'ก้าวไกล' หวั่นเกมวางยา แก้ 'กม.ประชามติ' ยื้อ 'รธน.60'

'ก้าวไกล' หวั่นเกมวางยา แก้ 'กม.ประชามติ' ยื้อ 'รธน.60'

เมื่อ 'รัฐบาล' เลือกทาง แก้พ.ร.บ.ประชามติ ก่อนออกเสียงประชามติรอบแรก และเตรียมส่งร่างกฎหมายประกบ แทนสนับสนุน ฉบับของเพื่อไทย เกมนี้น่ากังวล ว่า จะสอดไส้ปม ที่ทำให้ยื้อรธน.60 ออกไปอีก

Key Point:

  • รัฐบาล-เพื่อไทย เลือกแก้พ.ร.บ.ประชามติ ก่อนทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญครั้งแรก
  • เท่ากับว่าต้องยืดเวลา จัดการออกเสียงประชามติออกไป
  • นัยที่ซ่อนอยู่ คือ รัฐบาล ตั้งใจทำร่างกฎหมายประกบ กับ 2 ฉบับที่อยู่ในวาระพิจารณาของสภา แทนสนับสนุนฉบับของพรรคเพื่อไทย
  • การมอบให้ กรรมการกฤษฎีกา ทำกฎหมายประกบ ฝั่ง "ก้าวไกล" กังวลว่าจะถูกวางยา เพราะ "มือกฎหมายรัฐบาล" ล้วนเป็นฝั่งที่เคยรับใช้ คสช. และทำรัฐธรรมนูญ 2560

เมื่อมติของ “คณะรัฐมนตรี” เมื่อ 23 เม.ย. ที่เดินหน้าทำประชามติ 3 ครั้งและเห็นควรแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564   เพื่อให้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางประชาธิปไตยที่ช่วยส่งเสริมประชาชนแสดงเจตจำนงในเรื่องต่างๆ ได้โดยตรง 

ทำให้ “รัฐบาล” และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตกผลึกในวงหารือเมื่อ 2 พ.ค. ว่า   “เริ่มต้น แก้ พ.ร.บ.ประชามติ” ในสภาฯ ก่อนจัดให้มีการออกเสียงประชามติ “ครั้งแรก” เพื่อถามความเห็นชอบของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

แม้ไม่ผิดจากที่คาดการณ์ ตามโรดแมปที่ “รัฐบาล” วางไว้  คือ ยื้อการแก้รัฐธรรมนูญ ออกไปให้นานที่สุด เพื่อใช้เป็น “ข้ออ้าง” ในการอยู่ยาว

ทว่า การแก้กฎหมายประชามติ ส่อมี “กลซ่อนแอบ” ให้การรื้อรัฐธรรมนูญ คสช. ไม่เป็นไปตามที่หลายฝ่ายตั้งหวัง

\'ก้าวไกล\' หวั่นเกมวางยา แก้ \'กม.ประชามติ\' ยื้อ \'รธน.60\'

อย่างที่ทราบกันทั่วไป ว่า สภาฯ มี ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ บรรจุไว้ในระเบียบวาระแล้ว 2 ฉบับ ฉบับแรก เป็นของ “พรรคเพื่อไทย” และอีกฉบับ เป็นของ “พรรคก้าวไกล”

เมื่อ 2 พรรคใหญ่เห็นพ้อง สามารถยกมาพิจารณาวาระแรก ในช่วงเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เดือน มิ.ย. นี้ได้

ทว่าขณะนี้มีสัญญาณแทรก จากฝั่งรัฐบาล ที่ต้องการส่งร่างแก้ไขมาประกบ ก่อนให้ “สภาฯ” เดินหน้าเรื่องนี้

โดย “ผู้นำฝ่ายค้าน- ชัยธวัช ตุลาธน” เห็นสัญญาณอันตราย ที่รัฐบาลสบช่องยื้อรื้อรัฐธรรมนูญ จึงเรียกร้องให้ “รัฐบาล” ที่จะใช้กลไก “กรรมการกฤษฎีกา” พิจารณาเนื้อหา ทำร่างประกบให้เสร็จภายในเดือน พ.ค. เพื่อให้ทันเวลาที่สภาฯ พิจารณาในสมัยประชุมวิสามัญนี้

