จุดเปลี่ยน 'มกรา 67' โตแล้วแตก-แตกแล้วโต

จุดเปลี่ยน 'มกรา 67' โตแล้วแตก-แตกแล้วโต

จับตาอนาคต ”พิธา” คดีหุ้นสื่อ พ่วง ”ก้าวไกล” คดีล้มล้างการปกครอง สัญญาณแรงชัด นับถอยหลังวันพิพากษาในห้วงเดือน ม.ค. 2567

พรรคก้าวไกล จะย่ำรอยเดิมพรรคอนาคตใหม่ และจะมีปรากฏการณ์งูเห่าสีส้มอีกครั้งหรือไม่ ต้องลุ้นผลแห่งคดีก้าวไกลนำ ม.112 มาหาเสียง

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล ออกมาเล่นข่าวเรื่องคดีหุ้นสื่อ และคดีล้มล้างการปกครอง ได้ถูกที่ถูกเวลา เนื่องจากคดีความที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ กำลังงวดเข้ามาทุกที

ทั้งสองคดีที่จะชี้อนาคตทางการเมืองของ พิธา และก้าวไกล คาดว่า ศาลรัฐธรรมนูญ อาจนัดวันฟังคำสั่งคดีในช่วงเดือน ม.ค.2567

คดีหุ้นสื่อ กกต. ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานภาพการเป็น สส.ของพิธา เป็นการยื่นสมัคร สส.ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 82 ว่า สถานภาพการเป็น สส.ของพิธา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบ มาตรา 98 (3) กรณี ‘เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่’

จุดเปลี่ยน \'มกรา 67\' โตแล้วแตก-แตกแล้วโต
  
คดีล้มล้างการปกครอง ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรม นูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของพิธา และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญ จะเปิดห้องพิจารณาคดีเพื่อไต่สวนคำร้อง ในคดีหุ้นสื่อของพิธา วันที่ 20 ธ.ค.และคำร้องคดีล้มล้างการปกครอง วันที่ 25 ธ.ค.นี้

ก่อนหน้านี้ มีคดีของ ไอซ์-รักชนก ศรีนอก สส.กทม. พรรคก้าวไกล โดยศาลอาญาตัดสินจำคุก 6 ปี ในคดีความผิดมาตรา 112 ซึ่ง สส.ไอซ์ ได้รับการประกันตัว ไม่ต้องหลุดจาก สส.

เมื่อได้อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มแล้ว ทำให้นักสังเกตการณ์ทางการเมืองเชื่อว่า ในคดีล้มล้างปกครอง พรรคก้าวไกลสุ่มเสี่ยงถูกสอยตามรอยพรรคอนาคตใหม่


บทเรียนอนาคตใหม่

21 ก.พ.2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่และมีมติให้สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค เป็นเวลา 10 ปี

จุดเปลี่ยน \'มกรา 67\' โตแล้วแตก-แตกแล้วโต

นั่นคือการปิดฉากพรรคอนาคตใหม่ ด้วยอายุการเมือง 1 ปี 4 เดือน18 วัน

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้นำ สส.ที่เหลืออยู่ 65 คนในเวลานั้น ไปสังกัดพรรคก้าวไกล ซึ่งเดิมชื่อพรรคร่วมพัฒนาชาติไทย

พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย จดทะเบียนจัดตั้งพรรคเมื่อ 1 พ.ค.2557 ก่อนขอเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคผึ้งหลวง ในช่วงเลือกตั้ง 2562 แล้วเปลี่ยนกลับไปใช้ชื่อพรรคร่วมพัฒนาชาติไทย ก่อนถูกเซ้งต่อมาเป็นพรรคก้าวไกล

จะว่าไปแล้ว การดำรงอยู่ของพรรคสีส้ม ไม่ว่าจะใช้แบรนด์อนาคตใหม่ หรือก้าวไกล คงต้องใช้คำว่า ‘โตแล้วแตก..แตกแล้วโต’

อย่างการเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 พรรคก้าวไกล ได้ สส. 151 ที่นั่ง เป็นพรรคอันดับ 1 แยกเป็น สส.เขต 112 ที่นั่ง คะแนนบัญชีรายชื่อ 14,438,851 คิดเป็น 39 ที่นั่ง

ปัจจุบัน สส.ก้าวไกล เหลือ 147 ที่นั่ง เนื่องจาก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีถือหุ้นสื่อ ส่วน ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ลาออก จาก สส.บัญชีรายชื่อ กรณีผิดจริยธรรม 

ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.กทม.เขต 26 และวุฒิพงศ์ ทองเหลา สส.ปราจีนบุรี เขต 2 พรรคมีมติขับออก อันเนื่องจากคดีคุกคามทางเพศ


รากเหง้าของพรรค

มองผิวเผินเหมือนว่า พรรคก้าวไกล ไม่มีเจ้าของ ไม่มีนายทุนพรรค แต่ลึกๆแล้ว พรรคสีส้มมีรากเหง้ามาจากคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีจุดยืน อุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนกัน

จุดเปลี่ยน \'มกรา 67\' โตแล้วแตก-แตกแล้วโต

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นผู้นำตัวจริงของพลพรรคสีส้ม

การทอดทิ้งคนเสื้อแดงของ ทักษิณ ชินวัตร หลังการจัดตั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยทักษิณไม่ยอมไปต่อ และพอใจกับจัดสรรอำนาจกับกลุ่มชนชั้นนำ

ธนาธร และชัยธวัช จึงคิดอ่านเรื่องการตั้งพรรคการเมืองไทย ที่มีความโดดเด่นเชิงอุดมการณ์ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

ฉะนั้น คณะผู้ก่อการพรรคอนาคตใหม่ชุดแรก จึงประกอบด้วยนักเคลื่อนไหวภาคประชาชน,เอ็นจีโอ,ผู้นำแรงงาน,นักวิชาการ และเทคโนแครตรุ่นใหม่ จนเปลี่ยนมาเป็นพรรคก้าวไกล คนกลุ่มนี้ก็ยังยึดกุมการนำพรรคอยู่


หากกางรายชื่อ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในปัจจุบัน ก็จะพบส่วนผสมของผู้คนดังที่กล่าวมาข้างต้น

สายภาคประชาชน ก็มี อภิชาติ ศิริสุนทร, สุรวาท ทองบุ, คำพอง เทพาคำ และองค์การ ชัยบุตร

จุดเปลี่ยน \'มกรา 67\' โตแล้วแตก-แตกแล้วโต

สายแรงงาน เซีย จำปาทอง ,สุเทพ อู่อ้น  และวรรณวิภา ไม้สน

สายเทคโนแครต-นักวิชาการ ศิริกัญญา ตันสกุล, สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล,รังสิมันต์ โรม ฯลฯ

ทุนใหม่ต้านทุนใหญ่

ในพรรคก้าวไกล ก็มีนักธุรกิจรุ่นใหม่เข้าร่วมอุดมการณ์จำนวนไม่น้อย พวกเขามีแนวคิดถ่วงดุลทุนใหญ่ และไม่ปฏิเสธแนวทางรัฐสวัสดิการ

สายทุนรุ่นใหม่สีส้ม ก็จะมีทั้ง สส.บัญชีรายชื่อ อย่าง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ,เบญจา แสงจันทร์, พริษฐ์ วัชรสินธุ ,ณรงเดช อุฬารกุล ฯลฯ

ส่วน สส.เขตก็มี ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. เขต 9, ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์สส.กทม. เขต 27 ,ภัสริน รามวงศ์ สส.กทม.เขต 7 ,กฤษฏิ์ ชีวะธรรมานนท์ สส.ชลบุรี เขต 6 ฯลฯ


ส้มจี๊ดรุ่นใหม่ใจถึง

ที่น่าสนใจในกลุ่ม สส.เขตของพรรคก้าวไกล กว่าร้อยละ 80 เป็นคนรุ่นใหม่ วัย 25-35 ปี เติบโตทางการเมืองในช่วงการเคลื่อนไหวชูธงปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ช่วงปี 2563-2564

ยกตัวอย่างก้าวไกล ระยอง นำโดย สว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ สส.ระยอง เขต 5 ถือว่าเป็นพี่ใหญ่ ดำเนินการจัดตั้งคนรุ่นใหม่ ที่มีอุดมการณ์แบบเดียวกับปิยบุตร แสงกนกกุล

หรือก้าวไกล ปทุมธานี ที่มี ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี เขต 3 และเชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี เขต 6 เป็นแกนนำทางความคิด พวกเขาเหล่านี้คลุกคลีอยู่กับกลุ่มรังสิมันต์ โรม 

ดังนั้น สส.ก้าวไกล จึงพยายามจะผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่เจอคดี ม.112 รวมถึง สส.สีส้มบางคนก็ยังติดบ่วงคดี ม.112 

หากเกิดกรณีการยุบพรรคก้าวไกล ก็คาดการณ์กันว่า ไม่น่าจะมีปรากฏการณ์งูเห่าสีส้ม เนื่องจากพื้นฐานที่มาของ สส.ก้าวไกลส่วนใหญ่ แตกต่างจาก สส.อนาคตใหม่

บทพิสูจน์จากสนามเลือกตั้งปี 2566 ชี้ให้เห็นว่า ‘พรรคเชิงอุดมการณ์’ ยืนยงอยู่ได้ในบริบทการเมืองปัจจุบัน ผู้ทรยศต่ออุดมการณ์ต่างหากที่ย้ายพรรคแล้วไม่ประสบความสำเร็จ