3 ปีสภาฯ ไม่แคร์กระแส"อับปาง" เกม 2 ขั้ว ล่มประชุม 17 ครั้ง

3 ปีสภาฯ ไม่แคร์กระแส"อับปาง"  เกม 2 ขั้ว ล่มประชุม 17 ครั้ง

ต้องติดตามว่า ส.ส.ในสภาฯ จะตระหนักถึงเสียงวิจารณ์ถึงปัญหาสภาล่มซ้ำซากหรือไม่ จะยอมปรับเกม-ปรับตัวทำงานเพื่อประชาชนอย่างที่กล่าวอ้าง หรือยังจ้องจะเล่นเกมทางการเมืองต่อ โดยไม่แคร์กระแส และฉายา “สภาอับปาง” 

นับวันยิ่งสาละวันเตี้ยลง สำหรับกลไก “นิติบัญญัติ” ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 เสาหลักประชาธิปไตยของประเทศไทย ภายหลังสภาผู้แทนราษฎร ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง จนทำให้เกิดเหตุ “สภาฯล่ม” บ่อยครั้ง

แม้ในมุมของ “ขั้วรัฐบาล” พยายามโยนความผิดให้ “ขั้วฝ่ายค้าน” ว่าจ้องเล่นเกมการเมือง ด้วยการเสนอให้นับองค์ประชุมอยู่บ่อยครั้ง จนเป็นเหตุให้สภาฯ ล่ม แต่เมื่อขั้วรัฐบาลรู้อยู่เต็มอกว่าขั้วฝ่ายค้านต้องการเล่นเกมดิสเครดิต แต่กลับเมินเฉย ไม่เข้าร่วมการประชุมสภาฯ จนเป็นต้นเหตุให้ไม่ครบองค์ประชุม

อายุเทอมของสภาฯเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุสภาฯ ล่มมาแล้วทั้งหมด 17 ครั้ง โดยไม่มีท่าทีว่าสถานการณ์สภาฯล่มจะยุติลงง่ายๆ เพราะนอกจากจะเป็นเกมการต่อสู้กันระหว่างขั้วรัฐบาลกับขั้วฝ่ายค้านแล้ว ภายในขั้วรัฐบาลยังมีปมแตกแยกกันเอง 

เช่นเดียวกับขั้วฝ่ายค้าน ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลต่างชิงจังหวะทิ่มแทงกันเอง เพื่อแย่งแต้มการเมืองจากแฟนคลับพรรคขั้วประชาธิปไตย

การทำหน้าที่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาได้เกิดเหตุสภาล่มรวมแล้ว 17 ครั้ง ซึ่งสื่อมวลชนประจำรัฐสภาได้สะท้อนหน้าที่ผ่าน ฉายารัฐสภาประจำปี 2564 ว่า “สภาอับปาง” อันหมายถึง สภาผู้แทนราษฎรเปรียบเสมือนเรือขนาดใหญ่ บรรทุกความรับผิดชอบชีวิตของประชาชน และงานบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยวิธีการเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับต่างๆ เพื่อให้หน่วยราชการได้มีอำนาจไปบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร แต่พบว่าเรือสภาฯ ลำนี้ในรอบปี 2564 กลับประสบปัญหาสภาล่มอับปาง 

โดยเริ่มตั้งแต่ปลายสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสมัยแรก และหนักข้อขึ้นตลอดเดือน พ.ย.และ ธ.ค.2564 ซึ่งตามปกติปัญหาสภาล่มไม่ใช่เรื่องปกติ แต่สภาฯชุดนี้ กลับทำให้เห็นอยู่บ่อยครั้งจนกลายเป็นความซ้ำซาก และไม่คิดที่จะอุดรูรั่วของเรือเพื่อป้องกันปัญหา

การที่สภาอับปางบ่อยกว่าเรือล่ม จึงเป็นการสะท้อนว่า ส.ส.ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ยึดถือความรับผิดชอบและหน้าที่ของ ส.ส.เป็นที่ตั้ง เห็นได้ดังเหตุการณ์ “สภาล่มซ้ำซาก”

