ส่องราคายางยุค ‘เศรษฐา’ แอ็กชันนายกฯ ปราบ‘ยางเถื่อน’

ส่องราคายางยุค ‘เศรษฐา’  แอ็กชันนายกฯ ปราบ‘ยางเถื่อน’

หากจำกันได้ “เศรษฐา” เคยตกใจเมื่อครั้งเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียง 2 เดือนเศษๆ ว่ามีขบวนการลักลอบนำ “ยางเถื่อน” เข้าสู่ประเทศ

KEY

POINTS

  • นายกฯ “เศรษฐา” กำชับกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม เข้มงวด ตรวจจับการนำเข้า "ยางเถื่อน" และขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดติดชายแดน และมีด่านศุลกากรอยู่ ให้ระมัดระวังด้วย
  • นายกรัฐมนตรี เคยยกคำพูดจากที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทยสะท้อนว่า ทุกวันนี้ไม่ได้มีเพียงปัญหาหมูเถื่อน แต่มีเรื่องยางเถื่อนด้วย
  • ปี 2567 หลังรัฐบาลเศรษฐา เข้ามาบริหารประเทศ ราคายางเดือน ม.ค.-ก.พ. 2 เดือนแรก ราคาเฉลี่ยเริ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 60.65 บาท/กิโลกรัม
  • สถานการณ์ลักลอบนำยางเถื่อนเข้ามาตีตลาดในไทย จนราคายางร่วงลงก่อนหน้านี้ ก็เริ่มดีขึ้นนับแต่เดือน พ.ย. 2566 
  • รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อเนื่องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2554 เป็นช่วงที่ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 แตะราคาเฉลี่ยตลอดทั้งปีสูงที่สุด คือ 124.16 บาท/กิโลกรัม
  • ราคายางพาราได้สูงขึ้นแตะถึง ราคา 80 บาท/กิโลกรัมในเดือน มี.ค. 2567 เป็นผลจากการสกัด "ยางเถื่อน" ตามแนวชายแดน

หากจำกันได้ “เศรษฐา” เคยตกใจเมื่อครั้งเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียง 2 เดือนเศษๆ ว่ามีขบวนการลักลอบนำ “ยางเถื่อน” เข้าสู่ประเทศ

ในห้วงที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กำลังอยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ ระหว่างวันที่ 4-6 มี.ค. 2567 ณ นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย

พ่วงด้วยคิวเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส  และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 7- 13 มี.ค. 2567

จู่ๆ นายกรัฐมนตรีก็ออกแอ็กชันผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว @Thavisin โชว์ผลงานราคายาง ที่ปัจจุบัน ราคาเพิ่มสูงขึ้นกว่า 70 บาทต่อกิโลกรัม

“เกิดจากที่เราไม่อนุญาตให้นำเข้ายางจากต่างประเทศ ไม่อนุญาตให้มาผ่านไทยเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่น เพื่อประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรยางพาราของไทยเราครับ” 

นายกฯ“เศรษฐา” ระบุว่าอีกว่า “ผมได้รับรายงานจาก รมว.มหาดไทย และ ผบ.ทสส. (พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี) ระหว่างเดินทางไปเยอรมนี ว่ามีผู้ลักลอบนำเข้ายางจากสังขละ และพยายามหนีไปเข้าทางด่านแม่สอด ผมได้กำชับหนักแน่น ให้กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม เข้มงวด ตรวจจับการนำเข้ายางเถื่อน และขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดติดชายแดน และมีด่านศุลกากรอยู่ ให้ระมัดระวัง และเข้มงวดในเรื่องนี้ด้วย เพื่อควบคุมไม่ให้ยางเถื่อนเข้ามาส่งผลกระทบให้ราคายางในประเทศตกลง”

เศรษฐา

ส่องราคายางยุค ‘เศรษฐา’  แอ็กชันนายกฯ ปราบ‘ยางเถื่อน’ สั่งปราบ "ยางเถื่อน" ตามแนวชายแดน

หากจำกันได้ “เศรษฐา” เคยตกใจเมื่อครั้งเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียง 2 เดือนเศษๆ ว่ามีขบวนการลักลอบนำ “ยางเถื่อน” เข้าสู่ประเทศ

