‘นิรโทษกรรม’ ใครได้ ใครเสีย ‘เพื่อไทย-กองทัพ’ลอยตัว

‘นิรโทษกรรม’ ใครได้ ใครเสีย   ‘เพื่อไทย-กองทัพ’ลอยตัว

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พรรคเพื่อไทยก็แค่เล่นไปตามน้ำ ควบคู่กับการหยั่งกระแสสังคม เพราะมีประเด็น ม.112 ที่ถูกเหมารวมว่าเป็นคดีทางการเมือง ซึ่งเชื่อว่าจะถูกสภาตีตกตั้งแต่ชั้นแปรญัตติ

จะมี “นิรโทษกรรม” หรือไม่ คงไม่ส่งผลต่อคนในกองทัพในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในเหตุความรุนแรงทางการเมืองห้วง 18 ปีที่ผ่านมา ทั้งการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ หรือคนเสื้อเหลือง  กลุ่ม นปช.หรือคนเสื้อแดง กลุ่ม กปปส. หรือ ม็อบ 3 นิ้ว

เพราะปัจจุบันคดีที่ “กองทัพ”ตกเป็นจำเลย ถูกฟ้องร้องจากการเข้าปฏิบัติหน้าที่ในเหตุความรุนแรงการชุมนุมปี 2553 จำแนกเป็น 

กลุ่มที่ 1 คดีที่กล่าวหาว่าทหารเป็นฝ่ายยิง แต่เมื่อไต่สวนแล้วไม่สามารถระบุตัวคนยิงได้ คดีจึงไปจบที่ชั้นอัยการ ไม่มีการฟ้องร้อง เนื่องจากหาผู้กระทำความผิดไม่ได้

กลุ่มที่ 2 คดีที่ระบุว่าทหารยิงบนรางรถไฟฟ้า ซึ่งสามารถระบุตัวบุคคลได้ แต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากกระสุนที่ปรากฏเป็นกระสุนที่กระทบกับกำแพง และสะท้อนมาโดนผู้เสียชีวิต ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า กระสุนมาจากทิศทางใด

กลุ่มที่ 3 ทหารถูกกระทำ โดยกองทัพบก เป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้องคดีคนร้ายขว้างระเบิดใส่กลุ่มเจ้าหน้าที่ทหาร เป็นเหตุให้ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และลูกน้องเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บหลายราย โดยล่าสุดปี 2566 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องจำเลย 3 คน ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการชั้นศาลฏีกา

ส่วนการย้อนมาเอาผิดผู้ก่อการรัฐประหารย้อนหลังทั้งปี 2549 และปี 2557 ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดไปแล้ว โดยเฉพาะครั้งล่าสุด ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560

ดังนั้นแม้ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับพรรคก้าวไกล จะถูกบังคับใช้หรือไม่ ก็ไม่ส่งผลใดๆ ต่อกองทัพทั้งสิ้น

สำหรับ “พรรคเพื่อไทย” ก็ไม่ต้องดิ้นรนอะไร เพราะ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ก็ได้รับสิทธิไปแล้ว และกำลังเข้าสู่กระบวนการจำคุกนอกเรือนจำของกระทรวงยุติธรรม หากการรักษาอาการป่วยในโรงพยาบาลตำรวจดีขึ้น และคณะแพทย์อนุญาตให้กลับ

ด้านแกนนำ และมวลชนคนเสื้อแดงที่ต้องคดี บางส่วนถูกยกฟ้อง ส่วนที่ถูกจำคุกก็ทยอยออกจากคุกกันมาหมดแล้ว จะเหลือเพียงคดีการล้มประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ที่ จ.ชลบุรี และคดีเผาศาลากลางจังหวัด ที่อัยการฟ้องประมาณ 4 คน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับวัตถุระเบิดก็ไม่น่าจะเข้าเงื่อนไขนิรโทษกรรมเพราะเป็นคดีอาชญากรรม

ขณะที่ “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อดีตอธิบดีดีเอสไอ ที่เพิ่งถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา เมื่อกลางปี 2566 เนื่องจากใช้อำนาจหน้าที่กลั่นแกล้ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ให้ได้รับโทษทางอาญา 

คดีเกี่ยวข้องกับการชุมนุมปี 2553 ก็ไม่ได้รับอานิสงส์จากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล เพราะระบุชัด ไม่คุ้มครองการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

กลุ่ม พธม. กลุ่ม กปปส. แม้ใจลึกๆ อยากให้มีนิรโทษกรรม แต่เมื่อครอบคลุมไปถึงบุคคลที่กระทำความผิดมาตรา 112 ก็ผิดหลักการ อีกทั้งปัจจุบันคดีของแกนนำและมวลชนทั้ง 2 กลุ่ม ส่วนใหญ่รอลงอาญา ก็ไม่ต้องเดือดร้อนมากนัก

ต่างจากพรรคก้าวไกล ที่มี สส.ทยอยถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางส่วนเป็นคดีทางการเมือง บางส่วนคดี ม.112 เช่น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ “ไอซ์”รัชนก ศรีนอก “ลูกเกด”ชลธิชา แจ้งเร็ว “โตโต้”ปิยรัฐ จงเทพ เป็นต้น

ในส่วนมวลชนและแกนนำ ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่านับตั้งแต่การชุมนุมเยาวชนปลดแอกปี 2563 ประกอบด้วย กลุ่มกิจกรรมต่างๆ ราษฎร นักเรียนเลว เฟมินิสต์ปลดแอก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ทะลุฟ้า ทะลุแก๊ซ ทะลุวัง โมกหลวงริมน้ำ ฯลฯ ถูกดำเนินคดีทางการเมืองกว่า 1,800 ราย ด้วยข้อหาที่แตกต่างกัน 

ฐานความผิดที่มีประชาชนถูกดำเนินคดีมากที่สุด คือฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ตัวเลขผู้ถูกคุมขังในเรือนจำ จากการแสดงออกทางการเมืองหรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมืองในปี 2566 (ข้อมูล 13 ธ.ค.2566) มีอย่างน้อย 37 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังอยู่ระหว่างต่อสู้คดี อย่างน้อย 25 ราย และเป็นผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้ว (นักโทษเด็ดขาด) อย่างน้อย 13 ราย

เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 16 คน คดีอื่น ๆ จำนวน 9 คน ได้แก่ คดีที่ถูกฟ้องว่าครอบครองวัตถุระเบิด (ระเบิดปิงปอง) เผารถตำรวจ เผาป้อมตำรวจจราจร และอื่น ๆ แบ่งตามชั้นที่ถูกคุมขัง

ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พรรคเพื่อไทยก็แค่เล่นไปตามน้ำ ควบคู่กับการหยั่งกระแสสังคม เพราะมีประเด็น ม.112 ที่ถูกเหมารวมว่าเป็นคดีทางการเมือง ซึ่งเชื่อว่าจะถูกสภาตีตกตั้งแต่ชั้นแปรญัตติ