ไม่น่าจะคุ้มทุน

ไม่น่าจะคุ้มทุน

ยังไม่ทันไร การหาเสียงเลือกตั้งก็เข้มข้น เริ่มขุดรากถอนโคน และสาดโคลนเข้าหากันแล้ว

เหนื่อยทั้งกายและใจ กว่าจะฝ่าด่านเลือกตั้งไปเป็น ส.ส. ได้ ต้องใช้เงินเยอะมาก มีผู้ประเมินว่า น่าจะ 20-30 ล้านเป็นอย่างต่ำ 

 

เพื่อเข้าไปรับตำแหน่งส.ส. ที่มีเงินเดือนเพียง 71,230 บาท บวกเงินประจำตำแหน่ง 42,330 บาท รวมเดือนละ 113,560 บาท และผลประโยชน์อื่นอีกบ้างตามระเบียบ สมมติว่าปัดเศษขึ้นไปให้เต็มที่เลย ให้เป็นเดือนละ 150,000 บาท ก็ได้

 

 

ลองใช้ตัวเลขนี้คำนวณดู ถ้าอยู่ครบ 4 ปี ก็จะได้รับ 7,200,000 บาท  หรือปรับตัวเลขขึ้นเป็น 8 ล้านบาทก็ได้ หรือเอาแบบใจถึง ปัดขึ้นให้เวอร์ไปเลย ให้ 4 ปีมีรายได้ 10 ล้านบาท

ลงทุนไป 20-30 ล้าน ทำงานเหน็ดเหนื่อยสี่ปี ได้ผลตอบแทนอย่างมาก 10 ล้าน แล้วมันจะคุ้มกับเงินลงทุนหรือครับ  ต่อให้ลงทุนไปเพียง 10 ล้าน ก็ยังเหมือนทำงานฟรี 4 ปี อยู่ดี  

คนอ่อนคณิตศาสตร์อย่างเรา ตอบว่าไม่คุ้ม  แต่คนที่เก่งคณิตศาสตร์ เขาลงทุนจนสอบได้เป็น ส.ส. เขาเห็นตัวเลขที่เรามองไม่เห็น แล้วบอกว่ามันคุ้มมากนะ

ส่วนใครที่บารมีถึง และเก่งฉกาจจนก้าวผงาดถึงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” แน่นอนว่าชีวิตหลังจากได้รับตำแหน่ง จะต้องเหนื่อยยากลำบากตลอดเวลา ทุกวันแทบไม่ได้หลับได้นอน

แถมยังโดนด่าเป็นว่าเล่น ทั้งในสภาและนอกสภา เครียดทุกวัน และได้เงินเดือนมากกว่า ส.ส. ส.ว. เพียงนิดเดียว 

ผมจึงไปหาข้อมูลล่าสุดว่า “ผู้นำ” ประเทศต่างๆ มีรายได้เท่าใด ผมได้ตัวเลขล่าสุดซึ่งอ้างอิงได้ ตีพิมพ์ในสิงคโปร์ เมื่อเดือนมกราคม 2566 นี้เอง

“โจ ไบเด้น” รายได้ปีละ SGD 532,466 หรือ 13.6 ล้านบาท ส่วนผู้นำคู่แค้น “สี จิ้นผิง” ได้เพียงปีละ SGD 29,000 หรือ 739,500 บาท ต่ำกว่ากันมากมาย แต่ทำไมจีนจึงจ่ายเพียงแค่นี้ ก็ไม่รู้เหมือนกัน

ขนาดนายกฯมาเลเซีย “อันวาร์ อิบราฮิม” ยังมีรายได้สูงกว่าสี จิ้นผิง เสียอีก คือได้ปีละ SDG 83,417 หรือ 2,127,000 บาท 

นายกรัฐมนตรีไทย มีรายได้เท่าใด? นายกฯของเรารับเงินเดือน 75,590 บาท บวกเงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท รวมเป็นรายได้ เดือนละ 125,590 บาท 

คิดเป็นปีละ 1.5 ล้านบาท ก็สูงกว่าสี จิ้นผิง เหมือนกัน แต่ได้ปีละเท่านี้ ก็ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับความรับผิดชอบ สมมติว่าบวกเข้าไปให้อีกเป็นปีละ 2 ล้านบาท ก็ยังน้อยมากอยู่ดี

รายงานฉบับนี้ ระบุว่าผู้นำที่มีรายได้สูงสุดนั้น อยู่ใกล้ประเทศไทยเรานิดเดียวเอง สิงคโปร์ไงครับ นายกรัฐมนตรีของเขา ได้ค่าตอบแทนปีละ SGD 2,200,000  หรือ 56.1 ล้านบาท!

