กทม. เดินหน้า 24 นโยบายสุขภาพ แก้โรคเมือง 'โง่ จน เจ็บ'

กทม. เดินหน้า 24 นโยบายสุขภาพ แก้โรคเมือง 'โง่ จน เจ็บ'

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เร่งเดินหน้า 24 นโยบายสุขภาพ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นรากฐานของปัญหาเมือง แก้ไขโรคของเมืองอย่าง โง่ จน เจ็บ ได้อย่างยั่งยืน

วันนี้ (28 ธ.ค.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้แจ้งที่ประชุมให้ทราบถึงทิศทางและนโยบายกทม.ในการพัฒนาสุขภาวะเขตเมืองว่า ในปีที่ 2 นี้ กทม.จะขับเคลื่อน 24 นโยบายด้านสาธารณสุข ได้แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มการพัฒนา คือ 
1. การดำเนินงานบริการให้เข้าถึงง่ายทั่วถึงสู่เส้นเลือดฝอย 
2. เทคโนโลยีสุขภาพ 
3. ภาวะฉุกเฉิน 
4. โรคคนเมือง และ
5. ส่งเสริมสุขภาพคนเมือง 

กทม. เดินหน้า 24 นโยบายสุขภาพ แก้โรคเมือง \'โง่ จน เจ็บ\'
 

ปลื้ม Health Zoning ขยายการให้บริการสร้างสังคมสุขภาพดี

การขยาย Health Zoning ยกระดับความร่วมมือและพัฒนาระบบบริการอย่างมีมาตรฐานร่วมกัน ผลการดำเนินงานที่ผ่านสามารถตอบสนองความต้องการของภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเส้นเลือดฝอยตั้งแต่การให้บริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ และการดูแลต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 

ในการพัฒนาเมืองที่จำเป็นต้องผนวกประเด็นของระบบสุขภาพชุมชน/ชุมชนเมือง (urban health) เข้าไปด้วย เช่น การเป็นเมืองน่าอยู่ที่คงรักษาอัตลักษณ์ของพื้นที่ไว้ การมีพื้นที่สาธารณะรองรับวิถีชีวิตของคนทุกกลุ่ม ซึ่งความท้าทายหลักของการ เปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นเมือง คือ การตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของประชาชนทุกกลุ่ม การออกแบบระบบสุขภาพให้สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสของความเป็นเมือง เช่น การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี การกระจุกตัวของทรัพยากรด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนในพื้นที่ รวมทั้งหน่วยงานองค์กรทั้งภายใน และภายนอกพื้นที่

แนวโน้มสถานการณ์และปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นได้ส่งผลให้เกิดปัญหากับประชาชนและระบบสุขภาพที่ล้วนเป็นไปในทิศทางที่ทำให้เกิดช่องว่างทางสังคมเพิ่มขึ้น ดังนั้นการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จะมีผลมากในการกำหนดทิศทางโดยเฉพาะการมีธรรมนูญสุขภาพกทม. ที่เป็นกรอบทิศทางและแนวปฏิบัติในการนำไปสู่สุขภาวะของกทม. ร่วมกันกับทุกภาคส่วน  
 

ผลการดำเนินการ 4 ปีสมัชชาสุขภาพ

จากกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมพื้นที่กรุงเทพฯ กทม.ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 4 เกิดมติสมัชชาสุขภาพกทม. 6 มิติ ได้แก่ 
1. ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร 
2. การจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของกรุงเทพมหานคร 
3. การสานพลังพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะของชุมชน 
4. การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพฯ เพื่อรองรับภาวะวิกฤติ 
5. พื้นที่เศรษฐกิจ ปลอดภัย ภายใต้ความหลากหลาย 
6. สุขภาพดีทุกช่วงวัยด้วยระบบบริการสุขภาพเขตเมืองที่เน้นคุ้มค่า 

ดังนั้นเพื่อรวบรวมผลการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ที่ประชุมจึงได้พิจารณาเห็นชอบให้มีการดำเนินการจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2567 เป็นโอกาสในการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทบทวนยุทธศาสตร์ การขับเคลื่อนกลไกสุขภาวะเขตเมือง ผ่านกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม เสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งตามนโยบายกรุงเทพมหานคร ให้ผู้คนที่หลากหลายสามารถเข้าร่วมรับทราบ แลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อน เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อน 3 คณะ ได้แก่ 
1. คณะทำงานวิชาการ 
2. คณะทำงานเตรียมความพร้อม 
3. คณะทำงานติดตามและประเมินผล 

ทั้งนี้รูปแบบ (Theme) การจัดงานจะมีการกำหนดให้ชัดเจนอีกครั้ง ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้หัวหน้าคณะทำงานแต่ละด้านดำเนินการหารือเพื่อลงรายละเอียดกำหนดขอบเขตการทำงานอย่างชัดเจนต่อไป

โดยก่อนหน้านี้ ผู้ว่าฯชัชชาติ ได้เคยกล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นรากฐานของปัญหาเมือง จะต้องเริ่มต้นจากการพัฒนา การศึกษาและการสาธารณสุข เพื่อแก้ไขโรคของเมืองอย่าง โง่ จน เจ็บ ได้อย่างยั่งยืน