จัดชุด 'เลขดัง' ต้นตอโกงรางวัลที่ 1

จัดชุด 'เลขดัง' ต้นตอโกงรางวัลที่ 1

ขยายความจากคดี "หวยอลวน" แย่งเลขชุด "26" จำนวน 5 ใบ ที่ถูกรางวัลที่ 1 มูลค่า 30 ล้านบาท ที่กำลังเป็นข่าวสะเทือนประเทศขณะนี้

คำถามสำคัญที่สุดมี 2 คำถาม และอาจนำไปสู่การคลี่คลายคดีได้ว่าใครเป็นเจ้าของสลากรางวัลที่ 1 ตัวจริงกันแน่ ก็คือเมื่อเกิดปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์สลากที่ถูกรางวัล จะมีทางตรวจสอบได้หรือไม่ว่า สลากแต่ละใบถูกส่งไปขายที่ไหนกันบ้าง เมื่อสลากถูกพิมพ์ออกมาแล้ว จะไปถึงมือพ่อค้าแม่ค้าคนไหน แต่ละคนได้เลขอะไรบ้าง เพราะถ้ารู้แน่ๆ ก็ไม่ต้องมานั่งเถียงกันว่าสลากใบนี้ใครเป็นคนขาย และขายให้กับใคร กับอีกคำถามหนึ่งคือ การจัดชุด “เลขสวย-เลขดัง” เพื่อขายเกินราคา แม้จะผิดกฎหมายแน่ๆ แต่หาต้นตอได้หรือไม่

คำถามนี้ถ้าจะไล่เรียงหาคำตอบ เราต้องรู้รูปแบบการกระจายสลากกันก่อน โดยใน 1 เดือนมีการออกสลาก 2 งวด คือ งวดต้นเดือนและกลางเดือน กองสลากจะพิมพ์สลากออกมาจำนวน 80 ล้านใบ จำนวนนี้ถูกแบ่งการกระจายออกเป็น 2 ระบบ

ระบบที่ 1 จำนวนสลาก รวมแล้ว 30 ล้านใบ เป็นการกระจายสู่ผู้ขายผ่านมูลนิธิและองค์กรการกุศลต่างๆ เช่น สมาคมคนพิการฯ สมาคมสังคมสงเคราะห์ฯ คนที่จะได้ไปขายคือสมาชิกของสมาคมเหล่านี้ โดยคนที่เป็นสมาชิกที่อยากขายล็อตเตอรี่ ต้องไปรับสลากที่องค์กรของตัวเอง สมาชิก 1 คนจะได้ไม่เกิน 5 เล่ม โดย 1 เล่มมี 100 ใบ แปลว่าต่อคนได้มากที่สุดคือ 500 ใบ และที่สำคัญ 500 ใบที่ได้ไป เลขจะไม่ซ้ำกันเลย

ระบบที่ 2 ก็คือที่เหลืออีก 50 ล้านใบ จะถูกกระจายแบบ “สั่งซื้อและจองล่วงหน้า” โดยกองสลากคิดรูปแบบนี้เพื่อป้องกันการรวมชุดสลาก “เลขสวย” และการกักตุนสลากเพื่อโก่งราคา ซึ่งแต่เดิม ถ้ายังจำกันได้ เคยมีปัญหาเรื่อง “5 เสือกองสลาก” ที่ได้โควต้าสลากจำนวนมากทุกงวด ทำให้รัฐบาล คสช.ตั้งแท่นเข้ามาจัดการ และรื้อระบบกระจายสลากใหม่ทั้งหมด

ระบบการ “สั่งซื้อและจองล่วงหน้า” ทำได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต แต่ที่นิยมมากกว่าคือแบบ "net bank" หรืออินเทอร์เน็ต แบงค์กิ้ง ของธนาคารกรุงไทย เมื่อผู้ที่ต้องการขายสลากสามารถสั่งจองได้ ก็ให้ไปรับสลากที่สำนักงานไปรษณีย์ แต่สลากที่ได้ไปก็จะเหมือนกับระบบแรก คือ ได้ไปคนละไม่เกิน 50 เล่ม เล่มหนึ่งมี 100 ใบ และเลขไม่ซ้ำกัน

นี่คือระบบการกระจายสลากแบบง่ายๆ ถึงตรงนี้หลายคนที่นึกภาพตามก็อาจสงสัยว่า แล้วที่ขายๆ กันตามแผง ทำไมถึงมีเลขเหมือนกันตั้งหลายใบ ส่วนมากมีเป็นชุดๆ ด้วยซ้ำ นี่คือต้นตอหนึ่งของปัญหา

เรื่องของเรื่องก็คือ หลังจากที่ผู้ขายทั้ง 2 ระบบได้สลากของตัวเองไป และเลขไม่ซ้ำกัน จะมีขบวนการหนึ่งที่อยู่นอกเหนือกฎหมาย (คือกฎหมายก็ทำอะไรไม่ได้) เราเรียกว่า “ยี่ปั๊ว” คือพวกตัวกลางที่รับซื้อสลากจากคนที่ไปลงทะเบียนจองและรับมาจำหน่าย ยี่ปั๊วจะรวมล็อตเตอรี่มาเยอะๆ จากนั้นก็จะมา “รวมชุด” เอาเลขเหมือนกันมารวมกันเป็นชุดๆ เอาไว้ โดยเฉพาะ “เลขดัง” ที่หวยใต้ดินไม่รับแทง หรือ “แทงแบบมีอั้น” จากนั้นก็ปล่อยต่อให้คนขายในเครือข่ายนำไปขายต่อในราคาสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด

นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สลากราคาแพงเกินจริง เพราะต้นทุนในการรวมชุดเลขเด็ด เลขดัง อย่างกรณีของ ครูปรีชา ใคร่ครวญ ที่อ้างว่าถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 เป็นเงิน 30 ล้านบาท แต่ล็อตเตอรี่หาย ก็ยอมรับว่าซื้อสลากมาในราคาใบละ 140 บาท ชุด 5 ใบราคาสูงถึง 700 บาท จากที่ขายจริง 80 บาท 5 ใบก็แค่ 400 บาท เพราะงวดวันที่ 1 พ.ย.60 เลข 26 เป็นเลขดัง หวยใต้ดินไม่รับแทง

กล่าวโดยสรุปในประเด็นนี้ ถ้าอยากจะรู้ว่าสลากเลขไหนถูกส่งไปพื้นที่ใดบ้าง คำตอบคือไม่มีทางรู้เลย เราจะรู้แค่ว่าต้นขั้วคนจองและได้เลขนี้ไปมีใครบ้าง ซึ่งก็แปลว่ามีหลายคนได้เลขเดียวกัน แต่ปลายทางต้องไปผ่าน “ยี่ปั๊ว” เพื่อไปรวมชุด ทำให้ไม่รู้ว่าสลากแต่ละใบ แต่ละเล่ม จริงๆ แล้วไปขายอยู่ที่ไหนกันบ้าง เพราะ “ยี่ปั๊ว” จะมีเครือข่ายกว้างขวางหลายจังหวัด แต่พวก “ยี่ปั๊ว” นี่เอง ที่จะรู้กันเลยว่า ล็อตเตอรี่ที่ถูกรางวัลที่ 1 เป็นชุดที่ตัวเองจัดหรือเปล่า

ปัญหาการรวมชุดสลากนี้ ทำให้สลากแต่ละชุดนอกจากจะมีราคาแพงแล้ว ยังมีมูลค่าสูงมากเมื่อถูกรางวัล อย่างชุด 5 ใบที่เป็นปัญหาแย่งชิงกันอยู่ พอถูกรางวัลที่ 1 มูลค่ารางวัลก็สูงถึง 30 ล้านบาท น่าจะเป็นสาเหตุให้เกิด “แก๊งตกหวย” เป็นวงจรมิจฉาชีพออกมาอ้างตัวว่าตัวเองเป็นเจ้าของล็อตเตอรี่ตัวจริงจนวุ่นวายไปหมด

จากปัญหานี้ ล่าสุดทางกองสลากได้เตรียมจัดเลขชุด 5 ใบขายเอง ในราคา 400 บาท จากที่ปัจจุบันต้องซื้อกันถึง 700 บาทแล้ว โดยนำร่องสลาก 5 ล้านใบก่อน...ต้องตามดูว่าจะแก้ปัญหาได้หรือไม่