เซ็ตไทม์ไลน์แก้‘รัฐธรรมนูญ’ ดึงเวลา‘คิกออฟ’ต้นปี 68

เซ็ตไทม์ไลน์แก้‘รัฐธรรมนูญ’ ดึงเวลา‘คิกออฟ’ต้นปี 68

หลัง ศาลรธน.ตีตกคำร้องของรัฐสภา ทำให้ ผู้มีอำนาจ ต้องกลับมาเซ็ตไทม์ไลน์ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ใหม่ หนทางยื้อ ยังมี ผ่านเกมแก้พ.ร.บ.ประชามติ ก่อนทำประชามติจริงๆ

Key Point :

  • หลังศาลรัฐธรรมนูญตีตกคำร้องของรัฐสภา ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดภาพชัดในทางเดียว คือ ลงมือทำประชามติ
  •  การตัดสินใจทำประชามติ เป็น อำนาจของรัฐบาล ที่ต้องหารือกับ กกต. ทว่าในแนวทางร่างคำถามตามกรรมการที่รับผิดชอบเสนอมีความเสี่ยงไม่ผ่าน
  • ออฟชั่นที่อาจมาก่อนทำประชามติถามความเห็นประชาชน คือ การแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อตัดเงื่อนไขใช้เสียงเกินกึ่ง 2 ชั้น ที่อาจทำให้ ประชามติแก้รัฐธรรมนูญล่ม
  • ออฟชั่นที่ว่า กระทบต่อไทม์ไลน์การแก้รัฐธรรมนูญที่จะยืดเวลาออกไปอย่างน้อยต้นปี68

 

พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญตีตกคำร้องของ “ประธานรัฐสภา” ที่ส่งเรื่องตามมติเสียงข้างมากของรัฐสภา ให้วินิจฉัยในกระบวนการได้มาซึ่ง “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”  

เท่ากับว่าเป็นการนำทางไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องเริ่มไทม์ไลน์ ลงมือทำ หลังจากที่ “รัฐบาล” ยื้อเรื่องนี้มากเกือบ 7 เดือน

ส่วนทางออกที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ อาจจะเหลือเพียง 1 ทาง คือ เดินตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งกำหนดให้กระบวนการ ยกเครื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องผ่านการออกเสียงประชามติเสียก่อน

แม้จะมีข้อเรียกร้องให้ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา ทบทวนการตัดสินใจที่ไม่บรรจุร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับของพรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกลที่เสนอต่อรัฐสภา

ทว่า การตัดสินใจของประธานรัฐสภาคงยากจะกลับคำตัวเอง เพราะหากทำเช่นนั้นย่อมเป็นการสั่นคลอนความเชื่อถือ ศรัทธาของสมาชิกรัฐสภาได้ และอาจเป็นจุดที่ทำให้ “บารมี” ประธานรัฐสภา ถูกเขย่าท่ามกลางกระแสการปรับเก้าอี้ทางการเมืองในช่วงนี้

มีความเห็นจาก “ชูศักดิ์ ศิรินิล” กุนซือพรรคเพื่อไทย ที่ยอมรับถึงแนวทางที่อาจเป็นไปได้ต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คือการออกเสียงประชามติ ตามการศึกษาของ “คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560”  ชุดที่มี “ภูมิธรรม เวชยชัย” เป็นประธาน 

ที่ว่า ต้องทำประชามติ 3 ครั้ง คือ ครั้งแรก เพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ครั้งสอง หลังจากที่มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256  และครั้งสาม หลังจากมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เซ็ตไทม์ไลน์แก้‘รัฐธรรมนูญ’ ดึงเวลา‘คิกออฟ’ต้นปี 68

 

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเรื่องนี้ คนที่จะให้คำตอบสุดท้ายได้ คือ “คณะรัฐมนตรี” จะยอมรับกับข้อเสนอของ คณะกรรมการประชามติฯ หรือไม่ ซึ่งขณะนี้มีประเด็นที่ยังเป็นข้อครุ่นคิด คือ แนวคำถามที่เสนอถูกสังคมวิจารณ์ว่า อาจเป็นเกมซ่อนเงื่อนเพื่อไม่ให้กระบวนการออกเสียงประชามติ ผ่านได้สมใจ

กับคำถามที่เสนอ คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์” ที่เปิดช่อง ให้คนลงมติไม่เห็นชอบได้ เพราะไม่ต้องการมีเงื่อนไขใดๆ ต่อการรื้อรัฐธรรมนูญของ “คสช.” 

