'พิธา' ขอที่ประชุม IPU ส่งแรงใจ ไทยจ่อผ่านร่าง กม.สมรสเท่าเทียม วันนี้

'พิธา' ขอที่ประชุม IPU ส่งแรงใจ ไทยจ่อผ่านร่าง กม.สมรสเท่าเทียม วันนี้

'พิธา' ขอที่ประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา เมืองเจนีวา ช่วยกันส่งแรงใจ สภาฯไทยเตรียมพิจารณาผ่านร่างกฎหมาย 'สมรสเท่าเทียม' วันนี้

เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2567 เวลา 17.30 น. ตามเวลาในท้องถิ่นเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในที่ประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา หรือ IPU นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะตัวแทนจากรัฐสภาไทย กล่าวรายงานความคืบหน้าของรัฐสภาไทยในการสร้างสังคมที่โอบรับความหลากหลาย(Inclusive Society)

โดยนายพิธา กล่าวว่า รัฐสภาไทยมี 3 เสาหลักในสร้างสังคมโอบรับความหลากหลาย ประกอบด้วยการสมรสเท่าเทียม, ความเสมอภาคเท่าเทียมทางด้านชาติพันธุ์และสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง และการปกป้องคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความยุติธรรมในสังคม

เสาแรก สมรสเท่าเทียม ในอีกไม่ถึง 24 ชั่วโมงข้างหน้านี้ (วันที่ 27 มี.ค.) ห่างจากที่เจนีวาไปประมาณ 9 พันกิโลเมตร สภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทยกำลังจะประชุมเพื่อพิจารณาผ่านร่างกฎหมายที่เป็นหมุดหมายสำคัญ นั่นคือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ถ้าหากกฎหมายนี้ผ่านได้สำเร็จ ประเทศไทยก็จะกลายเป็นชาติแรกในอาเซียน และเป็นเพียงไม่กี่ชาติในเอเชียที่ทำให้เกิดสมรสเท่าเทียมขึ้นได้จริง เราบอกว่าสิทธิความเสมอภาคทางเพศเป็นสิทธิมนุษยชน เราจะพูดว่า "Love is Love" และกลุ่มคนที่เคยถูกกีดกันก่อนหน้านี้ จะสามารถมีสิทธิในการวางแผนครอบครัว สร้างครอบครัว และดูแลรักษาครอบครัวในยามเจ็บป่วยฉุกเฉินได้แล้ว

เสาที่สอง คือความเสมอภาคเท่าเทียมทางด้านชาติพันธุ์และสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง เราบอกว่าสิทธิของชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมืองนั้นสำคัญ แม้ว่าจะมีความแตกต่างหลากหลายกันทางด้านวัฒนธรรมและภาษาก็ตาม แต่ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงความยุติธรรมในที่ดินทำกินของตนเอง ต้องสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดี รวมทั้งบริการพื้นฐานสำคัญของรัฐที่มีคุณภาพได้

เสาที่สาม ในส่วนของการปกป้องคุ้มครองแรงงาน เราพูดถึงการส่งเสริมให้คนทำงานได้มีงานที่ดี มีคุณค่า ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เราพูดถึงความเสมอภาคทางเพศในที่ทำงาน เราพยายามสร้างหลักประกันให้สิทธิการลาคลอด เราพยายามสร้าง work-life balance ที่คนทำงานทุกคนสมควรได้รับ

นายพิธา กล่าวด้วยว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตอนนี้ นี่ไม่ใช่แค่กฎหมายที่ถูกเขียนบทกระดาษ แต่เรากำลังส่งสารไปยังคนทั้งโลก ส่งสารไปยังลูกหลานว่าพวกเขาจะไม่ถูกกีดกันในสังคมไทย

"ดังนั้น ผมขอให้ทุกคนในที่ประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภานี้ ว่าในวันพรุ่นี้(27 มีนาคม 2567) ร่วมส่งแรงใจไปยังสภาผู้แทนราษฎรไทยที่อยู่ห่างไป 9 พันกิโลเมตร ถ้าหากกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน ก็จะกลายเป็นชัยชนะของชุมชน LGBTQIA+ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่รวมถึงชัยชนะของคนทั้งโลกด้วย และนี่คือการเมืองของความเป็นไปได้ มันอาจจะไม่สมบูรณ์แบบ มันอาจต้องใช้เวลายาวนาน แต่มันแสดงให้เห็นว่าถ้าเราทำไปด้วยกัน ร่วมกันทลายอุปสรรคทั้งหลาย เราก็จะสามารถก้าวไกลไปด้วยกันได้" นายพิธา กล่าว