“ซี” ดัน 3 ธุรกิจชิงบริการดิจิทัลไทย

“ซี” ดัน 3 ธุรกิจชิงบริการดิจิทัลไทย

ซี ประเทศไทย เดินหน้าดัน 3 ธุรกิจหัวหอก “เกม อีคอมเมิร์ซ อีเพย์เม้นท์” ชิงส่วนแบ่งตลาดบริการดิจิทัลไทย เร่งยกระดับทุกบริการตอบโจทยไลฟ์สไตล์ดิจิทัลชู “ช้อปปี้”บุกหนักอีคอมเมิร์ซหวังรั้งตำแหน่งท็อป 2

นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่่บริหาร บริษัท Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปีนี้ยังคงเป้าหมายเป็นผู้นำด้านอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์ม ที่พร้อมยกทัพ 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ดิจิทัล เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ (เกม) อีคอมเมิร์ซ และอีเพย์เม้นท์ เจาะกลุ่มลูกค้าไทยอย่างเต็มรูปแบบ

โดยในส่วนของเกม บริษัทในเครืออย่าง การีน่า ออนไลน์ ยังเดินหน้าผลักดันอีสปอร์ตอย่างต่อเนื่องร่วมกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ ซึ่งการีน่าฯ คือ ผู้จัดแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่โดดเด่นที่มีจำนวนเกมเมอร์เกือบ 20 ล้านคน ทำให้เกม คือ ธุรกิจหลักที่ทำเงินให้บริษัทด้วยการเติบโตก้าวกระโดดทุกปีขณะเดียวกัน ยังคงมีแผนที่จะจัดกิจกรรมพัฒนาเกม รวมถึงนำเข้าเกมเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ขณะที่ ช้อปปี้ (shopee) แอพอีคอมเมิร์ซ ปีที่ผ่านมาเติบโตเร็วมาก ปีนี้ตั้งเป้าโตแบบดับเบิ้ล และต้องการขึ้นเป็นที่ 2 ของตลาดอีคอมเมิร์ซไทย โดยยกระดับให้เป็นแอพซื้อขายออนไลน์ที่ครบวงจร เน้นสร้างประสบการณ์ผู้ซื้อผู้ขาย ไม่ใช่แค่เข้ามาซื้อของแล้วจากไป แต่ให้เกิดการมีส่วนร่วมในแอพให้มากขึ้น มีสินค้าและบริการที่ครบลูป

“เราอยากเป็น 1 ใน 2 ผู้นำอีคอมเมิร์ซไทย ตอนนี้ถ้านับจำนวนคำสั่งซื้อ ช้อปปี้เป็นที่ 1 ในตลาดไทยแล้ว”

ก่อนหน้านี้ กูเกิล และเทมาเส็ก วิเคราะห์ว่า อีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้มีการเติบโตเฉลี่ย 62% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผลักดันให้มีเม็ดเงินหมุนเวียน (Gross Merchandize Value : GMV) มูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านดอลาร์ หรือประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องไปอีก 5 ปีข้างหน้า

เธอ บอกว่า ปัจจุบัน อีคอมเมิร์ซในไทยยังมีสัดส่วนเพียงแค่ 5% เท่านั้น แต่ประเทศที่อีคอมเมิร์ซเติบโตมากๆ อย่างในสหรัฐอเมริกา สัดส่วนจะอยู่ที่ 15-20% นั่นแปลว่า การซื้อขายออนไลน์ของไทยยังเติบโตได้อีกมหาศาล

“เราเชื่อว่าช้อปปี้ รู้จักลูกค้าเข้าใจความต้องการของคนไทยดี เราพยายามทำให้กลุ่มผู้ที่เข้ามาซื้อสินค้าในช้อปปี้รวมถึงผู้ขายมีความรู้สึกถึง sense of belonging ให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม เน้นสร้างคอมมูนิตี้ให้คนซื้อคนขายมาเจอกัน มีการฝึกอบรมเทคนิคการขาย”

ก่อนหน้านี้ ซี ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน ในไทยมียอดดาวน์โหลดแอพช้อปปี้มากกว่า 19 ล้านดาวน์โหลด ธุรกรรมกว่า 95% ของช้อปปี้มาจากการซื้อขายผ่านโทรศัพท์มือถือ มีจำนวนผู้ค้าทั้งรายบุคคล และที่มีหน้าร้านขอตัวเองรวมๆ กันมากกว่าแสนร้านค้า มีสินค้ามากกว่า 10 ล้านชิ้น ขณะที่ มียอดดาวน์โหลดใช้งานในภูมิภาคนี้ราว 125 ล้านดาวน์โหลด เม็ดเงินหมุนเวียนมากกว่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ มียอดคำสั่งซื้อมากกว่า 100 ล้านคำสั่งซื้อ ขณะที่บริษัทแม่ (Sea ในสิงคโปร์) ได้เพิ่มตัวเลขการคาดการณ์เม็ดเงินหมุนเวียนตลอดเมื่อปี 2561 ไว้ราว 8.2-8.7 พันล้านดอลลาร์

สำหรับธุรกิจด้านอีเพย์เมนท์ บริษัทยังชู แอร์เพย์ (Airpay) ให้บริการครอบคลุมการชำระเงินทั้งเกม เติมเงินโทรศัพท์ จ่ายค่าน้ำค่าไฟ จ่ายค่าตั๋วชมภาพยนตร์ ด้วยยอดดาวน์โหลดในไทยมากกว่า 6.5 ล้านดาวน์โหลด รองรับร้านค้าและบริการมากกว่า 1.2 แสนแห่ง

“ความท้าทาย คือ การแข่งขัน เราต้องการสร้าง use case ให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าเมื่อเข้ามาใช้งานในแอพเดียวสามารถใช้อย่างอื่นได้ด้วยเป็นเหมือน one stop app ปัจจัยเสริมสำคัญ คือ การที่รัฐกระตุ้นให้สังคมให้มาเป็นสังคมไร้เงินสด ทำให้เห็นการเติบโตการทำธุรกรรมผ่านแอร์เพย์ทุกไตรมาส"

ซีอีโอหญิงแห่ง Sea (ประเทศไทย) กล่าวทิ้งท้ายว่า อีก 3-5 ปีข้างหน้า เธออยากเห็นบริษัทแตกธุรกิจไปสู่บริการรูปแบบอื่นๆ ที่อยู่ในลูปของความเป็นดิจิทัลเพิ่มเติมด้วย