จับตาทิศทางดอกเบี้ย‘ประชุมเฟด’

จับตาทิศทางดอกเบี้ย‘ประชุมเฟด’

ตัวเลขจีดีพีแข็งแกร่งไตรมาสแรกถ้าต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี อาจทำให้เฟดต้องคิดถึงการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะประชุมในวันอังคาร (30 เม.ย.) นี้ คาดว่าน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้เหมือนเดิม เนื่องจากเหล่าผู้กำหนดนโยบายยังรอดูสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐซึ่งใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเรียกร้องให้ลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งยังเล็งแต่งตั้งคนที่สนับสนุนตนเข้าไปนั่งในเฟด ปูทางสำหรับการลดดอกเบี้ย

เมื่อวันศุกร์ (26 เม.ย.)แลร์รี คัดโลว์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาว เผยกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีส่อนัยบางอย่างไปถึงเฟดว่า เศรษฐกิจสหรัฐที่โตอย่างไม่น่าเชื่อเมื่อไตรมาส 1 อาจเปิดช่องให้ลดเป้าอัตราดอกเบี้ยได้ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า ส่วนเงินเฟ้อ มาตรวัดที่ถูกจับตามากที่สุดอีกตัวหนึ่งซึ่งไตรมาสแรกอยู่ที่ 1.3% คัดโลว์มองว่า “ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้”

อย่างไรก็ตาม คัดโลว์ รีบออกตัวว่า เขาเคารพในความเป็นอิสระของเฟด

ด้านเจอโรม เพาเวลล์ประธานเฟดกล่าวเสมอมาว่า เฟดเป็นอิสระไม่มีใครแทรกแซงได้ การตัดสินใจทุกอย่างขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

ปี 2561 ที่ผ่านมา เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้ง หลังจากนั้นก็ส่งสัญญาณชัดว่าปีนี้จะไม่ขึ้นอีก และเมื่อข้อมูลเศรษฐกิจแข็งแกร่งเช่นนี้ การลดดอกเบี้ยจึงออกจะขัดความรู้สึก กระนั้นนักเศรษฐศาสตร์บางคนมองว่าต่อไปเฟดจะต้องลดดอกเบี้ยแน่นอน

รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) เมื่อเดือนก่อนระบุว่า ทิศทางนโยบายเป็นไปได้ทั้งสองทาง เท่ากับว่าการลดดอกเบี้ยก็มีโอกาสเป็นไปได้

หากมองที่ตลาดฟิวเจอร์สดูเหมือนเชื่อว่า เอฟโอเอ็มซีจะรู้สึกว่าถูกบังคับให้ลดดอกเบี้ยอย่างน้อยหนึ่งครั้งในรอบ 9 เดือนข้างหน้า ล่าสุดเมื่อวันศุกร์มีความเป็นไปได้20% ว่าต้องลดดอกเบี้ยเร็วสุดในเดือน มิ.ย.

มองจากมุมมองคนในอย่างริชาร์ด คลาริดา รองประธานเฟด และชาลส์ อีแวนส์ ประธานเฟดชิคาโก ให้สัมภาษณ์สื่อครั้งล่าสุดทั้งคู่ยอมรับว่าอาจจำเป็นต้องลดดอกบี้ย

แต่เมื่อหุ้นวอลล์สตรีทโฉบเฉี่ยวอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อัตราว่างงานต่ำกว่า 4% และการจ้างงานยังต่อเนื่อง นักเศรษฐศาสตร์บางคนเชื่อว่าเฟดจะยึดมั่นกับคำประกาศเมื่อเดือน ธ.ค.ไปอีกระยะหนึ่ง ที่ว่าเฟดเตรียมพร้อมยุติการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้

นายเอียน เชพเพิร์ดสัน จากแพนธีออน แมคโครอีโคโนมิกส์ กล่าวว่าตัวเลขจีดีพีแข็งแกร่งไตรมาสแรกถ้าต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี อาจทำให้เฟดต้องคิดถึงการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆ กล่าวว่า ตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 3.2% ระหว่างไตรมาส ม.ค.-มี.ค. ซ่อนสัญญาณความอ่อนแอบางอย่างเอาไว้ เช่น การนำเข้าลด การบริโภคซบ สินค้าคงเหลือเพิ่ม และการลงทุนของภาคธุรกิจอ่อนแรง

ไดแอน สวองค์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากแกรนท์ทอนตันชี้ว่า จีดีพีแค่ 3% ปกปิดสัญญาณอันตรายเบื้องลึก และเกิดขึ้นในช่วงที่เงินเฟ้ออ่อนแรงต่อเนื่อง

เมื่อเดือน มี.ค.เงินเฟ้อผู้บริโภค มาตรวัดที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดแตะระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน และดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคล (พีซีอี) มาตรวัดสำคัญของเฟดก็ไม่เคยเกินเป้า 2% เลยในรอบ 7 ปี

“ความจริงก็คิือเมื่อเงินเฟ้อเริ่มลดต่ำ ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจแกร่งขึ้น แสดงว่าต้องมีบางอย่างผิดปกติ” แม้อัตราว่างงานต่ำและค่าจ้างเพิ่ม แรงกดดันราคาไม่ตอบสนอง ทำให้เฟดพอมีแรงกระตุ้นเพิ่มเป้าดอกเบี้ยขึ้นมาบ้าง

นักเศรษฐศาสตร์หญิงแนะว่า สิ่งที่เฟดทำได้ในตอนนี้คือมองบวกแบบไม่สุดตัว