RCL กำไร Q1/67 หดแรง 33% จากปีก่อน ทว่าเทียบ Q4/66 กลับพลิกบวก 207%

RCL กำไร Q1/67 หดแรง 33% จากปีก่อน ทว่าเทียบ Q4/66 กลับพลิกบวก 207%

บมจ. อาร์ ซี แอล (RCL) เผย Q1/67 มีปริมาณการขนส่งจำนวน 604,000 ตู้ ส่วนค่าระวางอยู่ที่ 314 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ พร้อมเปิดกำไรสุทธิ 613 ล้านบาท ลดลง 33% หากเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ทว่าเพิ่ม 207% ถ้าเทียบฐาน Q4/66 ซึ่งขาดทุน 572 ล้านบาท

นายทวินโชค ตันธุวนิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) หรือ RCL แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 613 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ที่มีผลขาดทุนจำนวน 572 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,184 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 207

อย่างไรก็ตาม แม้ในไตรมาสที่ 4 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีกำไรจำนวน 286 ล้านบาทก่อนการด้อยค่าของเรือเดินทะเลจำนวน 857 ล้านบาท บริษัทฯ ก็ยังสามารถทำกำไรได้มากกว่าเป็นจำนวน 327 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ทั้งนี้อัตราค่าระวางมีการปรับตัวขึ้นจาก 307 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 มาอยู่ที่ 314 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ในไตรมาส 1 ปี 2567 หรือเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2

ขณะที่บริษัทฯ มีรายได้จากการเดินเรือเพิ่มขึ้นจำนวน 270 ล้านบาท หรือร้อยละ 4 โดยมีปริมาณการขนส่งจำนวน 604,000 ตู้ เพิ่มขึ้น 13,400 ตู้หรือร้อยละ 2.3 ในขณะเดียวกันต้นทุนในการดำเนินงานลดลง 42 ล้านบาทเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาถึงแม้ว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงอยู่ในระดับที่สูง สะท้อนให้เห็นถึงมาตรการการควบคุมต้นทุนอย่างเข้มงวดของบริษัทฯ

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนบริษัทฯ มีกำไรสุทธิลดลง 300 ล้านบาท ซึ่งในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 913 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 33 โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่ลดลงจำนวน 53 ล้านบาท

ทั้งนี้ ธุรกิจขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางทะเลได้รับผลกระทบเชิงบวกจากสถานการณ์ โควิดที่มีผลต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565 จนถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางทะเลสามารถทำกำไรได้อย่างมากในช่วงระยะเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ธุรกิจการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางทะเลไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าวแล้ว

สำหรับตลาดการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางทะเลในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 เผชิญกับปัจจัยท้าทายหลายประการทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานที่ส่งผลต่อค่าระวางเรือ ระยะเวลาการขนส่ง และความไม่แน่นอนโดยรวมในตลาด ได้แก่ เศรษฐกิจ โลกที่ชะลอตัวซึ่งส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้า และปริมาณการขนส่งที่ลดลง

ขณะเดียวกันก็มีเรือต่อใหม่เข้าสู่ตลาดการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางทะเลมากขึ้นอย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางค้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ความขัดแย้งในทะเลแดงส่งผลให้ปริมาณเรือต่อใหม่ดังกล่าวถูกดึงไปวิ่งในระยะทางที่ไกลขึ้น ทำให้ระยะเวลาการขนส่งสินค้านานขึ้น และส่งผลให้ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น

บริษัทฯ ยึดมั่นในหลักการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการ บริหารจัดการและปรับปรุงประสิทธิภาพของกองเรือเพื่อพร้อมรับมือกับความท้าทายในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางทะเลโดยมุ่งเน้นการปรับปรุงนโยบายให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืน เช่น การเปลี่ยนไปใช้นโยบายการจัดซื้อสีเขียว (Green Procurement Policy)

และมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการดำเนินงานค้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและเครื่องยนต์ทั่วทั้งเรือ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการลดมลพิษทางน้ำโดยการใช้ระบบกันเพรียง (AFS) และยกเลิกการใช้สารไซบูทรีน (Cybutryne) บนเรือ เป็นต้น

อีกทั้ง เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทฯ ได้รับมอบเรือขนาด 7,000 TEUs จำนวน 1 ลำจากอู่ต่อเรือที่มีชื่อเสียงในประเทศจีน และได้ทำสัญญาเช่าระยะยาวออกไป (Charter Hire) เป็นระยะเวลาสามปีให้กับบริษัทภายนอกและสามารถรับรู้รายได้ทันที

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้สั่งต่อเรือขนาด 4,400 TEUs เพิ่มอีกเป็นจำนวน 2 ลำ จากที่ได้สั่งไปก่อนหน้าจำนวน 4 ลำ รวมเป็น 6 ลำ ซึ่งเป็นเรือที่มีการออกแบบที่ทันสมัยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ลดการปล่อยก๊าซเสียระหว่างปฏิบัติงานในท่าเรือ อีกทั้งยังสามารถปรับแต่งเพื่อรองรับเชื้อเพลิงทางเลือกและแหล่งพลังงานบริสุทธิ์ (Green Energy) ได้