ดังนั้น หากพิจารณาจากบริบทที่เกิดขึ้นหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่า ภาวะที่ต้องตัดสินใจขึ้นอยู่กับ “รัฐบาล-เศรษฐา ทวีสิน” ที่จะเร่งเครื่อง ไทม์ไลน์ เพื่อพิสูจน์ความจริงใจต่อการแก้ไขรัฐธรรมมนูญ หลังจากที่ยื้อเรื่องนี้ มานานกว่า 7 เดือนหรือไม่

เซ็ตไทม์ไลน์แก้‘รัฐธรรมนูญ’ ดึงเวลา‘คิกออฟ’ต้นปี 68

ทั้งนี้ ปัญหาในการตัดสินใจของรัฐบาล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “การตั้งคำถาม” ว่าจะเป็นไปในแนวทางไหน เพื่อนำไปสู่ทางที่ดีที่สุดของการ “มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” แต่คือ แทกติกทางกฎหมาย ที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้น ว่าด้วยเกณฑ์ผ่านประชามติ เสียงข้างมากเกินครึ่ง 2 ชั้น

ทั้ง “เกณฑ์ผู้มีสิทธิ์ต้องมาออกเสียงเกินครึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติทั้งหมด" และ “เกณฑ์เห็นชอบที่ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาลงคะแนน”  อาจเป็นความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่ “ประชามติหนแรก” จะไม่ผ่าน ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564

อีกทั้งต้องใช้กลไกของ “สภาฯ” ปรับปรุงเนื้อหา โดยมุมปฏิบัติ ที่ “ชูศักดิ์” มองคือ ก่อนจะทำประชามติควรแก้พ.ร.บ.ประชามติว่าด้วยเกณฑ์ผ่านประชามติ ที่ใช้เสียงข้างมากเกินครึ่ง 2 ชั้นก่อน เพื่อตัดความเสี่ยงที่ประชามติจะล่ม

โดยมีไทม์ไลน์ที่ประเมินไว้ คือ 6 เดือน

“ตอนนี้ร่างแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติ ถูกเสนอเข้าสู่สภาฯ บรรจุวาระแล้ว ทั้งฉบับของก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ดังนั้นรัฐบาลต้องคิดว่าหากจะทำประชามติต้องแก้กฎหมายประชามติก่อนหรือไม่ หากแก้ไขผมมองว่าสามารถเร่งรัดได้ภายใน 6 เดือน” ชูศักดิ์ ประเมิน

เซ็ตไทม์ไลน์แก้‘รัฐธรรมนูญ’ ดึงเวลา‘คิกออฟ’ต้นปี 68

ดังนั้นต้องจับตา การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล ว่าจะเซ็ตไทม์ไลน์ เดินหน้าต่อไปอย่างไร หากจะเริ่มต้นทำประชามติโดยไม่หวั่นความเสี่ยง สามารถทำได้ทันที

โดยออกเป็นมติครม. และหารือกับ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) ทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดภายในเดือน เม.ย. และใช้เวลาดำเนินการในรายละเอียดอีก 3 เดือน ก่อนจัดให้มีการออกเสียงประชามติช่วงเดือน ก.ค.2567

หรือหากคิดจะยื้อ ต้องเลือกทางแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ที่สามารถยืดเวลาออกไปได้อย่างต่ำ 6 เดือนก่อนเข้าสู่กระบวนการทำประชามติตามที่กฎหมายกำหนด นั่นหมายความว่า ต้องรอให้สภาฯ เปิดประชุมในเดือน ก.ค.นี้ และบวกเวลาเพิ่มไปอีกถึงต้นปี 2568 ก่อนจะคิกออฟกระบวนการประชามติภายใน 3 เดือนหลังจากนั้น

เซ็ตไทม์ไลน์แก้‘รัฐธรรมนูญ’ ดึงเวลา‘คิกออฟ’ต้นปี 68

ไทม์ไลน์แก้รัฐธรรมนูญที่ต้องเซ็ตใหม่ ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจของ “รัฐบาล” ต่อการรื้อใหญ่ “รัฐธรรมนูญ คสช.” เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐธรรมนูญ ของประชาชนด้วยเช่นกัน.