3 ตัวตึง ‘เพื่อไทย’ ใครจะคว้า ‘ประธานสภาฯ’

 3 ตัวตึง ‘เพื่อไทย’ ใครจะคว้า ‘ประธานสภาฯ’

"...ทั้ง “ชลน่าน-สุชาติ-ชูศักดิ์” คือ “3 ตัวตึง” ของเพื่อไทยที่จะต้องผ่านการคัดเลือกไปชิง “ประธานสภาฯ” เนื่องจากหมุดหมายของ “นายใหญ่-เพื่อไทย” หวังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ปูทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย..."

เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุม “กรรมการบริหาร-ส.ส.” ของพรรคเพื่อไทย แสดงท่าทีชัดเจนว่า ต้องชิงเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” มาให้ได้ แม้จะไม่มีการลงมติพรรค เพื่อรักษามารยาท เปิดช่องให้ “ทีมเจรจาเพื่อไทย” ไปพูดคุยกับ “ทีมเจรจาก้าวไกล” เสียก่อน เพื่อเล่นบทประคับประคองให้ “รัฐบาลในฝัน” พอมีทางเป็นไปได้

แต่ในทางปฏิบัติ รับรู้กันว่าถึงเวลา “เพื่อไทย” เลิกเล่นบทพระเอก หันมาเล่นบทร้าย เริ่มจากการแย่งเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” มาจาก “ก้าวไกล” ช็อตต่อไปจะร่วมโหวตให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แต่รู้อยู่แก่ใจว่า โหวตกี่ครั้งชื่อของ “พิธา” ก็ไม่ผ่านด่าน 250 ส.ว.

ต้องวัดใจ “เพื่อไทย” จะเล่นเกมช่วยโหวต “พิธา” สักกี่ครั้ง ก่อนจะเปลี่ยนเกมมาเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย โดยโฟกัสไปที่ชื่อของ “เสี่ยนิดเศรษฐา ทวีสิน

สำหรับรายชื่อตัวเต็งประธานสภาผู้แทนราษฎร ของพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย “สุชาติ ตันเจริญ” ส.ส. บัญชีรายชื่อ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ส.ส. บัญชีรายชื่อ โดยทั้ง 3 มีคุณสมบัติโดดเด่นแตกต่างกัน

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ก่อนมาลงสนามการเมืองเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลเวียงสา อ.เวียงสา จ.น่าน และเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว อ.ปัว จ.น่าน ปี 2538-2543 ต่อมาได้เข้ามาทำงานการเมือง เป็นส.ส.น่าน สังกัดพรรคไทยรักไทย

เส้นทางการเมือง ปี 2544 เป็น ส.ส.น่าน พรรคไทยรักไทย ปี 2548 ส.ส.น่าน พรรคไทยรักไทย ปี 2550 ส.ส.น่าน พรรคพลังประชาชน ปี 2554 ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ปี 2562 ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ปี 2566 ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย

ต่อมาในปี 2547 “ชลน่าน” ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขานุการ รมว.สาธารณสุข และปี 2548 เป็นเลขานุการ รมว.สาธารณสุข

“ชลน่าน” เคยได้รับเลือกจากสื่อมวลชนประจำรัฐสภาให้เป็น “ดาวสภา” เนื่องจากมีบทบาทการอภิปราย กระทั่งปี 2555 ได้รับแต่งตั้งเป็น รมช.สาธารณสุข ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนจะโดนรัฐประหาร และในช่วงปลายปี 2564 ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน” ในสภาฯ 

ด้วยภาพลักษณ์ การทำงานสภาฯ อยู่ในเชิงบวก ทำให้ชื่อของ “ชลน่าน” อยู่ในลิสต์ชิงเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” แต่หลังการเลือกตั้งบทบาทที่ต้องประสานงานใกล้ชิดกับ “ก้าวไกล” หากจะมาหักหาญกัน อาจทำให้เสียคะแนนนิยมส่วนตัวได้

สุชาติ ตันเจริญ” ผู้นำบ้านใหญ่แปดริ้ว ส.ส.ฉะเชิงเทรา 9 สมัย สังกัดมาแล้วหลายพรรค นับรวมถึงปัจจุบันถึง 11 พรรค ตั้งแต่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติพัฒนา พรรคไท พรรคความหวังใหม่ พรรคไทยรักไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย

   สุชาติ เคยนั่งรมช.มหาดไทย ในปี 2535 และ 2538 เคยเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในปี 2548 และ 2562 เคยเป็นรองหัวหน้าพรรคชาติไทย และพรรคไทยรักไทย

 ปี 2550 ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกยุบในปี 2549 จากนั้นจึงนำสมาชิกในกลุ่มบ้านริมน้ำ ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อแผ่นดินในปี 2553 ก่อนย้ายไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคภูมิใจไทย

“สุชาติ” นำสมาชิกในกลุ่มบ้านริมน้ำมาสมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เมื่อปี 2561 หลังเลือกตั้งปี 2562 ได้รับตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 อีกครั้ง

ต่อมา 29 มี.ค.2566 “สุชาติ” นำทีมบ้านริมน้ำ กลับเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางกระแสข่าวว่า เขาหวังจะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร 

ด้วยประสบการณ์การเมืองดังกล่าว “สุชาติ” ที่เป็นตัวละครหลังม่านในหลายพรรค ให้การสนับสนุนลูกน้องลงสมัคร ส.ส. เป็นนักเลือกตั้งที่ยึดหลัก เอาพวกมาก่อนพรรค จึงมักรวมตัวกันเพื่อน ส.ส.ตั้งกลุ่มการเมือง อาทิ กลุ่มเทิดไท สมัยที่สังกัดพรรคสามัคคีธรรม กลุ่ม 16 สมัยที่อยู่พรรคชาติไทย และพรรคพวกส.ส.พรรคชาติพัฒนา  กลุ่มบ้านริมน้ำ ยุคพรรคความหวังใหม่-พรรคไทยรักไทย

“สุชาติ” จึงมีเพื่อนฝูง และมิตรการเมือง อยู่แทบทุกพรรค จึงไม่แปลก ที่จะมีข่าวว่าพวกในพรรคอื่น จะเสนอชื่อเขาเป็นประธานสภาฯ 

ชูศักดิ์ ศิรินิล” เคยเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2 สมัยติดต่อกัน คือในปี 2532-2537 เป็นอาจารย์วิชากฎหมายที่นักการเมืองหลายคนเคยเป็นลูกศิษย์

 ชูศักดิ์ เข้าสู่วงการการเมืองด้วยการเป็นที่ปรึกษา “ทักษิณ ชินวัตร” หัวหน้าพรรคไทยรักไทยในขณะนั้น ลงสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ปี 2544 และ 2548 เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมาธิการ ในสภาผู้แทนราษฎร หลายคณะ

ภายหลังยุบพรรคไทยรักไทย ในปี 2549 “ชูศักดิ์” กลับมานั่งเก้าอี้รองเลขาธิการ พรรคพลังประชาชน ที่ตั้งขึ้นมาแทน และในการจัดตั้งรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช  เขาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดูแลรับผิดชอบงานด้านกฎหมาย และต่อมาก็ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์

ปี 2551 ชูศักดิ์ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ที่ถูกยุบพรรค

ปี 2562 ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 12 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทย มีจำนวน ส.ส. มากกว่าจำนวน ส.ส. พึงมีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ปี 2563 ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และในการเลือกตั้งปี 2566 ได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในลำดับที่ 4

อย่างไรก็ตาม งานด้านกฎหมายในพรรค ตั้งแต่ ไทยรักไทย พลังประชาชน จนมาถึงเพื่อไทย “ชูศักดิ์”ถือว่า มีบทบาทในการต่อสู้คดีต่างๆ ของพรรค รวมทั้งคดีการเมืองของคนในครอบครัว“ชินวัตร” มาอย่างต่อเนื่อง 

ทั้ง “ชลน่าน-สุชาติ-ชูศักดิ์” คือ “3 ตัวตึง” ของเพื่อไทยที่จะต้องผ่านการคัดเลือกไปชิง “ประธานสภาฯ” เนื่องจากหมุดหมายของ “นายใหญ่-เพื่อไทย” หวังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ปูทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย