ย้อนรอย‘ศึกสีกากี’สะเทือนตั้งผบ.ตร. ‘อภิสิทธิ์’ตั้ง‘ปทีป’นั่งรักษาการ

ย้อนรอย‘ศึกสีกากี’สะเทือนตั้งผบ.ตร. ‘อภิสิทธิ์’ตั้ง‘ปทีป’นั่งรักษาการ

ประวัติศาสตร์ในองค์กรตำรวจมีไว้ให้ศึกษา แต่เมื่อความขัดแย้งมีสูง โอกาสที่ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยจนไม่สามารถแต่งตั้ง ผบ.ตร. คนใหม่ได้ ก็มีสูงเช่นกัน

เป็นอีกครั้งที่ไม่สามารถแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่ง “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” ได้ เนื่องจากความขัดแย้งภายในองค์กรตำรวจค่อนข้างรุนแรง ทำให้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ต้องเลื่อนวาระแต่งตั้ง ผบ.ตร. ออกไปก่อน

เหตุผลสำคัญหนีไม่พ้นการบุกค้นบ้าน “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. หนึ่งในตัวเต็ง พร้อมจับ 8 นายตำรวจ ลูกน้องของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่ง “เศรษฐา” ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงไปแล้ว

สำหรับตัวเต็ง ผบ.ตร. คนใหม่ ประกอบด้วย พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผบ.ตร. อาวุโสลำดับหนึ่ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. อาวุโสลำดับสอง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผบ.ตร. อาวุโสลำดับสาม และพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุวิมล รองผบ.ตร. อาวุโสลำดับสี่

เมื่อความขัดแย้งทั้งบนดิน-ใต้ดินมีสูง หาก “เศรษฐา” ยอมลุยไฟแต่งตั้ง ผบ.ตร. คนใหม่ อาจจะทำให้ความขัดแย้งภายในองค์กรตำรวจทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงต้องเลือกแต่งตั้งให้ “พล.ต.อ.รอย” นั่งรักษาการ ผบ.ตร. ไปพลางก่อน
 

อย่างไรก็ตามการแต่งตั้ง รักษาการ ผบ.ตร. เคยเกิดขึ้นมาแล้ว โดยในช่วงรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปี 2552 มีการพิจารณาแต่งตั้ง ผบ.ตร. คนใหม่ แทน “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ

ซึ่งขณะนั้น พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อาวุโสลำดับหนึ่ง แต่อยู่คนละสาย-คนละขั้วกันกับ “อภิสิทธิ์” จึงถูกเขี่ยออกจากไลน์ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.

โฟกัสหลักไปอยู่ที่ “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้น อาวุโสอันดับ 2 และ “บิ๊กจุ๋ม” พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รองผบ.ตร. ในขณะนั้น 

“พล.ต.อ.ปทีป” ได้แรงหนุนจาก “อภิสิทธิ์” และ “กำลังภายใน” จากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ ด้าน “พล.ต.อ.จุมพล” ได้แรงสนับสนุนจาก “สุเทพ เทือกสุบรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง “นิพนธ์ พร้อมพันธ์” เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ “สัญญาณพิเศษ”
 

ซึ่งการประชุม ก.ต.ช. เพื่อเลือก ผบ.ตร. ในขณะนั้น มีคณะกรรมการ ประกอบด้วย “อภิสิทธิ์” ในฐานะประธาน ก.ต.ช., นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.กระทรวงมหาดไทย, นายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายพีระพันธุ์ สาลิรัฐวิภาค รมว.กระทรวงยุติธรรม, นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร., นายเรวัต ฉ่ำเฉลิม ก.ต.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย, นายนพดล อินนา ก.ต.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพัฒนาองค์กร, นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ ก.ต.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการงบประมาณ และ พล.ต.อ.สุเทพ ธรรมรักษ์ ก.ต.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการวางแผน หรือการบริหารและจัดการ

สำหรับ 5 เสียงที่โหวตไม่เห็นชอบ “พล.ต.อ.ปทีป” ประกอบด้วย “ชวรัตน์” – “วิชัย” – “เรวัติ” – “พล.ต.อ.สุเทพ” – “พล.ต.อ.พัชรวาท” เสียงข้างน้อย 4 เห็นชอบ ประกอบด้วย “พีระพันธุ์” – “กิตติพงษ์” – “ปิยะพันธ์” – “ถวิล” ขณะที่ “นพดล” งดออกเสียง อ้างว่ามีข้อมูลไม่เพียงพอ

ทำให้การประชุม ก.ต.ช. แต่งตั้ง ผบ.ตร. ไม่สามารถมีมติออกมาได้

ต่อมา “พล.ต.อ.พัชรวาท” ต้องยอมลาออกจาก ผบ.ตร. ภายหลังโดน ป.ป.ช. ชี้มูลคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตร ต่อด้วย “พล.ต.อ.สุเทพ” ได้ตัดสินใจลาออกจากกรรมการ ก.ต.ช. เนื่องจากทนแรงกดดันไม่ไหว ทำให้เสียงของฝ่ายที่ไม่เอา “พล.ต.อ.ปทีป” หายไปอีก 2 เสียง

แม้ “พล.ต.อ.ปทีป” จะได้เสียงเพิ่มจาก “พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์” รักษาการ ผบ.ตร. แต่การแต่งตั้ง ผบ.ตร. ยังไม่สามารถเสร็จสิ้นลงได้ เนื่องจากมี “สัญญาณพิเศษ” ที่ทำให้ ก.ต.ช. ลังเล

ซึ่งแม้แต่ “นิพนธ์ พร้อมพันธ์” ซึ่งไปรับ “สัญญาณพิเศษ” ด้วยตัวเอง แต่ “อภิสิทธิ์” ไม่เชื่อคำกล่าวอ้าง ทำให้ “นิพนธ์” ต้องยอมกลืนเลือดลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

โดยหลังจากนั้น “อภิสิทธิ์-ก.ต.ช.” ไม่สามารถแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ได้ จึงเลือกใช้วิธีแต่งตั้งให้ “พล.ต.อ.ปทีป” นั่งเก้าอี้รักษาการ ผบ.ตร. จนเกษียณอายุราชการ

ประวัติศาสตร์ในองค์กรตำรวจมีไว้ให้ศึกษา แต่เมื่อความขัดแย้งมีสูง โอกาสที่ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยจนไม่สามารถแต่งตั้ง ผบ.ตร. คนใหม่ได้ ก็มีสูงเช่นกัน