เช็คความผิดเลือกตั้ง "กทม.-พัทยา" 22 พ.ค.65 ทำอย่างไรไม่ให้ถูกปรับ-จำคุก

เช็คความผิดเลือกตั้ง "กทม.-พัทยา" 22 พ.ค.65 ทำอย่างไรไม่ให้ถูกปรับ-จำคุก

เปิดคำเตือนความผิดเลือกตั้งท้องถิ่น "นายกพัทยา-สมาชิกสภาเมืองพัทยา-ผู้ว่าฯกทม.-ส.ก." 22 พ.ค.65 ทำอย่างไรไม่ให้ถูกปรับ-จำคุก

วันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.2565 จะถึงวันเลือกตั้งกทม.-พัทยา ในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) นายกเมืองพัทยา และสมาชิกสภาเมืองพัทยา ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้เร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์กระตุ้นให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด

โดยเฉพาะสิ่งที่ กกต.ได้ประกาศเตือนถึงความผิดการเลือกตั้งวันที่ 22 พ.ค.2565 ผ่านหัวข้อ "รู้จริงเรื่องเลือกตั้ง" ซึ่งกำหนด แนวปฏิบัติและข้อห้ามสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนให้ควรระวัง เนื่องจากมีความผิดถึงการถูกปรับและจำคุก

เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม

เรื่องแรก : กกต.ได้ออกคำเตือนถึงผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างผู้ใดขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว หรือไม่ให้ความสะดวก โดยไม่มีเหตุอับสมควรในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้าง แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 117 ของพระราชบัญญัติ(พรบ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 

เรื่องที่สอง : ในมาตรา 84 พรบ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ ห้ามมิให้ผู้ใด ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งพยายามออกเสียง ลงคะแนน หรือออกเสียงลงคะแนน โดยกำหนดบทลงโทษในมาตรา 126 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี หรือปรับตั้งแต่20,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

เรื่องที่สาม : ตามมาตรา 90 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใดโดยไม่มีอำนาจ โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิได้ หรือขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้งหรือมิให้ไปถึง ณ ที่ดังกล่าวภายในกำหนดเวลาที่จะออกเสียงลงคะแนนได้ โดยกำหนดบทลงโทษตามมาตรา 134 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 10 ปี

เรื่องที่สี่ : ในมาตรา 92 ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนน เลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครใด หรืองดเว้นไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครผู้ใดโดยมาตรา 126 กำหนดบทลงโทษหากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี - 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี

เรื่องที่ห้า : ตามมาตรา 124 กำหนดผู้ใดเล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันข้นต่อใดๆ เกี่ยวกับผลของการเลือกตั้งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 - 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้เล่นมีกำหนด 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้จัดให้มีการเล่นถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำของผู้สมัครต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครผู้นั้น

เรื่องที่หก : ในมาตรา 91 ห้ามมิให้ผู้ใดจ่าย แจก หรือให้เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจมิให้ออกเสียงลงคะแนน หรือกระทำการใดๆ เพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปออกเสียงลงคะแนน และผู้ใดมีบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้อื่นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปไว้ในความครอบครองโดยไม่มีเหตุอันสมควรในระหว่างวันประกาศให้มีการเลือกตั้งถึงวันถัดจากวันเลือกตั้งให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการตามวรรคหนึ่งประกอบ มาตรา 136 โดยผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 91 วรรคหนึ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้นมีกำหนด 10 ปี

เรื่องที่เจ็ด : ตามมาตรา 87 ในระหว่างการออกเสียงลงคะแนน ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด ถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งเพื่อให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง โดยมาตรา 135 ระบุไว้ว่าผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 87 ต้องระวางโทษต้องจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เรื่องที่แปด : ในมาตรา 89 ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนำบัตรเลือกตั้งที่ออกเสียงลงคะแนนแล้วแสดงต่อผู้อื่นเพื่อให้ผู้อื่นทราบว่าตนได้ลงคะแนนเลือก หรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด โดยมาตรา 135 กำหนดไว้ว่าผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 89 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

เรื่องที่เก้า : บุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ประกอบด้วย 1.ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช 2.ผู้ที่อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 3.ผู้ที่ถูกคุมขังโดยหมายของศาล หรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย 4.บุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ และ 5.ผู้ที่มีลักษณะต้องห้าม อื่นๆ ตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

ข้อแนะนำ

เรื่องแรก : การย้ายทะเบียนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในกรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งย้ายทะเบียนบ้านออกจากเขตเลือกตั้งหนึ่ง ไปยังอีกเขตเลือกตั้งหนึ่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกัน ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนในเขตเลือกตั้งใหม่ไม่ครบ 1 ปี ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายดังกล่าว จะใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ดังนี้

1.ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายดังกล่าวสามารถออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นได้ในเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ในเขตเลือกตั้งที่ตนย้ายไปอยู่ใหม่)

2.ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายดังกล่าวไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นในเขตเลือกตั้งที่ตนย้ายไปอยู่ใหม่ แต่สามารถขอเพิ่มชื่อเพื่อออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นในเขตเลือกตั้งเดิม (ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกัน) ที่ตนมีชื่อในทะเบียนครั้งสุดท้ายติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี

เรื่องที่สอง : การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก.ในวันที่ 22 พ.ค.2565 หากปรากฎว่ามีผู้สมัครที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่น ประกาศไม่รับสมัคร และมีผู้สมัครที่ถูกถอดถอนชื่อออกจากประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งรวมทั้งมีผู้สมัครที่เสียชีวิตก่อนวันเลือกตั้ง

ทั้งนี้ การลงคะแนนเลือกตั้งหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้กับผู้สมัครดังกล่าว บัตรเลือกตั้งนั้นจะเป็นบัตรเสียไม่นับเป็นคะแนนเลือกตั้ง ตามมาตรา 100 (7) ของ พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ประกอบ ข้อ 175 (10) ของระเบียบ กกตว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 จึงขอให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตรวจสอบประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งก่อนเข้าคูหาลงคะแนน

เรื่องที่สาม : ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือเจ้าบ้านพบว่าบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่มีชื่อของตนเอง หรือพบว่ามีชื่อผู้อื่นซึ่งมิใช่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านสามารถแจ้ง ต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยทำเป็นหนังสือก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน เพื่อให้เพิ่มชื่อหรือถอนชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง