'ม็อบปลดแอก' ปรับยุทธศาสตร์ ลุยกดดันแก้รธน.-ชิงอำนาจรัฐ

'ม็อบปลดแอก' ปรับยุทธศาสตร์ ลุยกดดันแก้รธน.-ชิงอำนาจรัฐ

การชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 ส.ค.2563 เพื่อทวงถามคำตอบจากรัฐบาลถึงข้อเรียกร้องก่อนหน้านี้

 ได้ปรากฎแนวร่วมจากกลุ่มต่างๆ จนขยายวงจากม็อบนักเรียน นิสิต นักศึกษา ยกระดับขยับจากแฟลชม็อบ เป็นการลงถนนตั้งเวทีปราศรัย ขณะที่จำนวนมวลชนก็เพิ่มขึ้นตามแรงท้าทาย เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้เป็นแค่ม็อบโซเชียล

 ฝ่ายความมั่นคงประเมินสถานการณ์ครั้งนี้ว่า ยอดผู้ชุมนุมสูงขึ้นกว่าทุกครั้ง ตัวเลขอยู่ราวๆ 10,000 คน เนื่องจากมีมวลชนของพรรคการเมืองเข้าไปเติม หลังจากพรรคการเมืองบางพรรคประกาศสนับสนุนม็อบอย่างชัดเจน นอกจากนั้นยังมีคนดัง ศิลปิน ดาราบางส่วนที่มีรสนิยมทางการเมืองตรงข้ามรัฐบาลชักชวนไปร่วมด้วย

ขณะเดียวกัน ยังมีการตั้งข้อสังเกต กรณีแกนนำนักศึกษาบางราย เปลี่ยนท่าที ไม่พูดถึงสถาบัน และยังเดินทางกลับก่อนม็อบเลิก สะท้อนว่าแกนนำนักศึกษาบางส่วนมีฝ่ายการเมืองอยู่เบื้องหลัง และน่าจะถูกสั่งให้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เพื่อลดกระแสต้าน หันมากดดันให้เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วยุบสภา จัดการเลือกตั้งใหม่อย่างรวดเร็วดีกว่า เพื่อให้ได้อำนาจรัฐ 

เพราะแกนนำฝ่ายการเมืองมองว่า กระแสจุดติดแล้ว และหากมีการเลือกตั้งใหม่ พวกตนจะได้ประโยชน์ แต่หากปล่อยให้ม็อบโจมตีสถาบันต่อไป อาจกลายเป็นเงื่อนไขการปฏิวัติรอบใหม่ ทำให้พวกตนไม่ได้อำนาจรัฐ

ฉะนั้นสถานการณ์นับจากนี้ ฝ่ายความมั่นคงจึงวิเคราะห์ว่า การชุมนุมจะยกระดับขึ้น เพียงแต่จะไม่พาดพิงสถาบันเบื้องสูง ประเมินว่าอาจมีการนัดชุมนุมใหญ่ลงถนนช่วงเดือนกันยายน หรือตุลาคมนี้ ซึ่งจะเป็นช่วงที่มาตรการความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของรัฐบาลหมดลงทุกมาตรการ จึงมีแนวโน้มที่กลุ่มคนตกงาน และผู้ที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ จะผสมโรงออกมาร่วมชุมนุมไล่รัฐบาลด้วย

การประเมินของฝ่ายความมั่นคง สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ ผศ.ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น เลขาธิการกลุ่มส่งเสริมธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ที่บอกว่า หลังจากดูเกมการวางยุทธศาสตร์การชุมนุมของ “กลุ่มประชาชนปลดแอก” ล่าสุดแล้ว ไม่มีกลุ่มแกนนำม็อบจากธรรมศาสตร์ ที่เรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นเวที มองว่าน่าจะมีการปรับยุทธศาสตร์ใหม่ในลักษณะ กินทีละคำคือเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งน่าจะตรงกับบุคลิกภาพของสังคมไทยมากกว่า

     ผศ.ดร.เชษฐา อธิบายว่า ยุทธศาสตร์ “กินทีละคำ” หมายถึงว่า ท้ายสุดแล้วฝ่ายต้านรัฐบาลจะเลือกวิถีทางประนีประนอมในระดับหนึ่ง เริ่มจากการให้บางม็อบส่งข้อเสนอสุดโต่งเรื่องสถาบัน จากนั้นก็ให้บางม็อบถอยมายืนยัน 3 ข้อเรียกร้องแรก (แก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา-ลาออก หยุดคุกคาม) เมื่อรัฐบาลตอบรับข้อเสนอเรื่องสถาบันไม่ได้ ก็ต้องยอมประนีประนอมมาดำเนินการเรื่องข้อเรียกร้อง 3 ข้อหลักของผู้ชุมนุม คือต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้ตั้ง ส.ส.ร. หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่

แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะยังไม่มีการแตะเรื่องโครงสร้างการปกครองหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่จะมุ่งไปที่การแก้กติกาเลือกตั้ง และตัดอำนาจ ส.ว. ไม่ให้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่โดยเร็วภายใต้กติกาใหม่ ซึ่งจะทำให้กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมีโอกาสชนะเลือกตั้ง และเข้าไปเป็นรัฐบาลกุมอำนาจแทน แล้วลดทอนบทบาทของกองทัพเพื่อป้องกันการรัฐประหาร 

จากนั้นก็ตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วรอดูกระแสอีกครั้งว่าจะแก้ไขได้ระดับไหน เพื่อเลี้ยงกระแสสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ในประเด็นที่พวกตนจุดเชื้อไฟไว้ให้เป็นฐานทางการเมืองต่อไป

จับตา “เซลล์อิสระ” ชุมนุมย่อย

ทางด้าน รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์การชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอกครั้งนี้ว่า ถือว่าการชุมนุมมีการขยายตัวมากขึ้นเป็นลำดับ จากการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้วยรวมถึงการระดมมวลชนจากแนวร่วมที่ผ่านมา ทำให้มีผู้มาร่วมชุมนุมกว่าทุกๆ ครั้ง 

ส่วนเนื้อหาการชุมนุมได้ถูกพูดถึงการเมืองในมิติใหม่ๆ นอกจากการพูดถึงประเด็นการเมืองในระดับชาติ อาทิ เรื่องเพศสภาพ สิ่งแวดล้อม ทำให้มีผู้มาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก ส่วนข้อเรียกร้อง 3 เรื่องของผู้ชุมนุมนั้น วันนี้สิ่งสำคัญทุกฝ่ายต้องมาคิดร่วมกันในเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรง รวมถึงการดำเนินการโดยสันติวิธีที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากนี้ โดยมีกลไกที่ต้องเกิดขึ้นจากนี้มาจากการพูดคุยและหารือร่วมกัน 

“แม้กระทั่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันนี้เป็นประเด็นที่สังคมตกผลึกกันอย่างกว้างขวางแล้ว จึงเป็นประเด็นที่ต้องช่วยกันสร้างเวทีในการพูดคุย เพื่อให้กติกาเป็นที่ยอมรับร่วมกัน เพื่อให้ความขัดแย้งตรงนี้บรรเทาเบาบางหรือคลี่คลายลงไปได้” รศ.ดร.ยุทธพร ระบุ

ขณะที่เส้นตายภายในเดือน ก.ย.ตามที่ผู้ชุมนุมออกมาเรียกร้อง จะทำให้สถานการณ์บ้านเมืองเป็นไปในทิศทางใดนั้น รศ.ดร.ยุทธพร ประเมินทิศทางการชุมนุมหลังจากนี้ "คาดว่าจะไม่มีเวทีใหญ่เกิดขึ้น แต่แน่นอนว่าการชุมนุมในพื้นที่ย่อยในแต่ละจังหวัด หรือภายในสถาบันการศึกษาต่างๆ มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จะเป็นการชุมนุมที่เป็นเหมือนเซลล์อิสระอยู่ ดังนั้นการเคลื่อนไหวเพื่อเชื่อมต่อเซลล์เหล่านี้หรือทำให้เกิดการชุมนุมใหญ่ รวมถึงเรื่องปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น อาจทำให้เกิดแนวร่วมจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจด้วย"

