‘ตั๋วสภาสูง’จุดเปลี่ยน2อำนาจ ‘องค์กรอิสระ’หมากตัวใหม่

‘ตั๋วสภาสูง’จุดเปลี่ยน2อำนาจ  ‘องค์กรอิสระ’หมากตัวใหม่

นับถอยหลังเปลี่ยนผ่าน “สว.ลายพราง” สู่ “สว.สีต่างๆ” จับตา "เกมอำนาจ" แต้มต่อรองเปลี่ยน "องค์กรอิสระ" หมากตัวใหม่?

KEY

POINTS

  • ถอดรหัสหมากสภาสูง จาก “สว.ลายพราง” เปลี่ยนผ่านสู่ “สว.กลุ่มอาชีพ”   จุดพลิก-เกมต่อรองเปลี่ยน
  •  ดุลอำนาจ“สภาสูง”เปลี่ยนเกมนิติบัญญัติ-บริหาร
  • “องค์กรอิสระ” หมากตัวใหม่ ? 

 

นับถอยหลังเปลี่ยนผ่าน “สว.ลายพราง” สู่ “สว.สีต่างๆ” จับตา "เกมอำนาจ" แต้มต่อรองเปลี่ยน "องค์กรอิสระ" หมากตัวใหม่?

เป็นที่รู้กันว่าอายุของสมาชิกวุฒิสภา(สว.)ชุดปัจจุบัน 250 คน  กำลังอยู่ในช่วงนับถอยหลัง 2 เดือนสุดท้าย ก่อนสิ้นสุดวาระในวันที่ 11 พ.ค.2567 นี้ ขณะเดียวกันตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 112 ระบุให้ สว.ชุดปัจจุบันจะต้อง “เว้นวรรค” เป็นเวลา 2 ปี จึงจะสามารถกลับมาเป็น สว.อีกครั้งได้ 

ไม่แปลกที่เมื่อการเมืองดำเนินไปสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน จาก “สว.ยุคคสช.” 250 คน ไปสู่ “สว.ยุคคัดสรร” ตามกลุ่มอาชีพจำนวน 200 คน  จะเต็มไปด้วยผู้ที่สนใจชิง “ตั๋วสภาสูง” มากถึง 2.1 แสนคน ตามข้อมูลที่เปิดเผยล่าสุด ณ วันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา 

ไทม์ไลน์การได้มาซึ่ง สว.ชุดใหม่ ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ซึ่ง “อิทธิพร บุญประคอง” ประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง ได้ลงนามไปเมื่อวันที่ 6 ก.พ.2567 

ระบุใจความสำคัญว่า ก่อนวันที่อายุของวุฒิสภา สิ้นสุดลงไม่น้อยกว่า 30 วันให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดประสานผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เพื่อเตรียมการแต่งตั้งบุคคลเป็นคณะกรรมการระดับอำเภอ และคณะกรรมการระดับจังหวัด

ในการเปิดการรับสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา ให้เริ่มรับสมัครไม่เกิน 15 วัน นับจากวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ และกำหนดวันรับสมัคร ไม่น้อยกว่า 5 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน

วันเลือกในระดับอำเภอต้องไม่เกิน 20 วัน นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัครวันเลือก ในระดับจังหวัดต้องไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันเลือกในระดับอำเภอ และวันเลือกในระดับประเทศต้องไม่เกิน 10 วันนับแต่วันเลือกในระดับจังหวัด ในการกำหนดวันเลือกในแต่ละระดับ ต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

‘ตั๋วสภาสูง’จุดเปลี่ยน2อำนาจ  ‘องค์กรอิสระ’หมากตัวใหม่

20กลุ่มอาชีพ "ตีตั๋วสภาสูง"

สำหรับการแบ่งกลุ่มที่สมัครรับเลือก สว. จำนวน 20 กลุ่ม ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มีดังนี้

1.กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 

2.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

3.กลุ่มการศึกษา เช่น ครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 

4.กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

5.กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 

6.กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 

7.กลุ่มพนักงานลูกจ้างที่ไม่ใช่ราชการหรือหน่วยงานรัฐ ผู้ใช้แรงงาน อื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 

8.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาฯ และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 

9.กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อยตามกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

10.กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจาก (9)

11.กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการอื่นหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

12.กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 

13.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 

14.กลุ่มสตรี

15.กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 

16.กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 

17.กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 

18.กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 

19.กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน และ 20.กลุ่มอื่นๆ

เมื่อผู้สมัครผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติครบถ้วน จะเข้าสู่กระบวนการเลือกกันเองภายใน 20 กลุ่ม ผู้สมัครแต่ละคนมีสิทธิเลือกสมัครได้แค่หนึ่งกลุ่ม และในหนึ่งอำเภอ โดยทุกกลุ่มจะเลือกกันเอง เมื่อได้ตัวแทนระดับอำเภอ ก็ไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับจังหวัด แล้วไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับประเทศ โดยผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกของกลุ่มๆ นั้น ได้รับเลือกเป็น สว. จะได้ตัวแทนจาก 20 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คนเป็นตัวจริง ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็น สว.200 คน

