รู้จัก โรค SFTS หรือ ไวรัสจากเห็บเป็นพาหะ น่ากลัวแค่ไหน หลังพบติดจากคนสู่คน

รู้จัก โรค SFTS หรือ ไวรัสจากเห็บเป็นพาหะ น่ากลัวแค่ไหน หลังพบติดจากคนสู่คน

กรมควบคุมโรค เปิดข้อมูล 'โรค SFTS' หรือ 'ไวรัสจากเห็บเป็นพาหะ' หลังญี่ปุ่นพบติดต่อจากคนสู่คน โรคนี้น่ากลัวแค่ไหน - อาการเป็นยังไง เช็กที่นี่!

จากกรณีที่สำนักข่าวญี่ปุ่นรายงานว่า สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่น (NIID) พบการติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อโดย 'เห็บ' จากผู้ป่วยไปยังแพทย์ที่เข้ารับการรักษา โดยผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาต่อมา และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น โรค SFTS ซึ่งถือเป็นการติดเชื้อดังกล่าวจากคนสู่คนครั้งแรก จนเกิดคำถามว่าในส่วนของประเทศไทยมีการเฝ้าระวังโรคนี้อย่างไร

 

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลเกี่ยวกับ โรค SFTS หรือ ไวรัสจากเห็บเป็นพาหะ โดยระบุว่า 'ความรู้ทั่วไป และคำแนะนำเกี่ยวกับโรค Severe fever with thrombocytopenia syndrome (SFTS)'

 

ภูมิหลังและข้อมูลทั่วไป

 

Severe fever with thrombocytopenia syndrome (SFTS) หรือ Severe Fever with Thrombocytopenia Syndrome Virus (SFTSV) ยังไม่มีชื่อเรียกในระดับสากล แต่นิยมเรียกว่า โรค SFTS และ/หรือ SFTSV ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสชนิดหนึ่ง มีเห็บเป็นพาหะ ปัจจุบันยังไม่มีชื่อเรียกในภาษาไทย มีการใช้ชื่อว่า 'โรคไวรัสเห็บ' ทางสื่อหลักและสื่อออนไลน์ แต่ทั้งนี้ยังมิได้ถูกกำหนดให้เป็นชื่อโรคอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

โรค SFTS เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิด RNA คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยอนุกรมวิธานวิทยา ของไวรัส (International Committee on Taxonomy of Viruses) ได้กำหนดให้อยู่ genus Bandavirusใน family Phenuiviridae ไม่ใช่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และไม่ได้เป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า การติดเชื้อ SFTSV พบมากใน 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สำหรับประเทศไทยเคยมีการรายงานพบผู้ป่วยในปี 2562 และ 2563

 

เชื้อ SFTSV ติดต่อโดยมี เห็บ (tick) เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีประวัติถูกเห็บกัดก่อนเกิดอาการ และสามารถตรวจพบเชื้อ SFTSV ในเห็บ และในสัตว์ที่อยู่บริเวณที่อยู่อาศัยของผู้ป่วย ส่วนสัตว์ที่เป็นรังโรค ได้แก่ แพะ แกะ หมู วัว ควาย สุนัข ไก่ นกบางชนิด หนู และสัตว์ป่าชนิดต่างๆ แต่ยังไม่มีหลักฐานการก่อโรคในสัตว์

 

รู้จัก โรค SFTS หรือ ไวรัสจากเห็บเป็นพาหะ น่ากลัวแค่ไหน หลังพบติดจากคนสู่คน

 

 

การติดต่อสู่คน เชื้อ SFTSV ติดต่อโดยมีเห็บ (tick) เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีประวัติถูกเห็บกัดก่อนเกิดอาการ เชื้อชนิดนี้มีวงจรการติดต่อระหว่างเห็บและสัตว์ที่เป็นรังโรค ได้แก่ แพะ แกะ หมู วัว ควาย สุนัข ไก่ นกบางชนิด หนู และสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ซึ่งสามารถติดต่อมาสู่คนได้ ยังไม่มีหลักฐานการก่อโรคในสัตว์และการติดต่อจากคนสู่คนยังไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่มีการรายงานการเกิดโรคในครอบครัวเดียวกัน และมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยก่อนเกิดอาการของโรค โดยในรายงานระบุความเสี่ยงคือการสัมผัสกับเลือด (Blood or blood respiratory secretion) ของผู้ป่วย ผ่านทางเยื่อบุผิวในช่องจมูก ปาก หรือตา และบาดแผลบริเวณผิวหนัง

 

ลักษณะทางคลินิกของโรค SFTS เช่น ไข้ ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน ถ่ายเหลว ตรวจพบเกล็ดเลือดต่ำ ในกรณีที่โรคมีความรุนแรงผู้ป่วยอาจมีอาการของภาวะอวัยวะภายในล้มเหลวหลายระบบ (Multiple Organ Failure) เช่น มีอาการเลือดออกในตับและไต การทำงานของหัวใจและปอดล้มเหลว รวมถึงอาการผิดปกติทางระบบประสาทส่วนกลาง (CNS) ได้ มีรายงานอัตราการเสียชีวิตโดยเฉลี่ยประมาณ 20%

 

การวินิจฉัยโรค การตรวจหาไวรัส โดยวิธี virus isolation และ reverse transcriptase polymerase chain reaction (RT–PCR) (ในเลือด ปัสสาวะ Throat swab) และการตรวจหาแอนติบอดีชนิด IgM และ IgG (ในซีรั่ม)

 

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสนี้จะมีอาการและอาการแสดงคล้ายโรคไข้เลือดออกและโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya fever) จึงมักสร้างความสับสนในการวินิจฉัยโรคได้ ส่วนการรักษา คือ การรักษาตามอาการ ปัจจุบันยังไม่มียาจำเพาะสำหรับโรคนี้

 

คำแนะนำ

 

สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ การดูแลผู้ป่วยให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการติดเชื้ออย่างละเอียด รวมถึงการใช้อุปกรณ์ป้องกันใบหน้าเพื่อป้องกันเลือดและสารคัดหลั่งกระเด็ดจากผู้ป่วย แพทย์ผู้รักษาควรตรวจวินิจฉัยแยกโรคนี้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการไข้ร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำและตรวจไม่พบการติดเชื้อของโรคไข้เลือดออกและโรคไข้ปวดข้อยุงลาย การรายงานโรคในระบบเฝ้าระวังให้รายงานผ่านระบบเฝ้าระวังเหตุการณ์ (Event base surveillance) ของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค

 

สำหรับประชาชนทั่วไปให้หลีกเลี่ยงการถูกเห็บกัด หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่เป็นรังโรค ได้แก่ แพะ แกะ หมู วัว ควาย สุนัข ไก่ นกบางชนิด หนู และสัตว์ป่าชนิดต่างๆ หลีกเลี่ยงพื้นที่ป่าและเป็นพุ่มไม้ที่มีหญ้าและใบสูง เพื่อหลีกเลี่ยงการ เพิ่มโอกาสในการสัมผัสกับเห็บ

 

สำหรับผู้เดินทาง

 

ก่อนการเดินทาง

  • หากมีแผนการเดินทางไปพื้นที่ที่มีการรายผู้ป่วย เช่น ประเทศจีน (ตอนกลางและตะวันออก) ญี่ปุ่น (ตะวันตก) และพื้นที่ชนบทของเกาหลีใต้ แนะนำตรวจสอบสถานการณ์โรคในพื้นที่ที่จะเดินทางไป หรือติดตามประกาศคำแนะนำจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  • หากมีแผนท่องเที่ยวในป่า ล่าสัตว์ หรือตั้งแคมป์ ซึ่งมีความเสี่ยงในการถูกเห็บกัด ควรเตรียมยากันแมลงที่มีส่วนผสมของ DEET ความเข้มข้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 สวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด หรือพิจารณาเลือกใช้เสื้อผ้าและอุปกรณ์ เช่น รองเท้าบู๊ท อุปกรณ์แคมป์ปิ้งที่เคลือบสารเพอร์เมทริน (Permethrin)
  • เตรียมอุปกรณ์ในการป้องกันตนเองเบื้องต้นให้พร้อม เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ อุปกรณ์ทำความสะอาดบาดแผล เป็นต้น
  • แนะนำซื้อประกันสุขภาพล่วงหน้าก่อนการเดินทาง

 

ระหว่างการเดินทาง

  • หลีกเลี่ยงพื้นที่ป่าและเป็นพุ่มไม้ที่มีหญ้าและใบสูง เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มโอกาสในการสัมผัสกับเห็บ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่เป็นรังโรค ได้แก่ แพะ แกะ หมูวัว ควาย สุนัข ไก่ นกบางชนิด หนู และสัตว์ป่าชนิดต่างๆ
  • อาบน้ำทันทีหลังจากกลับเข้าที่พัก (ภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากกลับเข้าที่พัก) การอาบน้ำอาจช่วยชะล้างเห็บที่ติดอยู่ออกไปได้ รวมถึงการตรวจดูเห็บตามร่างกาย เช่น ใต้วงแขน ในและรอบหู สะดือด้านใน หลังเข่า เส้นผม หว่างขา รอบเอว เป็นต้น
  • สังเกตอาการผิดปกติของตนเองหากมีอาการเบื้องต้น ได้แก่ ไข้ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน ถ่ายเหลว ให้รีบพบแพทย์และแยกตัวเองจากบุคคลใกล้ชิด

 

หลังกลับจากการเดินทาง

  • กรณีมีอาการผิดปกติเข้าได้กับอาการของ SFTS เช่น ไข้ ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน ถ่ายเหลว ให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบ
  • สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากรู้สึกไม่สบายหรือมีอาการเบื้องต้น ได้แก่ ไข้ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน ถ่ายเหลว ให้รีบพบ แพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบ

 

*เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อสื่อสารอย่างเร็ว ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์โปรดตรวจสอบข้อมูลที่ เป็นปัจจุบัน

 

รู้จัก โรค SFTS หรือ ไวรัสจากเห็บเป็นพาหะ น่ากลัวแค่ไหน หลังพบติดจากคนสู่คน