ถ้านายกรัฐมนตรี ได้ระดับนี้ รัฐมนตรีก็ต้องได้มากเช่นกัน 

ทุกอย่างขึ้นอยู่กับ “วิธีคิด” ครับ สิงคโปร์เขาคิดว่า ผู้นำภาครัฐจะต้องได้รับผลตอบแทนที่สมฐานะและศักดิ์ศรี จะได้ไม่ไปหาเศษหาเลยจากตำแหน่งหน้าที่  

ส่วนบ้านเรา งบประมาณน้อย คนไทยรายได้น้อย ผู้บริหารประเทศก็เลยมีเงินเดือนน้อยไปด้วย ถ้าเป็นคนดีก็เข้าไปเสียสละอย่างเดียว  ผมรู้จักอดีต รมต. ท่านหนึ่ง ที่เสียสละรายได้จากภาคเอกชน เดือน 2-3 ล้านบาท ไปรับเพียงเดือนละแสนกว่าบาท เท่านั้น

แต่ รมต.บางคน ก็ถือโอกาสเข้าไปหารายได้อย่างอื่น อย่างเป็นกอบเป็นกำ จนเข้าเรือนจำไปหลายคนแล้วเหมือนกัน

นอกจากสิงคโปร์จะกำหนดให้มีรายได้สูง เพื่อให้สมกับความรู้ความสามารถ และการเสียสละ รวมทั้งเพื่อลดคอรัปชั่นแล้ว สิงคโปร์ยังมีระบบเงินเดือนคล้ายภาคเอกชน 

เช่น รมต. มีเงินเดือนประจำ 12 เดือน และเงินเดือนพิเศษอีก 1 เดือน  รวมเป็น 13 เดือน ถ้าผลงานดี มีสิทธิได้โบนัสอีก 3 เดือน 

ถ้าเศรษฐกิจเติบโตดี มีสิทธิได้รับอีก 1 เดือน และแถมให้อีก 3 เดือน ถ้าหากช่วยกันทำให้คนที่มีรายได้น้อยสุด 20% ของประเทศ มีรายได้ดีขึ้นตามเป้า อัตราว่างงานลดลงตามเป้า ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีการทบทวนค่าตอบแทน ครม. อย่างเป็นระบบ และทบทวนทุก 5 ปี ซึ่งปีนี้ 2566 ก็จะมีการทบทวนอีกครั้ง

พูดง่ายๆคือ เขาจัดระบบผลตอบแทนนักการเมือง เหมือนประเทศเป็นธุรกิจ แล้วก็ประสบความสำเร็จในการพัฒนา แต่ไทยเราระบบเงินเดือนไม่เคยเป็นเชิงธุรกิจเช่นนั้น

เราเคยมีแค่นักธุรกิจ หรือ นักการเมืองที่มีความคิดในเชิงธุรกิจ เข้ามาบริหารประเทศด้วยนโยบายแบบธุรกิจ เป็นบางช่วงเวลา แต่ถ้าดูจากประวัติศาสตร์การเมืองระยะหลัง ช่วงใดที่เราบริหารประเทศในเชิงธุรกิจ ก็มักจบลงด้วยการปฎิวัติ อย่างน้อยก็ 2 ครั้งแล้ว 

พอบริหารแบบไม่ใช่ธุรกิจ มันก็มีปัญหาไปอีกแบบหนึ่ง แต่จะเอายังไงดีครับ เพราะไม่ว่าเราจะจัดการระบบผลตอบแทน ในเชิงธุรกิจ หรือไม่ใช่ธุรกิจ แต่คอรัปชั่นบ้านเราก็ยังคงเบ่งบาน และทำให้สะดุดตลอดมา

ขอเสนอให้พรรคการเมืองทุกพรรค ออกมาสัญญากับประชาชน อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ให้สัญญาอย่างชัดเจนเป็นข้อๆไปเลย ว่าพรรคจะทำอะไร หรือไม่ทำอะไร ในเรื่องคอรัปชั่น เช่นถ้าผู้สมัครเลือกตั้งของพรรค โดนใบแดง 1 คน 2 คน หรือ 3 คน พรรคจะรับผิดชอบ อย่างไร เป็นต้น

พรรคไหนให้สัญญาได้ ชัดเจน และให้สัญญาได้ หลายเรื่องที่โดนใจประชาชน เราก็เลือกพรรคนั้น แบบนี้พอไหวไหม

แต่คุณต้องทำตามนั้นจริงๆนะ สัญญาต้องเป็นสัญญา