สทนช. เปิดระบบ Thai Water Plan ถึง 30 เม.ย. นี้ มุ่งแก้น้ำท่วม-แล้ง ทั่วประเทศ

สทนช. เปิดระบบ Thai Water Plan ถึง 30 เม.ย. นี้ มุ่งแก้ท่วม-แล้ง ทั่วประเทศ

สทนช. ชี้แจงหลักเกณฑ์ แนวทางการจัดทำข้อเสนอแผนงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในช่วงฤดูฝนปี 67 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 67/68 ให้หน่วยงานและจังหวัดทั่วประเทศ โดยกำหนดระยะเวลาให้เสนอผ่านระบบ Thai Water Plan ได้ถึงสิ้นเดือน เม.ย. นี้

วันนี้ (10 เม.ย. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำข้อเสนอแผนงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในช่วงฤดูฝนปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 วานนี้ (9 เม.ย. 67) ณ ห้องประชุมเจ้าพระยา อาคารจุฑามาศ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ดร.สุรสีห์ เปิดเผยว่า ตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบ 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ตามที่ สทนช. เสนอ สทนช. จึงได้มีการจัดประชุมเพื่อชี้แจงหลักเกณฑ์และแนวทางในการจัดทำข้อเสนอแผนงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ให้หน่วยงาน จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้รับทราบ และสามารถเสนอแผนงานโครงการที่สอดคล้องตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 ตามประเภทกิจกรรมที่กำหนด 

สทนช. เปิดระบบ Thai Water Plan ถึง 30 เม.ย. นี้ มุ่งแก้น้ำท่วม-แล้ง ทั่วประเทศ

เพื่อขอรับงบประมาณนำไปขับเคลื่อนดำเนินงานได้ ในกรณีที่ไม่สามารถปรับแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีของหน่วยงานมาดำเนินการได้ หรือไม่มีงบเหลือจ่ายเพียงพอ หรือไม่มีงบประมาณจากแหล่งอื่นมาดำเนินการ ประกอบด้วย การซ่อมแซมปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน การปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ กำจัดผักตบชวา การขุดลอกคูคลองเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ สำหรับรองรับสถานการณ์น้ำหลาก และการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อเก็บกักไว้ใช้ช่วงฤดูแล้งถัดไป 

ทั้งนี้ แผนงานโครงการดังกล่าวจะต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยหรือภัยแล้งตามที่ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดการณ์ หรือเป็นพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขบรรเทาปัญหาโดยเร่งด่วนตามที่คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดพิจารณาเห็นสมควร และต้องไม่ซ้ำซ้อนกับแผนงานโครงการที่ได้รับงบประมาณมาดำเนินการแล้ว รวมทั้งต้องสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่ได้รับจัดสรรงบประมาณ โดยหน่วยงาน จังหวัด อปท. จะต้องเสนอแผนงานโครงการผ่านระบบ Thai Water Plan (TWP) ภายในวันที่ 30 เม.ย.นี้ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองและพิจารณาตามลำดับต่อไป

“จากการลงพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมาเพื่อติดตามสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำและเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนทั่วประเทศ พบว่า มีหลายพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องเร่งขับเคลื่อนโครงการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งภัยแล้งและอุทกภัย แต่ยังขาดงบประมาณในการดำเนินการ โดยหน่วยงาน จังหวัด หรือ อปท. ที่มีแผนงานโครงการตามข้อกำหนดของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในช่วงฤดูฝนปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 สามารถเสนอขอรับงบประมาณผ่านระบบ TWP ได้ภายในเดือนเมษายนนี้  

โดยแผนงานโครงการจะได้รับการกลั่นกรองโดยคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด 76 จังหวัด และให้ความเห็น จากคณะกรรมการลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำ และทุกหน่วยงานจะต้องนำแผนงานโครงการเสนอรัฐมนตรีต้นสังกัดให้ความเห็นชอบ และเสนอ สทนช. เพื่อวิเคราะห์ กลั่นกรอง ตรวจสอบความพร้อมของโครงการและความซ้ำซ้อนอีกครั้ง เพื่อเสนอต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบ และเสนอต่อสำนักงบประมาณ จากนั้นสำนักงบประมาณจะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแผนและกรอบวงเงินงบประมาณ ก่อนที่ สทนช. จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติการใช้งบประมาณตามลำดับ ทั้งนี้ สทนช. พร้อมจะทำหน้าที่ให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่ทุกหน่วยงานในการใช้งานระบบ TWP ตลอดทุกขั้นตอน เพื่อให้การเสนอแผนงานโครงการเป็นไปอย่างถูกต้อง สามารถเร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในทุกพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าว