‘พท.’ เล่นเกม ‘กินรวบ’ ประชามติ ฝังกลบ ‘เหลือง-ส้ม’

‘พท.’ เล่นเกม ‘กินรวบ’ ประชามติ ฝังกลบ ‘เหลือง-ส้ม’

หมุดหมาย "แก้รธน." มีจุดเริ่มต้น ที่ "คำถามประชามติ" ซึ่ง "35คีย์แมน" จะเป็นผู้กำหนดรายละเอียด แน่นอนว่าตั้งต้นคำถาม จำเป็นต้องสร้างความได้เปรียบ ในเกมชิงอำนาจการเมือง

รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ใช้ฤกษ์เดือนตุลา ตั้ง “35 กรรมการ" เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 

พร้อมวาง “หน้าที่” คือ ศึกษาแนวทางทำประชามติ บนเงื่อนไข

1. ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ออกกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตยทันสมัย

2.สร้างการยอมรับร่วมกัน

3.ยึดกรอบตาม “คำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญ”

และ 4.ให้ความสำคัญกับ “รัฐสภา” ที่จะเป็นเวทีหารือถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญ 

พร้อมวางเป้าหมาย ให้ “คนไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและประเทศเดินหน้าอย่างมั่นคง”

กับโรดแมปที่ “กรรมการประชามติฯ” วางเป็นกรอบเบื้องต้น คือ 10 ตุลา หารือนัดแรก และกำหนดทำประชามตินัดแรกไม่เกินเดือนมีนา 2567

‘พท.’ เล่นเกม ‘กินรวบ’ ประชามติ ฝังกลบ ‘เหลือง-ส้ม’

เท่ากับว่า ต้องมีข้อสรุปในทิศทางปลายปี 2566 นี้ เพราะตามขั้นตอนการออกเสียงประชามติตามกฎหมาย กำหนดรายละเอียด ขั้นตอน วิธีการ อย่างน้อย 3 เดือน ก่อนจะถึงวันออกเสียงประชามติ

ในระยะ 3 เดือนที่จะเป็นจุดชี้ชะตา “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ถือเป็นจุดวัดว่า จะเป็นสิ่งที่สร้างโรดแมปที่เป็นทางออกของการเมืองไทย ตาม “โจทย์รัฐบาล” ตั้งไว้ หรือเป็นหลุมที่ขุดเพื่อนำไปสู่ความขัดแย้งอีกรอบด้วยปมของรัฐธรรมนูญ

เพราะต้องยอมรับว่า ในประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ก่อนตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางประชามติ มีความเห็นต่างระหว่าง 2 ฝ่าย คือ “ฝ่ายก้าวไกล” พ่วงกับ “เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ” ที่มี “ไอลอว์” สนับสนุน ต้องการให้ “ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” อย่างไร้เงื่อนไข ไม่ถูกห้ามแก้ไขในมาตราใดหรือหมวดใดหมวดหนึ่ง และให้ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% เป็นผู้ดำเนินการ

‘พท.’ เล่นเกม ‘กินรวบ’ ประชามติ ฝังกลบ ‘เหลือง-ส้ม’

ขณะที่ “ฝ่ายเพื่อไทย” นำโดย “เศรษฐา ทวีสิน” ยืนยันผ่านคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งตรงกับจุดยืนของ “หลายพรรคร่วมรัฐบาล” และ “ฝ่ายอนุรักษนิยม”

‘พท.’ เล่นเกม ‘กินรวบ’ ประชามติ ฝังกลบ ‘เหลือง-ส้ม’

ดังนั้นการตั้งคณะกรรมการประชามติฯ จึงต้องมีบทบาทสำคัญต่อการหาทางออกต่อเรื่องนี้ว่า ในคำถามประชามติที่จะเป็นด่านยกแรก ของโรดแมปแก้รัฐธรรมนูญนั้น จะออกแบบอย่างไร

 

แน่นอนว่า กรรมการส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ “ก้าวไกล-ไอลอว์” เพราะมองว่าการออกแบบให้ “ส.ส.ร.” ให้มาจากการเลือกตั้ง โดยใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง อาจเกิดปรากฏการณ์ “ก้าวไกล-ก้าวหน้า-ไอลอว์” แลนด์สไลด์ ชนะรวบหัวรวบหาง และกำ “ยุทธศาสตร์” ที่นำไปสู่การออกแบบกติกาสูงสุดของประเทศไว้ในมือฝ่ายเดียว

คือ "ฝ่ายที่วางเป้าหมายเปลี่ยนประเทศ"

นั่นอาจหมายความว่า “ปมขัดแย้ง” ด้วยเหตุการแย่งอำนาจ ที่แฝงไว้ในกติการัฐธรรมนูญอาจปะทุขึ้นได้อีก

ดังนั้นกรรมการประชามติต้องออกแบบวิธีเพื่อ “ตัดต้นตอ” และบางทีอาจต้องฝังกลบ “ฝั่งสีส้ม”

‘พท.’ เล่นเกม ‘กินรวบ’ ประชามติ ฝังกลบ ‘เหลือง-ส้ม’

 

ซึ่ง “1 ในคีย์แมน” ระบุว่า กรรมการฯ จำเป็นต้องออกแบบให้กระบวนการยกการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีสัดส่วนจากกลุ่มบุคคลที่ “ควบคุมได้” เช่น หากจะให้มี “ส.ส.ร.” ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ​ จำเป็นต้องมีสัดส่วนที่มาจากการเลือกตั้ง ผสมกับ “ส.ส.ร.แต่งตั้ง” ที่อาจกำหนดให้เป็น “ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน-ตัวแทนพรรคการเมือง” เป็นต้น

โดยรูปแบบทั้งหมด จำเป็นต้องกำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มต้น และในชั้นของ “กรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ”

ดังนั้นหากถอดรายชื่อ “คีย์แมนทั้ง 35 คน” จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่ล้วนเป็นแนวร่วมของ “พรรคเพื่อไทย” แม้จะเปิดโอกาสให้มี “กลุ่มฝ่ายค้าน” จากพรรคการเมือง เช่น ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย เดชอิศม์ ขาวทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงเปิดช่องให้มี “ผู้แทนพรรคก้าวไกล” 

หรือนักวิชาการที่แสดงจุดยืนต่อการไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน เข้าร่วมเป็นกรรมการ   

แต่จากจำนวนของ กรรมการทั้งหมด ถือว่าเป็นความไม่ได้สัดส่วนต่อการทำงานใหญ่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า​ “พรรคเพื่อไทย” กำลังเล่นเกมกินรวบ

แม้ในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประชามติฯ จะเปิดช่องให้รับฟังความเห็นจากภาคส่วนอื่นๆ ได้ แต่ไม่มีหลักประกันว่า เมื่อต้องทำเป็นข้อสรุปสุดท้าย ความคิดเห็นเหล่านี้ จะถูกตอบสนองอย่างใดหรือไม่

ทำให้การตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติครั้งนี้ ถูกสังคมปรามาสถึง “ความล้มเหลว” ของกรอบทำงาน ในประเด็น “การยอมรับร่วมกัน” ตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น

ต่อเรื่องนี้ “เจษฎ์ โทณะวณิก” เดาอนาคตจากรายชื่อ 35 กรรมการประชามติ “น่าจะถูกยอมรับยาก” เพราะส่วนผสมของกรรมการ ที่ขาด “ก้าวไกล-ไอลอว์” รวมถึง “ฝ่ายอนุรักษนิยม” เท่ากับว่า “พรรคเพื่อไทย” กำลังอยู่ตรงกลางและเปิดแนวรบ ทั้งซ้ายและขวา

‘พท.’ เล่นเกม ‘กินรวบ’ ประชามติ ฝังกลบ ‘เหลือง-ส้ม’

คือ กลุ่มอนุรักษนิยมที่ซ่อนสายโยงแห่งอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 รวมถึง “กลุ่มสีส้ม” ที่เป็นพลังใหม่ของการเมืองไทย และต้องการเปลี่ยนแปลง รื้อระบบที่พวกเขามองว่าล้าหลัง

ดังนั้นไม่ว่าผลการศึกษาจะนำไปสู่ปลายทางอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมไทยเตรียมตัวเข้าสู่เวทีขัดแย้ง ว่าด้วยเรื่องรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง.