"2กูรูกฎหมาย" ชี้ "ส.ว." ไม่มีอำนาจ ตีความคุณสมบัติ "แคนดิเดตนายกฯ"

"2กูรูกฎหมาย" ชี้ "ส.ว." ไม่มีอำนาจ ตีความคุณสมบัติ "แคนดิเดตนายกฯ"

"เจษฎ์-คมสัน" ชี้ "ส.ว." ไม่มีอำนาจ ยื่นตีความคุณสมบัติ "แคนดิเดตนายกฯ" มองเจตนาเพื่่อหาความชอบธรรม หลัง ส.ว. ประกาศไม่โหวต "พิธา" เป็นนายกฯ

นายเจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ฐานะอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นที่ ส.ว. เตรียมเข้าชื่อเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ  ว่า ตามรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ระบุบทบัญญัติในการตรวจสอบบุคคลที่ถูกเสนอชื่อจากพรรคการเมืองให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งต่างจากผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือ ส.ส. ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 82 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ดังนั้นหากส.ว.จะตีความว่าในฐานะที่ตนเองมีสิทธิโหวตนายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภา จึงมีอำนาจตรวจสอบนั้น อาจจำเป็นต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในอำนาจของส.ว.ที่จะดำเนินการดังกล่าว ที่อาจเทียบเคียงในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติใดของรัฐธรรมนูญกำหนด ต้องใช้ประเพณีการปกครอง

 

นายเจษฎ์ กล่าวย้ำว่าในประเด็นที่นายพิธา แม้จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่คาดว่าจะเสนอชื่อต่อสภาฯ แต่ปัจจุบันมีสถานะคือ ส.ส. ดังนั้นหากตรวจสอบนายพิธาในขณะนี้ ส.ว.ไม่สามารถยื่นตรวจสอบได้ ส่วนกรณีที่ส.ว.อาจจะใช้ช่องยื่นตรวจสอบในวันเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกฯ และนายพิธา เป็นชื่อที่ถูกเสนออาจจะทำได้ แต่จะมีประเด็นด้วยว่าจะยับยั้งการลงมติได้หรือไม่ เพราะการเลือกนายกฯ ตามมาตรา 272 นั้น ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

เมื่อถามถึงเจตนาของส.ว.ที่เตรียมดำเนินกการดังกล่าว นายเจษฎ์ กล่าวว่า ส.ว.อาจต้องการหาความชอบธรรมที่จะไม่ออกเสียงสนับสนุนนายพิธา แม้ว่า ส.ว.จะใช้สิทธิ์ ไม่โหวตนายพิธาได้ แต่หากมีประเด็นว่านายพิธาขาดความชอบธรรมที่จะเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ จะเป็นสิ่งที่ทำให้ส.ว.ไม่ตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งทางการเมือง

 

 

 

ขณะที่นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ในประเด็นเดียวกันว่า  ตนมองว่าส.ว.ไม่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 82 เพื่อตรวจสอบแคนดิเดตนายกฯ ได้ แม้ว่าส.ว.จะมีอำนาจร่วมเลือกนายกฯ ตามมาตรา 272   แต่การอ้างสิทธิ์ที่ได้เลือกเพื่อไปตรวจสอบแคนดิเดตนั้น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่มีกำหนดไว้ อย่างไรก็ดีส.ว.มีสิทธิ์ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายกรัฐมนตรีได้  ตามาตรา 170 ทั้งนี้ต้องรอให้ได้รับตำแหน่งก่อน

เมื่อถามว่าในกรณีตรวจสอบคุณสมบัติขณะนี้ใครมีสิทธิ์ที่ยื่นตรวจสอบได้บ้าง นายคมสัน กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ ยังให้ อำนาจ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการได้ แม้จะผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว แต่ปัญหาคือ กกต.ไม่ยอมใช้อำนาจของตนเอง.