‘พิธา’ ซักฟอกนอกสภา ตรวจการบ้าน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ 90 วัน

‘พิธา’ ซักฟอกนอกสภา ตรวจการบ้าน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ 90 วัน

‘พิธา’ นำทีมแถลงวิเคราะห์ 90 วันนโยบาย ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ชี้ ‘เงินดิจิทัล’ เป็นการคิดไปทำไป สุดท้ายใช้เงินกู้ 5 แสนล้าน หนักภาระการคลัง จี้หากทำไม่ได้ควรมีแผน 2 รองรับ แนะ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ควรเปิดเสรีภาพให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ลั่นโร้ดแม็ปที่ดีคือแผนทำงานชัด

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2566 ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวในประเด็น “วาระ 90 วัน วิเคราะห์ผลงานรัฐบาลเศรษฐา” ตอนหนึ่งว่า สาเหตุที่ต้องมาแถลงข่าวในวันนี้ ประการที่หนึ่ง เป็นการรักษาสัญญาที่มีให้ไว้กับประชาชนก่อนมาเป็นรัฐบาล ประการที่สอง การมีวาระ 100 วันแรก หรือโร้ดแม็ปที่บริหาร หรือตามงาน หรือสั่งงานของรัฐบาล ประการที่สาม การบริหารความคาดหวัง ความเชื่อมั่นของประชาชน และนักลงทุนจากต่างประเทศ

นายพิธา กล่าวว่า ด้วยความเข้าใจว่ารัฐบาลมีข้อจำกัดทั้งเวลา และงบประมาณแผ่นดิน แต่เพราะข้อจำกัดอย่างนี้จึงมีความจำเป็น และเป็นที่เล็งเห็นในหลายรัฐบาลทั่วโลกจำเป็นต้องมีโร้ดแม็ป วาระ 100 วัน เพื่อขับเคลื่อนในช่วงเวลาอันยากเย็น บ่งบอกได้ถึงวิสัยทัศน์ เป้าหมายในปีหน้า จะคาดหวังอะไรกับรัฐบาลได้บ้าง ดังนั้น การแถลงข่าวจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ภาพย่อย ภาพใหญ่ และภาพต่อไปภายในปีหน้า โดยภาพใหญ่คือการวิเคราะห์ผลงานรัฐบาลในช่วง 100 วันแรก ระบบความคิดตามกรอบ “5 คิด’s” ได้แก่ คิดดี ทำได้ คิดไป ทำไป คิดสั้น (ยัง) ไม่คิดยาว คิดใหญ่ ทำเล็ก และคิดอย่าง ทำอย่าง

คิดดี ทำได้ คงเห็นตรงกันว่าการช่วยเหลือแรงงานไทยในวิกฤติอิสราเอล ฮามาส รัฐบาลทำได้ดี วัคซีนมะเร็งปากมดลูกกว่า 1 ล้านโดสทำได้ดี การบริหารจัดการหนี้สินนอกระบบผ่านการแถลงข่าว 2 ครั้งของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เชื่อว่ารัฐบาลเข้าใจปัญหา

คิดไป ทำไป คือประเด็นเงินดิจิทัลวอลเล็ต มีการปรับเปลี่ยนไปมา ไม่ว่าที่มาของเงิน เทคโนโลยีที่ใช้ ผู้ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายนี้มีการปรับไปมา 4 ครั้ง เรื่องเงินเดือนข้าราชการ โครงการแลนด์บริดจ์

คิดสั้น ไม่คิดยาว เรื่องค่าใช้จ่ายของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าไฟ ค่าพลังงาน ค่าคมนาคม และรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

คิดใหญ่ ทำเล็ก คือเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ ไม่ว่าเป็นเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ หรือการบริหารท่องเที่ยวผ่านวีซ่าฟรี และลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ ไม่ว่าที่ดิน ส.ป.ก. และค่าแรงที่เห็นนายกฯมีข้อสั่งการลงไปเมื่อไม่ได้ตัวเลขที่ควรจะเป็น หรือไม่ตรงกับที่สัญญากับประชาชน มีการแสดงออกถึงความไม่พอใจ คล้าย ๆ กับเรื่องค่าไฟ

คิดอย่าง ทำอย่าง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ ที่มาของ ส.ส.ร. จากการเลือกตั้ง หรือการปฏิรูปกองทัพ ค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่สมัยชุดที่แล้ว ไม่ว่าการยื่นกฎหมายแก้รัฐธรรมนูญ หรือการศึกษาระดับรัฐสภาเห็นว่า พรรคเพื่อไทยมีความคิดสอดคล้องกันกับพรรคก้าวไกล แต่การกระทำตอนนี้ค่อนข้างตรงข้ามสิ่งที่เคยคิดไว้
    
นายพิธา กล่าวอีกว่า ในส่วนของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เข้าใจว่านโยบายต้องยืดหยุ่น แต่นโยบายนี้สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินจากภาษีประชาชน ไม่ว่าในรูป พรบ หรือเงินกู้กว่า 5 แสนล้านบาท เราเห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เห็นด้วยในการใช้เทคโนโลยีทำแบบนั้น แต่งบประมาณ 5 แสนล้านบาท ไม่ควรกระทบพื้นที่ทางการคลังในการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงของบ้านเมือง

‘พิธา’ ซักฟอกนอกสภา ตรวจการบ้าน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ 90 วัน

“ดิจิทัลวอลเล็ตเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างน้อย 4 ครั้ง อาการนี้คือคิดไป ทำไป เช่น ก่อนเลือกตั้ง เวลาขึ้นเวทีดีเบต จะได้รับการอธิบายว่า จะใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ไม่ต้องมีการกู้ พอเป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้งบอกว่า จะใช้งบประมาณนอกจากธนาคารออมสิน หลังจากนั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาบอกว่าผิด พ.ร.บ.ออมสิน เลยเปลี่ยนที่มาของเงินต้องใช้จากงบผูกพัน ต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ผิด พ.ร.บ.เงินตราฯ ทำให้ต้องเปลี่ยนมาใช้เงินงบประมาณ และ พ.ร.บ.เงินกู้ฯ ปรากฏว่าเมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2567 ออกมา ไม่มีโครงการเงินดิจิทัล ทำให้ต้องเปลี่ยนอีกครั้งคือการใช้เงินจาก พ.ร.บ.เงินกู้ฯ 100%” นายพิธา กล่าว 
    
ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ถ้าดูการเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุด เทียบกับสิ่งที่ได้สัญญาก่อนการเลือกตั้งจะแตกต่างอย่างชัดเจน นี่คือการคิดไป ทำไป เรื่องที่มาของงบประมาณเท่านั้น ยังไม่รวมเรื่องเทคโนโลยี โดยก่อนเลือกตั้งบอกว่าจะใช้บล็อกเชน ต่อมาบอกใช้แอปเป๋าตังค์เป็นหลัก บล็อคเชนคอยเสริม ต่อมาบอกอีกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะถึงมือ 66 ล้านคน ตอนนี้เหลือ 50 ล้านคน ส่วนการเริ่มนโยบายนั้นตอนแรกบอก ก.พ. 2567 ตอนนี้เริ่ม พ.ค. 2567 ก็คงจะพอเห็นได้ว่า เป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณสูง มาจากเงินกู้ เป็นเราและลูกหลานเราที่ต้องมาใช้ในอนาคต รวมถึงการเบียดบังส่วนของงบประมาณที่สามารถใช้แก้ปัญหาเรื่องอื่น ๆ ในระยะยาวต่อได้ แต่รัฐบาลไม่ได้คิดอย่างตกผลึก เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำให้เกิดความสับสนในตลาดทุน

“สิ่งที่เราคาดหวังจากรัฐบาลคือ แผน 2 กรณีที่เงินดิจิทัลไม่สามารถทำได้ หรือติดปัญหาในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น กลาง ยาว รัฐบาลในปีหน้าควรมีความชัดเจน ไม่ควรปรับเปลี่ยนอีกแล้ว ถ้าไม่ได้ดิจิทัลวอลเล็ต ควรเกาให้ถูกที่คัน กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ไม่ว่าภาคการลงทุนอุตสาหกรรม อย่าลืมว่า GDP ไม่ได้มาจากการกระตุ้นจากบริโภคอย่างเดียว การลงทุนก็สำคัญเช่นกัน การบริหารการส่งออกช่วงเศรษฐกิจโลกแบบนี้ก็สำคัญ เรามีวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากกว่า หากทำไม่ได้ ควรมีแผน 2 ได้แล้ว” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าว

นายพิธา กล่าวด้วยว่า ส่วนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือการตั้งบอร์ดซอฟต์พาวเวอร์ การเคาะงบประมาณกว่า 5 พันล้านบาท การบ่มเพาะทักษะสำหรับแรงงาน และทำเทศกาลตลอดสงกรานต์ เป็นเรื่องดีและคล้ายคลึงกับสิ่งที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอไว้ แต่มุมมองสิ่งที่ควรจะเป็น โดยอย่างยิ่งสิ่งที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์คือ การให้เสรีภาพแก่การสร้างสรรค์ นั่นคือการเสนอแก้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ เพื่อเสรีภาพในการสร้างสรรค์ผลงาน การเสนอตั้ง THACCA ด้วยกฎหมาย เพื่อรองรับหน่วยงานที่อยู่ภายใต้นโยบายนี้ นอกจากนี้เพิ่มงบประมาณหน่วยงานเดิมที่มีอยู่ เช่น CEA, OKMD, TK Park เป็นต้น การแก้กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ เพื่อลดขั้นตอนการขออนุญาตกองถ่ายหรือจัดเฟสติวัล การสนับสนุนการรวมตัวของแรงงานฟรีแลนซ์ การแก้กฎกระทรวงสุราก้าวหน้า และคูปองเปิดโลก 2,000 บาท กระตุ้นอุปสงค์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ดนตรี หนังสือ พิพิธภัณฑ์ได้ทันที พวกนี้คือนโยบาย “ควิกวิน” ที่เราอยากเห็นจากรัฐบาล

