องค์คณะไต่สวนฯชง ป.ป.ช.ชุดใหญ่ชี้มูล 'สุขุมพันธ์ุ-พวก' คดี รฟฟ.สีเขียว

องค์คณะไต่สวนฯชง ป.ป.ช.ชุดใหญ่ชี้มูล 'สุขุมพันธ์ุ-พวก' คดี รฟฟ.สีเขียว

องค์คณะไต่สวนฯ เสียงข้างมากชงที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ชี้มูลคดี กทม.ว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ต่อสัญญาถึงปี 2585 วงเงิน 1.9 แสนล้านบาท หลังแจ้งข้อกล่าวหา 'สุขุมพันธ์ุ-พวก'

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 สำนักข่าวอิศรา รายงานอ้างแหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา มีการประชุมองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ ประกอบไปด้วยกรรมการ ป.ป.ช. ทุกคน เพื่อพิจารณากรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585

กรณีกล่าวหาว่าเป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และเอื้อประโยชน์ให้แก่ BTSC เพียงรายเดียว โดยก่อนหน้านี้ องค์คณะไต่สวนฯได้แจ้งข้อกล่าวหาบุคคลและนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง 13 ราย ไปแล้ว

ในการพิจารณาสำนวนการไต่สวนฯเรื่องดังกล่าว ที่ประชุมมีข้อเสนอว่า ควรให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมหรือไม่ ผลปรากฏว่าองค์คณะไต่สวน มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง เห็นว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนฯมีเพียงพอที่จะลงมติได้แล้ว จึงไม่ต้องสอบเพิ่มอีก

จากนั้นที่ประชุมมีการลงมติว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดหรือไม่ ผลปรากฏว่าในการลงมตินั้น องค์คณะไต่สวนมีความเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 ,157, 83 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) ไปด้วยเสียง 3 ต่อ 3 เสียง

"แม้ว่าเสียงจะเท่ากัน แต่ถือว่าเข้าข่ายความผิด เพราะตาม มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต บัญญัติว่า การลงมติว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดหรือไม่นั้น ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดที่มีอยู่" แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช. ระบุ

สำหรับกรรมการเสียงข้างน้อย ประกอบไปด้วย นายวิทยา อาคมพิทักษ์ ,นางสุวณา สุวรรณจูฑะ และนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และพวกรวม 13 คน กรณีว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585 ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และเอื้อประโยชน์ให้แก่ BTSC เพียงรายเดียว ตามที่องค์คณะไต่สวนเสนอ