 

2 ทางออกฝ่าจุดเสี่ยงการเมือง

ขณะที่ รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand มองว่า การชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากไปแตะเรื่องหนึ่ง จนมองว่าเป็นจุดเสื่อมของการชุมนุม แต่เมื่อมาดูรูปแบบการชุมนุมวันที่ 16 ส.ค.ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ เห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวถือว่า จุดติด” ดังภาพที่เห็นว่ามีผู้ร่วมชุมนุมมากมาย

การจุดติดในครั้งนี้ ทำให้มีความเปลี่ยนแปลงในความคิดของคนหลายกลุ่ม เห็นได้จากความคิดของส.ว.หลายท่าน อาทิ นายวันชัย สอนศิริ นายคำนูณ สิทธิสมาน ที่มีการเปลี่ยนแปลงความคิดในส่วนนี้ 

ดังนั้นเมื่อท่านเปลี่ยนแปลงความคิด โดยมองคนเหล่านี้อย่างละมุนละม่อม ก็อยากให้มีแอคชั่นตามมา จะบอกว่ารับฟังเฉยๆ ไม่ได้ รัฐบาลเองก็ควรมีความจริงใจที่จะรับฟังปัญหาตรงนี้ แทนที่จะไปสั่งห้ามชุมนุม

ส่วนข้อกังวลที่ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะซ้ำรอยเหตุการณ์ 16 ต.ค. 2519 นั้น วันนี้กลุ่มที่ไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงก็อ้างอย่างเดียวว่า รัฐธรรมนูญผ่านประชามติมาแล้ว คิดว่าเรื่องนี้รัฐบาลทำได้อยู่แล้ว ในการขอประชามติจากประชาชน ว่าอยากแก้หรือไม่อยากแก้

 สิ่งที่เราต้องยอมรับคือวันนี้รัฐธรรมนูญใช้มาแล้ว 3 ปี ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาในเรื่องการใช้รัฐธรรมนูญอยู่พอสมควร เมื่อมีปัญหาเราต้องมาถามประชาชนอีกครั้งว่า อยากจะให้แก้หรือไม่แก้ ซึ่งการทำประชามติอีกครั้ง อาจจะพ่วงมาด้วยคำถามว่า หากจะแก้จะให้แก้ประเด็นใด ในรูปแบบให้มี ส.ส.ร. หรือแก้รายมาตรา แต่หากเขาบอกว่าไม่อยากแก้ มันก็ต้องหยุด ถ้าแต่ถ้าเขาบอกให้แก้ คนที่มีอำนาจแก้ก็อย่าขวาง

ส่วนการตั้ง ส.ส.ร. ประเด็นนี้ต้องใช้สังคมกดดันรัฐบาล เพราะมาตรา 256 นั้นหากไม่มีอะไรมากดดันก็คงไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นต้องสร้างกระแสสังคมให้ได้ก่อน แต่หากจะให้ตัวเลขชัดเจนก็ต้องดูที่ประชามติรัฐบาล เชื่อว่าแนวทางดังกล่าวหากรัฐบาลเป็นฝ่ายที่ออกมาแสดงท่าทีส่วนตัวมองว่า รัฐบาลจะได้ใช้ได้ใจคนไทยด้วยแต่เวลานี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะพยายามยื้อเวลาเท่านั้น

การที่บอกว่าการทำประชามติจะต้องมีค่าใช้จ่ายนั้น ประชาธิปไตยมีค่าใช้จ่าย การที่เสียเงิน การเสียเงินเพื่อให้ความวุ่นวายในบ้านเมืองนี้มีทางออก มันคุ้ม ไม่เช่นนั้นมันก็มีการเคลื่อนไหวอยู่เช่นนี้