ส่วนเรื่องคิดอย่าง ทำอย่าง เป็นเรื่องของการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติ โดยในการศึกษานี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำประชามติกี่รอบ และคำถามเป็นอย่างไร มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้ง 100% หรือไม่ ตรงนี้ต้องบอกว่า เป็นเรื่องที่เซอร์ไพรส์พอสมควร เพราะในการทำงานระหว่างฝ่ายค้านร่วมกับพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลในอดีตที่ผ่านมา เราเห็นตรงกัน 90% คือที่มาของ ส.ส.ร. และการทำประชามติ อาจมี 5-10% ในการเห็นต่างกันบ้าง 

“แต่พอพรรคเพื่อไทยเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลปัจจุบัน ที่ไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องการเห็นการปฏิรูปกองทัพ เกิดความไม่ชัดเจน เกิดความคิดอย่างทำอย่างเกิดขึ้น สิ่งที่ควรจะเป็นค่อนข้างชัดเจนจากการศึกษาในรัฐสภาครั้งที่แล้ว รวมถึงหาเสียงไปก่อนเลือกตั้งว่า การทำประชามติควรมี 3 คำถามคือ ถามเรื่องแก้รัฐธรรมนูญฉบับโดย ส.ส.ร.หรือไม่ และ ส.ส.ร.ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ รวมถึง ส.ส.ร.ควรมีอำนาจพิจารณาแก้ร่างรัฐธรรมนูญทุกหมวดหรือไม่ จึงจะทำให้การรักษาสัญญาอย่างที่เคยคิดไว้ว่า การแก้รัฐธรรมนูญของประเทศที่จะเป็นกฎหมายสูงสุด เพื่อให้ยุติธรรม การเข้าถึงอำนาจอย่างตรงไปตรงมาเกิดขึ้นได้” นายพิธา กล่าว

สุดท้าย การพูดถึงภาพต่อไปในปีหน้าของรัฐบาล เรื่องความคาดหวังที่สะท้อนจากประชาชน เราหวังสั้น ๆ ว่า การบริหารภายในปีหน้าที่จะมีปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม มีเรื่องใหญ่ที่เป็นเรื่องร้อน ๆ ที่รัฐบาลต้องแก้ไข ไม่ว่าเป็นเรื่องการลงทุนในเมกะโปรเจ็ค หรือ “แลนด์บริดจ์” ที่นายกฯพยายามอธิบายแก่นักลงทุนในต่างประเทศ การปฏิรูปการศึกษา ฝุ่น PM 2.5 ภัยแล้งที่ปีหน้าน่าจะหนักเป็นประวัติการณ์ เราต้องการเห็นโร้ดแม็ป 1 ปีว่าวิสัยทัศน์คืออะไร แผนปฏิบัติการคืออะไร

“โร้ดแม็ปที่ดีคือแผนที่ชัดเจนในการทำงาน ทำให้ประชาชนติดตามได้ ให้สื่อตามผลงานได้ การมีเป้าหมายที่ชัดเจน อย่างที่นายกฯเคยเสนอ เคยสัญญาในสภาฯครั้งหนึ่งตอนแถลงนโยบาย เมื่อฝ่ายค้านถามถึงผลลัพธ์ ถามถึงเป้าหมาย ความคาดหวังเท่าไหร่ นายกฯบอกว่าจะให้แต่ละกระทรวงทำแผนมา เราได้เห็นแผนแล้ว และมีการแถลงอีกครั้งว่า ไม่ได้ชัดเจนอย่างที่นายกฯสัญญาไว้” นายพิธา กล่าว

ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวทิ้งท้ายว่า กระบวนการทำงานที่เป็นมืออาชีพในการผลักดันว่าจะมีเป้าหมายอย่างไร ไปถึงเป้าหมายอย่างไร การทำงานของรัฐบาลผสมต้องเป็นเอกภาพมากกว่านี้ การศึกษาโครงการสำคัญให้ละเอียด เช่น “แลนด์บริดจ์” เป็นต้น ต้องชัดเจน มีเวลาให้ชัด ทำให้การบริหารแผ่นดินของรัฐบาลในปีหน้า สามารถที่จะเรียกความเชื่อมั่น และโชว์ความมุ่งมั่นให้กับประชาชนว่าจะรักษาสัญญาต่อประชาชนตอนหาเสียง และบริหารได้ดีขึ้น สุดท้ายคงเรียกความเชื่อมั่นจากทั้งในและนอกประเทศได้ไม่มากก็น้อย