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 นายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกคำพูดจากที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทยได้สะท้อนว่า ทุกวันนี้ไม่ได้มีเพียงปัญหาหมูเถื่อน แต่มีเรื่องยางเถื่อนด้วย

“ผมยอมรับว่านี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินคำนี้” นายกรัฐมนตรี บอกในขณะนั้นว่า จ.ตาก มีปัญหาเรื่องยางเถื่อนเยอะ แต่พอมีการสู้รบกันแถวนั้น ก็ย้ายมาที่สังขละบุรี(จ.กาญจนบุรี) และจ.ระนอง จึงได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และได้ประสานผ่านทาง ผบ.ทสส.โดยโทรศัพท์คุยกันเมื่อตอน 07.00 น. แล้วท่านก็โทรกลับมารายงานว่า ยอมรับว่ามีจริง ผมจึงสั่งการไปแล้ว ก็น่าจะดีขึ้น”

“ถ้าเรากำจัดตรงนี้ได้ ยางจะขึ้นมากิโลกรัมละ 5 บาท ซึ่งได้ยินแบบนี้ก็ใจฟู จึงอยากตั้งใจทำงานและจะเร่งทำงานให้” นายกรัฐมนตรีระบุ

นับจากเดือน พ.ย.2566 จนถึงปัจจุบันสถานการณ์ลักลอบนำยางเถื่อนเข้ามาตีตลาดในไทย จนราคายางร่วงลงก่อนหน้านี้ ก็เริ่มดีขึ้น

ส่องราคายางพาราในห้วง 6 เดือนยุคนายกฯ เศรษฐา

จากการตรวจสอบสถานการณ์ราคายาง รายงานโดย “การยางแห่งประเทศไทย” ระหว่างที่ “เศรษฐา ทวีสิน” เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เดือน ก.ย.2666 - ปัจจุบัน พบว่าราคายางพาราได้สูงขึ้นกว่าเดิมในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดราคาแตะถึง 80 บาท/กิโลกรัม

  • 8 มี.ค. 2567  ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3  ประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา ราคา 83.08 บาท/กิโลกรัม
  • 7 มี.ค. 2567 ราคายางแผ่นดิบ ประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา ราคา 78.8 บาท/กิโลกรัม ราคายางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ราคา 81.09 บาท/กิโลกรัม
  • 29 ก.พ. 2567 ราคายางแผ่นดิบ ประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา ราคา 74.38 บาท/กิโลกรัม ราคายางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ราคา 77.16 บาท/กิโลกรัม
  •  31 ม.ค. 2567 ราคายางแผ่นดิบ ประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ ราคา 68.38 บาท/กิโลกรัม ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 72.09 บาท/กิโลกรัม
  • 26 ธ.ค. 2566 ราคายางแผ่นดิบ ราคา 53.55 บาท/กิโลกรัม ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 56.36 บาท/กิโลกรัม
  •  30 พ.ย. 2566 ราคายางแผ่นดิบ ราคา 52.6 บาท/กิโลกรัม ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 55.23 บาท/กิโลกรัม
  •  31 ต.ค. 2566 ราคายางแผ่นดิบ ราคา 53.36 บาท/กิโลกรัม ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 54.37 บาท/กิโลกรัม
  •  29 ก.ย. 2566 ราคายางแผ่นดิบ ราคา 50.15 บาท/กิโลกรัม ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 52.22 บาท/กิโลกรัม
  •  1 ก.ย. 2566 ราคายางแผ่นดิบ ราคา 47.10 บาท/กิโลกรัม ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 49.25 บาท/กิโลกรัม
  •  3 ส.ค. 2566 ราคายางแผ่นดิบ ราคา 44.2 บาท/กิโลกรัม ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 49.25 บาท/กิโลกรัม

เจาะลงไปดูราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ที่เกษตรกรขายได้ที่สวนทั้งประเทศ ในช่วงปี 2550-2567 พบว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อเนื่องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2554 เป็นช่วงที่ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 แตะราคาเฉลี่ยตลอดทั้งปีสูงที่สุด คือ 124.16 บาท/กิโลกรัม

ปี 2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ราคาเฉลี่ยตลอดทั้งปี อยู่ที่ 87.15 บาท/กิโลกรัม

ปี 2556 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ราคาเฉลี่ยตลอดทั้งปี อยู่ที่ 74.75 บาท/กิโลกรัม

ปี 2557 ช่วงรอยต่อของรัฐบาลรักษาการต่อเนื่องถึงรัฐบาล คสช. ราคายางแผ่นดิบชั้น3 ราคาเฉลี่ยตลอดทั้งปี คือ 53.93 บาท/กิโลกรัม

ปี 2558-2556 ราคายางร่วงหนักจนบางปี อยู่ที่ราคาเฉลี่ยทั้งปี 40.96 บาท/กิโลกรัม

ปี 2567 หลังรัฐบาลเศรษฐา เข้ามาบริหารประเทศ ราคายางเดือน ม.ค.-ก.พ. 2 เดือนแรก ราคาเฉลี่ยเริ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 60.65 บาท/กิโลกรัม

ส่วนปริมาณผลผลิตยางพาราของโลกเมื่อปี 2566 มีจำนวนประมาณ 15 ล้านตัน  โดยประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลก คิดเป็นสัดส่วน 30% ของการผลิตทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีผลผลิตยางพาราต่อไร่เป็นอันดับ 10 ของโลก เฉลี่ยประมาณ 221.25 กิโลกรัมต่อไร่

ส่องราคายางยุค ‘เศรษฐา’  แอ็กชันนายกฯ ปราบ‘ยางเถื่อน’

กำชับ "กลาโหม-มหาดไทย-คลัง" คุมเข้มยางเถื่อนเข้าไทย

แหล่งข่าวในทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า นายกฯ ได้สั่งการไปยังผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยใช้อำนาจกระทรวงกลาโหมในเขตชายแดนสกัดยางเถื่อนไม่ให้เข้าประเทศ โดยให้กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย ทหารดูแลเรื่องการนำยางเถื่อนเข้าประเทศ ซึ่งนายกฯ ไม่อนุญาตให้นำยางจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทยเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่น จึงสั่งการไปที่ด่านศุลกากร จ.ตาก ให้เข้มงวดเป็นพิเศษ เพราะที่ผ่านมาราคายางในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาราคาตกมาก

ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในการเยือน "ฝรั่งเศส" นายกรัฐมนตรียังทวีตข้อความผ่าน @Thavisin ต่อเนื่องว่า "วันนี้ (8 มี.ค. 67) ราคายางปรับตัวสูงขึ้นทะลุกิโลกรัมละ 80 บาทในรอบ 3 ปีกว่า เพราะส่วนหนึ่งเราแก้ปัญหาเรื่องยางเถื่อนครับ ก็ต้องขอบคุณทางกองทัพบก กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่ช่วยดูแลไม่ให้มียางเถื่อนเข้ามา"

"ผมก็คุยกับท่านนายกฯ มาเลเซียเมื่อช่วงต้นอาทิตย์ที่เราไปเจอกันที่ออสเตรเลีย ทางมาเลเซียนําเข้ายางจากไทยประมาณ 80% เพราะเขามีโรงงานผลิตถุงมือยางอยู่ครับ ผมบอกถ้าเกิดท่านมีอะไรให้ติดต่อที่กระทรวงพาณิชย์โดยตรงเลย และผมเรียนท่านภูมิธรรม เวชยชัย ไปแล้ว ผมหวังว่าราคายางจะดีขึ้นอีก ซึ่งรัฐบาลจะพยายามผลักดันต่อไป เพราะเราอยากให้พี่น้องเกษตรกรอยู่ดีกินดีครับ"

เศรษฐา

แอ็กชันของนายกฯ ที่สั่งการตรง จากต่างประเทศมายังประเทศไทยให้เข้มงวดเรื่อง “ยางเถื่อน” คืออีกภารกิจหนึ่งในความฟิตของการทำงานที่ไม่อยู่นิ่งของ “เศรษฐา”

ภายหลังกลับจากปฏิบัติภารกิจต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีก็ชีพจรลงเท้าอีกครั้ง เตรียมเดินสายตรวจราชการที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย วันที่ 15-17 มี.ค. 2567 เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นพีเอ็ม 2.5 (PM 2.5) รวมทั้งติดตามการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ

จากนั้น นายกฯเศรษฐา จะมีคิวชีพจรลงเท้าอีกครั้ง ด้วยการนำประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ หรือ ครม.สัญจร ที่ จ.พะเยา ในวันที่ 18-19 มี.ค.2567 อีกระลอก