มีนาคม จะมีผลต่อการเดินหน้าจัดการเเลือกตั้งหรือไม่ นายเจษฎา กล่าวว่า ตามกระบวนการและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องไม่ได้ให้อำนาจในการเพิกถอนกระบวนการจัดการเลือกตั้งที่เดินหน้าไปแล้ว ดังนั้นต้องเดินหน้ากระบวนการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ

 

         เมื่อถามว่าการประกาศกระบวนจัดการเลือกตั้งเร็วเกินไปหรือไม่ เพราะวาระกรรมการสภาทนายความปัจจุบันจะครบวาระ 8 กันยายน นายเจษฎา กล่าวว่า "ไม่เร็ว เพราะสมัยที่แล้ว ชุดที่ว่าที่ร.ต.ถวัลย์ เข้ามารับตำแหน่งปี 2559 เลือกตั้งเดือนเมษายน และเข้ารับหน้าที่ต่อวันที่ 9 กันยายน ดังนั้นการจัดเลือกตั้งเป็นประเพณีที่มีการเลือกตั้งเดือนเมษายน อีกทั้งไม่มีผลลดทอนระยะเวลาดำรงตำแหน่งของสภาทนายความแต่อย่างใด"

 

 

         ขณะที่นายวิเชียร ฐานะผู้สมัครนายกสภาทนายความ ให้สัมภาษณ์ว่า จากการพิจารณาข้อกฎหมายของประกาศผู้อำนวยการเลือกตั้งฯ ต่อการจัดการเลือกตั้ง ถือว่าไม่ขัดกฎหมาย แม้สภาทนายความจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองก็ตาม ทั้งนี้ตนเชื่อว่าแม้จะฟ้องร้องกันแต่จะไม่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้โมฆะ อย่างไรก็ดีในการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ ปี 2562 เคยมีกรณียื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองในลักษณะคล้ายกันแต่ศาลปกครองไม่รับคำฟ้อง จึงมั่นใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จึงเดินหน้าได้แน่นอน ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าอาจมีการใช้อิทธิพลครอบงำการเลือกตั้งครั้งนี้ ตนไม่กลัวเพราะการประกอบวิชาชีพทนายความ ต้องมีความเป็นอิสระ ไม่กลัวอิทธิพลใดๆ

เดินหน้าเลือกตั้ง “สภาทนายความ” - “ผอ.เลือกตั้ง” ชี้รักษาการถ่วงดุลอำนาจ

         ทางด้าน นายอนุพร ฐานะผู้สมัครนายกสภาทนายความ ให้สัมภาษณ์ ว่า ตนไม่มีความมั่นใจหรือรู้สึกอะไรต่อการจัดการเลือกตั้งรอบนี้ แต่ต้องมาสมัครเพื่อรักษาสิทธิ หากเกิดกรณีที่การเลือกตั้งครั้งนี้เดินหน้าไม่ได้ ตนจะขอใช้สิทธิตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป อย่างไรก็ดีตนขอให้ผู้สื่อข่าวช่วยติดตามและวิเคราะห์ด้วยว่าการประกาศให้มีการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2564 ก่อนที่สภาทนายความชุดปัจจุบันจะหมดวาระ ในเดือนกันยายน 2565 ซึ่งมีเวลาทำงาน 8 เดือน มีความบริสุทธิ์ ยุติธรรมหรือไม่ ทั้งนี้ตามประเพณีที่เคยปฏิบัติการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนเดียวกันกับการควบวาระของนายกและกรรมการสภาทนายความ คือ เดือนเมษายน

เดินหน้าเลือกตั้ง “สภาทนายความ” - “ผอ.เลือกตั้ง” ชี้รักษาการถ่วงดุลอำนาจ


         “เมื่อมีเหตุที่ต้องเลื่อนการดำรงตำแหน่ง จากเมษายน ไปเป็นกันยายน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อสมัยที่แล้ว การจัดการเลือกตั้งควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ส่วนที่อ้างว่าตามกฎหมาย ต้องเป็นเดือนเมษายนนั้น เป็นการบังคับเฉพาะการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีเท่านั้น ไม่ใช่การจัดเลือกตั้ง ดังนั้นควรพิจารณาให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งผมมองว่าปรับเปลี่ยนได้ เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ ยุติธรรมกับทุกฝ่าย” นายอนุพร กล่าว

 

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (20 กุมภาพันธ์) เป็นวันทนายความ โดยเมื่อเวลา 07.00 น. ที่ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์  เป็นประธานในพิธีทำบุญถวายภัตตาหารเช้าพระสงฆ์จำนวน 9 รูป เพื่อความเป็นสิริมงคลเนื่องในโอกาส “วันทนายความ” ประจำปี 2564  ต่อจากนั้นได้มีมีพิธีมอบโล่ทนายความอาสาดีเด่น ให้แก่ทนายความอาสา ที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 10 ท่าน ได้แก่ นายสันติภาพ รุมนาค นางสาวณัฐจรีย์ วสุนันต์ นางทัดดาว จตุรภากร นายอธิป กณิศาณรัณ นายอุทัย เปี่ยมสกุล นายกุศล อนุเคราะห์ นางสาวมาลีทิพย์ จันทร์คง นายไพบูลย์ รุจิพุฒ นายชยันต์ แจ่มเจริญ และนายพรศักดิ์ เพชรแดง

 

เดินหน้าเลือกตั้ง “สภาทนายความ” - “ผอ.เลือกตั้ง” ชี้รักษาการถ่วงดุลอำนาจ