\'ก้าวไกล\' หวั่นเกมวางยา แก้ \'กม.ประชามติ\' ยื้อ \'รธน.60\'

แม้ในทางลับมีสัญญาจาก “รัฐบาล”  ว่าจะ นำร่างแก้ไขของ ก้าวไกล-เพื่อไทย ยำรวมแล้วเสนอต่อสภาฯ 

ทว่าความกังวลคือ “กรรมกฤษฎีกา” ที่เป็นผู้ปรับโฉม จะสอดไส้เนื้อหาที่ ไปไม่ถึง “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” อีกหรือไม่

เพราะต้องยอมรับว่า “กรรมการกฤษฎีกา” นั้น ส่วนใหญ่ เป็นปราชญ์กฎหมาย ที่คร่ำหวอดในวง “ผู้ร่วมทำรัฐธรรมนูญ 2560” 

ต่อเรื่องนี้ “พรรคก้าวไกล” จับตาดูอย่างใกล้ชิด

สำหรับประเด็นของร่างแก้ไขกฎหมายประชามติ ของ 2พรรคใหญ่  ที่ขณะนี้ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานสภาฯ บรรจุไว้ในระเบียบวาระ รอการพิจารณาแล้ว เมื่อสำรวจเนื้อหา พบว่า หลักใหญ่นั้นเห็นตรงกัน 

ทั้งประเด็น การแก้เกณฑ์ออกเสียงที่ใช้เป็นจุดวัด ว่า เรื่องนั้นจะ “ผ่านประชามติ”  หรือไม่

ตามบทบัญญัติ ในมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ประชามติ ที่กำหนดให้ใช้เกณฑ์ผ่าน ด้วย เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น เป็นกับดักให้เรื่องไม่ผ่านด่านประชามติ โดย ชั้นแรก กำหนดให้ผู้มีสิทธิต้องออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด และ ชั้นสอง คือ ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิทั้งหมด

พรรคก้าวไกล ให้แก้ไข เป็น “การออกเสียงที่ถือเป็นข้อยุติ ต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่ทำประชามติ”

ขณะที่ “พรรคเพื่อไทย” แก้ไขเป็น “การออกเสียงให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จะทำประชามติ” 

นอกจากนั้นยังมีประเด็นรอง ที่เห็นตรงกัน ได้แก่

- ปรับกรอบการออกเสียงประชามติที่ยืดหยุ่น  ให้สามารถทำในวันเดียวกันกับการเลือกตั้งครั้งใหญ่ๆ ได้ เช่น เลือกตั้งสส. เป็นการทั่วไป สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ที่ครบวาระ  โดยยังคงกรอบเวลาที่ไม่เร็วกว่า 90 วันและไม่ช้ากว่า 120 วันไว้  

- การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะออกเสียง กำหนดให้ “เผยแพร่ข้อมูลโดยมุ่งให้ประชาชนเข้าใจถูกต้อง ไม่ชี้นำทางใดทางหนึ่ง รวมถึงให้แสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียม ทั้งฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบได้” 

\'ก้าวไกล\' หวั่นเกมวางยา แก้ \'กม.ประชามติ\' ยื้อ \'รธน.60\'

ทั้งนี้ในส่วนของ “เพื่อไทย” คิดเผื่ออนาคต ให้มีตัวเลือกกับการออกเสียงที่เหมาะสมกับแต่ละเขตได้ โดยใช้วิธีลงคะแนนวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธี ในเขตใดหรือหลายเขตได้ จากเดิมที่กฎหมายกำหนดให้ใช้วิธีเดียวกันเหมือนกันโดยทั่วไป

สำหรับการแก้รัฐธรรมนูญ ของรัฐบาลเพื่อไทย ต้องจับตาต่อไปว่า  เมื่อใช้กลไก “สภาฯ” แก้กฎหมายประชามติก่อนทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ครั้งที่หนึ่ง แล้ว จะทำให้ได้ “กฎหมาย” ที่เป็นเครื่องมือทางประชาธิปไตย ซึ่งส่งเสริมประชาชนแสดงเจตจำนงในเรื่องต่างๆ ได้โดยตรง  ได้จริง ตามที่ “เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ” กล่าวอ้างไว้หรือไม่.