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมเหตุการณ์ “สภาฯล่ม” ทั้ง 17 ครั้ง มานำเสนอ เพื่อสะท้อนสภาพปัญหาเกมการเมืองของแต่ละฝ่าย ที่ส่งผลต่อการพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ ดังนี้ 

ปี 2562 

ครั้งแรก 24 ก.ค.องค์ประชุมไม่ครบ หลังเปิดให้ ส.ส.หารือ ก่อนเข้าประชุม

ครั้งที่ 2 วันที่ 27 พ.ย. ระหว่างการเตรียมนับคะแนนใหม่ ว่าจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและผลกระทบ จากการใช้ประกาศคำสั่ง คสช. ปรากฎว่าองค์ประชุมไม่ครบ

ครั้งที่ 3 วันที่ 28 พ.ย. ระหว่างวาระพิจารณาตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่ง คสช.และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.

ปี 2563 

ครั้งที่ 4 วันที่ 8 ก.ค.ระหว่างวาระรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ

ปี 2564 

ครั้งที่ 5 วันที่ 30 มิ.ย.ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่...) พ.ศ...

ครั้งที่ 6 วันที่ 1 ก.ค. ระหว่างจะพิจารณาญัตติด่วนแก้โควิด-19  

ครั้งที่ 7 วันที่ 10 ก.ย. ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. .... 

ครั้งที่ 8 วันที่ 17 ก.ย. ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....

ครั้งที่ 9 วันที่่ 3 พ.ย. ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

     ครั้งที่ 10 วันที่ 17 พ.ย.ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง (ฉบับที่...) พ.ศ....

ครั้งที่ 11 วันที่ 15 ธ.ค. ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ครั้งที่ 12 วันที่ 17 ธ.ค. ระหว่างพิจารณารายงานผลพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ

ปี 2565 

ครั้งที่ 13 วันที่19 ม.ค. ระหว่างการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ...รวม 5 ฉบับ

ครั้งที่ 14 วันที่่่ 26 ม.ค.ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ..... หรือ กฎหมาย JSOC ซึ่งสมาชิกเข้าประชุมบางตา และไม่มีการนับองค์ประชุม

ครั้งที่ 15 วันที่ 2 ก.พ. ระหว่างขอมติสภาฯ เพื่อส่ง ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่...) พ.ศ... 

ครั้งที่ 16 วันที่ 4 ก.พ. ระหว่างขอมติรายงานผลกระทบ และแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทย                  ครั้งที่ 17 วันที่ 10 ก.พ. ระหว่างพิจารณารายงานประจำปีของหน่วยงาน

หากนับเรื่องค้างพิจารณาที่เป็นร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 30 เรื่อง มี “พรรคก้าวไกล” เป็นเจ้าของ 12 เรื่อง พรรคประชาชาติ 1 เรื่อง ของพรรคร่วมรัฐบาล 15 เรื่อง ได้แก่ ประชาธิปัตย์ 8 เรื่อง ภูมิใจไทย 5 ฉบับ ชาติไทยพัฒนา 1 เรื่อง พลังประชารัฐ 1 เรื่อง และมีร่างของภาคประชาชน 2 เรื่อง ว่าด้วยการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

ผลงาน “สภาฯล่ม” ระดับพรีเมียม ไม่แน่ใจว่า “ส.ส.” จะภูมิใจที่เอาชนะคะคานทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามได้หรือไม่ แต่ประชาชนย่อมไม่พอใจอย่างแน่นอน เนื่องจากกลไกสภาฯ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นความหวังว่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ ยิ่งอยู่ในช่วงข้าวยากหมากแพง ประชาชนยิ่งตั้งความหวังให้หน่วยงานภาครัฐดูแลเอาใจใส่ ช่วยเหลือแก้ปัญหาให้

หลังจากนี้ ต้องติดตามว่า ส.ส.ในสภาฯ จะตระหนักถึงเสียงวิจารณ์ถึงปัญหาสภาล่มซ้ำซากหรือไม่ จะยอมปรับเกม-ปรับตัวทำงานเพื่อประชาชนอย่างที่กล่าวอ้าง หรือยังจ้องจะเล่นเกมทางการเมืองต่อ โดยไม่แคร์กระแส และฉายา “สภาอับปาง”