‘เศรษฐา’ ยึดหน่วยงานมั่นคง คุมกลาโหม-ตำรวจ-ข่าวกรอง

‘เศรษฐา’ ยึดหน่วยงานมั่นคง   คุมกลาโหม-ตำรวจ-ข่าวกรอง

นับหนึ่งรัฐบาล “เศรษฐา 1” กระจายอำนาจให้พรรคร่วมรัฐบาล กระชับอำนาจให้ “ทีมเพื่อไทย” รวมศูนย์อยู่ที่นายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” ซึ่งเป็นอำนาจหลัก ควบคุมทั้งกลไกเศรษฐกิจ และกลไกความมั่นคง   

ประชุมคณะรัฐมนตรี อย่างเป็นทางการนัดแรก 13 ก.ย.2366 นายกฯ "เศรษฐา ทวีสิน” โชว์ของทันที ใช้การแบ่งงาน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อตอกย้ำศูนย์รวมอำนาจอยู่ที่ “ตึกไทยคู่ฟ้า”

โดยในคำสั่งแบ่งงาน ไม่มีการมอบหมายให้รองนายกฯ คนใดคนหนึ่งคุมกระทรวงความมั่นคง จากเดิมที่คาดกันว่า อาจให้ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ ที่ควบ รมว.พาณิชย์ ช่วยดูแลงานด้านความมั่นคง

เมื่อไม่ปรากฎใดๆ ในคำสั่ง ย่อมเข้าใจได้ว่า นายกฯ เศรษฐา จะบัญชาการด้วยตัวเอง ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคง อันประกอบด้วยกระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ รวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ที่แม้จะมอบหมายให้รองนายกฯ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” กำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม แต่ให้เว้นดีเอสไอเอาไว้ 

จะเห็นได้ว่า ทั้งหมดเป็นหน่วยงานที่ควบคุมกลไกความมั่นคงของประเทศ ที่“เศรษฐา” ไม่ได้มอบหมายให้รองนายกฯ คนใดกำกับดูแล

ขณะเดียวกัน ยังมีข้อสังเกตด้วยว่า มีการดึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกจากความดูแลของ “บิ๊กป๊อด” พล.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ เพราะตามธรรมเนียมแล้ว รองนายกฯ จะได้กำกับดูแลกระทรวงที่เป็นโควตารัฐมนตรีของพรรคตนเอง

ทว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มี “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เป็นเจ้ากระทรวง กลับถูกดึงออกไปอยู่ภายใต้กำกับดูแลของ รองนายกฯ “ภูมิธรรม” แทนที่จะขึ้นตรงกับ “พล.อ.พัชรวาท” จึงเป็นการฉีกธรรมเนียม ที่ไม่พ้นถูกมองว่าเป็นเกมอำนาจระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล 

ฉะนั้น ต่อจากนี้ ทุกโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ต้องผ่านความเห็นชอบจากรองนายกฯ “ภูมิธรรม” ซึ่งอยู่ต่างพรรค ต่างพวกกับ “ธรรมนัส”

สำหรับ คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 229/2566 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี มีรายละเอียดดังนี้ 

“ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ กำกับดูแลงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ กำกับดูแลงานในส่วนของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

“ภูมิธรรม” ถือเป็นรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 หรือ "สร.2" ซึ่งจะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในกรณีไม่อาจปฏิบัติราชการได้

“สมศักดิ์ เทพสุทิน” รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลงานกระทรวงคมนาคม กระทรวงยุติธรรม (ยกเว้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ) กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานราชบัณฑิตสภา

มีอำนาจกำกับดูแลงานสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

“ปานปรีย์ พหิทธานุกร” รองนายกรัฐมนตรี รมว.การต่างประเทศ กำกับดูแลงานกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

“อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี รมว.มหาดไทย กำกับดูแลงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)

“พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับดูแลงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรี รมว.พลังงาน กำกับดูแลงานกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม

“พวงเพ็ชร ชุนละเอียด” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลงาน กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคก สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติสำนักงานราชบัณฑิตยสภา บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน ) สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

นอกจากนี้ รองนายกฯ อนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะ รมว.มหาดไทย ยังมีคำสั่งแบ่งงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย ดังนี้ 

“อนุทิน ชาญวีรกูล” กำกับดูแลสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมโยธาธิการและผังเมือง การประสานงานส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยตามกฎหมายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกำกับดูแลการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

“ทรงศักดิ์ ทองศรี” รมช.มหาดไทย สั่งและปฏิบัติราชการ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกำกับดูแลการประปานครหลวง

“ชาดา ไทยเศรษฐ์” รมช.มหาดไทย สั่งและปฏิบัติราชการ กรมการพัฒนาชุมชน กรมที่ดิน และกำกับดูแลการประปาส่วนภูมิภาค

“เกรียง กัลป์ตินันท์” รมช.มหาดไทย สั่งและปฏิบัติราชการ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร และกำกับดูแลองค์การตลาด และองค์การจัดการน้ำเสีย

ในส่วนของ “มหาดไทย” การแบ่งงานของ มท.หนู ส่งสัญญาณชัดเจนว่า พรรคภูมิใจไทยยึดกลไกการปกครอง การบริหารงานท้องถิ่นเอาไว้ทั้งหมด เพื่อสนับสนุนงานมวลชน งานพื้นที่ของพรรค โดยแบ่งให้ รมช.“เกรียง”จากเพื่อไทย ดูแลงานที่เนื้องานไม่มีอำนาจในการควบคุมกลไกการปกครองมากนัก

นับหนึ่งรัฐบาล “เศรษฐา 1” กระจายอำนาจให้พรรคร่วมรัฐบาล กระชับอำนาจให้ “ทีมเพื่อไทย” รวมศูนย์อยู่ที่นายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” ซึ่งเป็นอำนาจหลัก ควบคุมทั้งกลไกเศรษฐกิจ และกลไกความมั่นคง 

‘เศรษฐา’ ยึดหน่วยงานมั่นคง   คุมกลาโหม-ตำรวจ-ข่าวกรอง