'ทักษิณ-เนวิน' 22 ปีแห่งความหลัง ทั้งรักทั้งชังทั้งหวานและขมขื่น

'ทักษิณ-เนวิน' 22 ปีแห่งความหลัง ทั้งรักทั้งชังทั้งหวานและขมขื่น

เวลาเปลี่ยนคนเปลี่ยน ”ทักษิณ” ลบอดีตลืมความแค้น ขอกลับบ้านเลี้ยงหลาน ต้อนรับ ”เนวิน” กลับสู่ใต้ชายคาจันทร์ส่องหล้า

ย้อนรอย 22 ปีแห่งความหลัง ‘ทักษิณ-เนวิน’ ทั้งรักหวานชื่น ทั้งรบกันเลือดท่วมจอ จวบจนถึงวันนี้ที่บ้านใหญ่บุรีรัมย์รอคอย

วันเสาร์ที่ 22 ก.ค.2566 พรรคเพื่อไทย เชื้อเชิญพรรคภูมิใจไทย มาร่วมปรึกษาหารือเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล อันเป็นละครการเมืองที่แกนนำเพื่อไทยจัดฉากขึ้นมา เพื่อหาคำตอบให้กับพรรคก้าวไกล

ในขบวนแกนนำพรรคภูมิใจไทย ที่ตบเท้ามาเยือนพรรคเพื่อไทย ปรากฏว่า มีเสี่ยนก-ไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ เนวิน ชิดชอบ ร่วมคณะมาด้วย

ตอนแรก หลายคนคงคิดว่า จะมีเพียงเสี่ยโอ๋-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่มากับเสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล แต่กลับพ่วงลูกชายเนวินมาด้วย แสดงว่า ดีลนี้ไม่ธรรมดา 
 

จริงๆแล้ว เนวิน ชิดชอบ ได้ส่งสัญญาณคืนดีกับนายใหญ่ มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว รวมถึงช่วงหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เสี่ยหนู และพลพรรคสีน้ำเงินก็หลีกเลี่ยงการโจมตีเพื่อไทย

ขุนพลแก้ว

เส้นทางการเมืองของ เนวิน ชิดชอบ โคจรมาพบกับ ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงหลังการเลือกตั้งปี 2544

เวลานั้น เนวินเป็น สส.พรรคชาติไทย และบรรหาร ศิลปอาชา ได้นำพรรค ชาติไทย เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคไทยรักไทย

รัฐบาลทักษิณ 1 บรรหารไม่ได้ส่งชื่อ เนวิน เป็นรัฐมนตรี เพราะยังติดภาพ ‘ยี้ห้อยร้อยยี่สิบ’ ในสายตาผู้คนทั่วไป ทางฝ่ายทักษิณเอง ก็ไม่ต้องการรัฐมนตรีมีภาพลักษณ์ติดลบ

ปี 2545 กำนันชัย ชิดชอบ เอ่ยปากกับอดีตนายกฯทักษิณว่า “อาขอฝากลูกชายไปทำงานกับท่านนายกฯด้วยนะ” หลังจากนั้น ทักษิณแต่งตั้งเนวินเป็น รมช.เกษตรฯ ตามมาด้วย รมช.พาณิชย์

แทบไม่น่าเชื่อ หลังจากนั้น เนวินกลายเป็นขุนพลแก้ว ของทักษิณ เพราะเป็นคนหัวไว ปรับตัวได้เร็ว นายใหญ่สั่งการอะไร ก็ทำได้ทันที 

สู้เพื่อนายใหญ่

ช่วงต้นปี 2549 สนธิ ลิ้มทองกุล และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้จัดการชุมนุมขับไล่ทักษิณอย่างต่อเนื่อง 

เนวิน ชิดชอบ ลุกขึ้นมาอาสารบกับทัพคนเสื้อเหลือง เพื่อปกป้องทักษิณ ด้วยการจัดการชุมนุมของกลุ่มแท็กซี่ และคาราวานคนจนที่สวนจตุจักร

กลุ่มคาราวานคนจน ภายใต้การนำของ คำตา แคนบุญจันทร์ อดีตแกนนำสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกยอ.) ได้ระดมชาวนานอีสานมาปักหลักพักค้าง สนับสนุนรัฐบาลทักษิณ

หลังรัฐประหาร 2549 เนวิน กบดานอยู่บุรีรัมย์ แต่ก็ให้การสนับสนุนจักรภพ เพ็ญแข ก่อตั้งสถานีโทรทัศน์พีทีวี เป็นกระบอกเสียงฝ่ายทักษิณสู้กับเอเอสทีวีของ สนธิ ลิ้มทองกุล

ต้นปี 2550 รัฐบาลสุรยุทธ์ สั่งปิดสถานีพีทีวี จักรภพจึงจัดการชุมนุมขับไล่ คมช. ที่ท้องสนามหลวง ซึ่งตอนนั้นเรียกกันว่า ม็อบพีทีวี

จากม็อบพีทีวี ได้ปรับขบวนเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) มีแกนนำชุดแรกได้แก่ วีระกานต์ มุสิกพงศ์, จตุพร พรหมพันธุ์, จักรภพ เพ็ญแข, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ฯลฯ

เลือกตั้งปี 2550 เนวินเป็นหนึ่งในแม่ทัพพรรคพลังประชาชน ที่กวาด สส.มาได้เกือบครึ่งสภาฯ หนุนสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมน ตรี ต่อเนื่องมาถึงสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ

ปลายปี 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติสั่งให้ยุบ 3 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เนวินจึงนำ ส.ส. 23 คน ในนามกลุ่มเพื่อนเนวิน รวมกับกลุ่มสมศักดิ์ เทพสุทิน 8 คน เข้าร่วมการจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ 

ช่วงเวลาก่อนที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาลพลิกขั้ว ที่มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้สั่งให้คนใกล้ชิดพยายามต่อสายถึงเนวิน เพื่อให้พา สส.กลุ่มเพื่อนเนวิน กลับมาอยู่กับพรรคเพื่อไทย แต่ปรากฏว่าเนวินไม่รับโทรศัพท์ เป็นเหตุให้ทักษิณ ต้องโทรศัพท์ถึงเนวินเพื่อเจรจาด้วยตัวเอง 

ครั้งนั้น ศุภชัย โพธิ์สุ อดีต สส.นครพนม เล่าว่า ระหว่างที่ทักษิณคุยกับ เนวินอยู่นั้น ปรากฏว่า เนวินมีสีหน้าไม่สู้ดี และพูดเพียงสั้นๆ ว่า “ทุกอย่างจบแล้วครับนาย”

นี่คือจุดเริ่มต้นปฏิบัติการไล่ล่าคนทรยศนายใหญ่ ในการเลือกตั้งปี 2554 ส่งผลให้พรรคภูมิใจไทย ปราชัยย่อยยับ

ขบวนการเสื้อน้ำเงิน

จากกลุ่มเพื่อนเนวิน ได้แปรสภาพเป็นพรรคภูมิใจไทย ซึ่งตอนนั้น กลุ่มมัชฌิมาของสมศักดิ์ เทพสุทิน ยังร่วมหัวจมท้ายอยู่ด้วยกัน

อีกด้านหนึ่ง เนวิน ได้จัดตั้ง “คนเสื้อสีน้ำเงิน” เป็นขบวนการปกป้องสถาบัน โดยมี คำตา แคนบุญจันทร์ และป้าสะอิ้ง ประธานเครือข่ายเกษตรกรทางเลือก บ้านโพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด เป็นแกนนำในกลุ่มรากหญ้าอีสาน

ขณะเดียวกัน ทีมงานบ้านใหญ่บุรีรัมย์ ได้ผุดวิทยุชุมชนชื่อ ปกป้องสถาบัน พร้อมกันนั้น ยังมีทีวีดาวเทียมช่องใหม่ชื่อ บี แชนแนล ที่เน้นปลุกคนรากหญ้าปกป้องสถาบัน 

ขบวนการคนเสื้อน้ำเงิน และทีมงานสื่อปกป้องสถาบัน เป็นยุทธศาสตร์ในการตอบโต้คนเสื้อแดง พร้อมวิทยุชุมชน-ทีวีเสื้อแดง ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งปี 2554

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้ง พ.ศ.นั้น พรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดงได้ให้บทเรียนแก่เนวิน และพลพรรคอย่างเจ็บแสบ โทษฐานที่เป็นปฏิปักษ์กับคนแดนไกล 

แพ้แล้วแพ้อีก

ครูใหญ่พรรคภูมิใจไทย เนวินเคยนำทัพเข้าสู่สมรภูมิเลือกตั้งในปี 2554 ไม่อาจสู้กระแสยิ่งลักษณ์ได้เลย ตอนนั้น ภูมิใจไทย ได้ สส.เขต 29 คน และ สส.บัญชีรายชื่อ 5 คน

ก่อนจะเข้าสู่โหมดเลือกตั้งปี 2562 เนวินปรับภาพลักษณ์ภูมิใจไทย ให้เป็นพรรคทางสายกลาง ดัน อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรค ลดการเผชิญหน้ากับนายใหญ่ ลดความเป็นภาพพรรคขั้วสี 

ผลเลือกตั้งปี 2562 พรรคภูมิใจไทย ได้ สส.บัญชีรายชื่อ 12 ที่นั่ง และ สส.39 ที่นั่ง (ยังไม่นับรวมงูเห่า) ก็ยังเอาชนะเพื่อไทยในภาคอีสานไม่ได้

ภาคอีสาน กลายเป็นจุดอ่อนของพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะเป็นเลือกตั้งปี 2554 และปี 2562 กระแสโจมตีเนวินทรยศนายใหญ่ ยังขลังอยู่

กระทั่งการเลือกตั้งปี 2566 ปรากฏการณ์ส้มทั้งแผ่นดินเขย่าฐานเพื่อไทยในทุกภาค เฉพาะภาคอีสาน กลยุทธ์ตอกเสาเข็มของภูมิใจไทย บรรลุเป้าหมาย

ผลการเลือกตั้งปี 2566 ในภาคอีสาน ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทย ได้ สส.เขต 73 ที่นั่ง จากทั้งหมด 133 ที่นั่ง ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ได้ สส.เพิ่มขึ้นรวม 35 ที่นั่ง จากที่เคยได้ 16 ที่นั่งเมื่อปี 2562

แสดงว่า ทักษิณเสื่อมมนต์ขลัง และภาพลักษณ์เนวิน ครูใหญ่ภูมิใจไทยเริ่มดีขึ้นในสายตาชาวอีสาน

ส่งสัญญาณคืนดี

หลายคนคงจำกันได้ ปลายเดือน ธ.ค.2565 เนวิน ชิดชอบ ในฐานะครูใหญ่พรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์รายการข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองหลังการเลือกตั้งปี 2566

“ประเทศไทยกับการเมืองไทย ไม่มีมิตรแท้ ไม่มีศัตรูถาวร เชื่อผมเลย และสิ่งที่มันเป็นกลไกสำคัญที่สุด การตัดสินของประชาชน ณ วันลงคะแนนเลือกตั้ง จะเป็นตัวบังคับให้นักการเมือง และพรรคการเมืองต้องรู้ว่าประชาชนต้องการอะไร”

ตอนนั้น เนวินวิเคราะห์ว่า หลังเลือกตั้งครั้งหน้า ภูมิใจไทยก็จับมือเพื่อไทยตั้งรัฐบาลได้ อย่าเอาเรื่องของเนวินกับทักษิณ มาเป็นตัวตั้ง

“พรรคเพื่อไทยขับเคลื่อนโดยใคร ใครเป็นคนกำหนดนโยบาย ใครบริหารพรรคเพื่อไทย ถ้าหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค แกนนำพรรคเพื่อไทยปัจจุบันเป็นผู้บริหารทั้งหมด แล้วจะมีความขัดแย้งอะไรกับนายอนุทิน แม้แต่ตัวนายทักษิณ ชินวัตร กับอนุทิน ในอดีตไม่มีปัญหาขัดแย้งกัน”


เนวินบอกว่า เรื่องในอดีตก็คืออดีต ปัจจุบันต้องถามว่า ผู้บริหารพรรคเพื่อไทยคือใคร แล้วมีปัญหากับอนุทินหรือไม่

ดังนั้น อย่าได้แปลกใจในวันนี้ ที่พรรคภูมิใจไทย ถูกเชื้อเชิญเป็นพรรคแรกจากพรรคเพื่อไทยให้เข้าไปพูดคุยเพื่อทางออกให้แก่ประเทศไทย

เหมือนคำกล่าวของทักษิณ ผ่านรายการแคร์ทอล์คเมื่อต้นปีนี้ เขาอยากกลับบ้านไปเลี้ยงหลาน และพร้อมอโหสิกรรมให้กับทุกคนที่เคยเป็นคู่ขัดแย้งในอดีต