‘ตั๋วสภาสูง’จุดเปลี่ยน2อำนาจ  ‘องค์กรอิสระ’หมากตัวใหม่

 ดุลอำนาจ“สภาสูง”เปลี่ยนเกมนิติบัญญัติ-บริหาร

เหนือไปกว่านั้น ถอดรหัส “เกมสภาสูง” หลังวันที่ 11 พ.ค.เป็นต้นไป แม้ สว.ชุดปัจจุบันจะทำหน้าที่ไปจนกว่าจะได้ สว.ชุดใหม่ แต่ต้องจับตาไปที่ “จุดเปลี่ยน” การเมือง 

จุดเปลี่ยนแรก : ดุลอำนาจนิติบัญญัติเปลี่ยน การได้มาซึ่งส.ว.ชุดใหม่ 200 คน จากการคัดสรรตามกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม จะมีอำนาจประกอบด้วย

1. อำนาจในการพิจารณาร่างกฎหมายขึ้นอยู่กับประเภท สำหรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สว. จะเข้ามามีบทบาทเมื่อร่างได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดย สว.ไม่มีอำนาจในการปัดตก ทำได้เพียงยับยั้งเอาไว้ 180 วัน หลังจากนั้น สส.ก็สามารถนำมาลงคะแนนใหม่ได้  

สำหรับกฎหมายประเภทอื่น ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จะต้องใช้มติของทั้งสองสภา หมายความว่า สว. จะมาร่วมลงคะแนนด้วย

 “67เสียง” เดดล็อกแก้รัฐธรรมนูญ 

2. อำนาจพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องใช้การประชุมร่วมของสองสภา โดยนอกจากจะต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งแล้ว ในวาระที่หนึ่งและสาม ยังต้องใช้เสียงของ สว. อย่างน้อยหนึ่งในสาม ร่วมเห็นชอบด้วย

เท่ากับว่า หากมี สว. ชุดใหม่ 200 คน จะต้องได้เสียง สว.ที่เห็นชอบ อย่างน้อย 67 เสียง จากเดิม สว.250 คนต้องใช้ 84 เสียง

3. อำนาจให้ความความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการสิทธิมนุษยชน รวมถึงให้ความเห็นชอบตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานรัฐอื่น ๆ เช่น อัยการสูงสุด

4. อำนาจตรวจสอบฝ่ายบริหาร ผ่านกลไกการตั้งกระทู้ถามหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องถึงปัญหา ไปจนถึงการเปิดอภิปรายทั่วไปให้คณะรัฐมนตรีต้องชี้แจงข้อเท็จจริง

 หลังจากวันที่ 11 พ.ค. สว.ชุดปัจจุบันจะสิ้นสภาพลง ขณะที่ชุดใหม่จะไม่มีอำนาจลงมติ “เลือกนายกฯ” ได้เหมือนชุดเก่า และที่มาของสว.ชุดใหม่ จะมาจากการคัดสรรในระดับต่างๆ ต้องจับตาว่า หากการเมืองสีไหน-ขั้วไหน สามารถคุมเสียงในสภาสูงได้ ก็ย่อมถือแต้มต่อในฝ่ายนิติบัญญัติ 

‘ตั๋วสภาสูง’จุดเปลี่ยน2อำนาจ  ‘องค์กรอิสระ’หมากตัวใหม่

 “องค์กรอิสระ” หมากดุลอำนาจใหม่ 

จุดเปลี่ยนที่สอง : ดุลอำนาจการเมืองเปลี่ยน เมื่อ สว.ชุดปัจจุบันสิ้นสภาพ เงื่อนไขโหวตนายกฯ ก็จะจบสิ้นตามไปด้วย เมื่อ สว.ชุดใหม่ไร้อำนาจโหวตนายกฯ “แต้มต่อรอง” ในดุลอำนาจหลังจากนี้ ก็อาจเปลี่ยนไป

ฉะนั้น “องค์กรอิสระ” ที่ยังคงเหลืออยู่ และจะกลายเป็นหมากตัวสำคัญใน “ดุลอำนาจใหม่” หลังจากนี้  โดยเฉพาะบรรดาคดีความของบิ๊กเนมการเมือง ที่คั่งค้างอยู่ในองค์กรต่างๆ เหล่านี้ 

โฟกัสไปที่ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  ซึ่งเป็นองค์กรที่สามารถ “ชี้เป็นชี้ตายทางการเมือง” ได้เลยทีเดียว

เมื่อเป็นเช่นนี้ หากฝ่ายใดสามารถยึดเสียงในสภาสูงได้ ก็ย่อมถือแต้มต่อ “อำนาจตุลาการ” ซึ่งจะมีผลไปถึงดุลอำนาจการเมืองได้เช่นเดียวกัน

ยุคเปลี่ยนผ่านจาก “สว.ลายพราง” สู่ “สว.สีต่างๆ”เกมอำนาจ ก็อาจเปลี่ยนไปหลังจากนี้