เผยภาพถ่าย ‘หลุมดำ’ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

เผยภาพถ่าย ‘หลุมดำ’ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

นักวิทยาศาสตร์นานาชาติเผยภาพถ่าย “หลุมดำ” ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ พบมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 6,500 ล้านเท่า

คณะนักวิทยาศาสตร์จากโครงการกล้องโทรทรรศน์ “อีเอชที” ซึ่งทำการศึกษาหลุมดำ โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ค Event Horizon Telescope วันนี้ (10 เม.ย.) เผยให้เห็นภาพถ่ายระยะไกลภาพแรกในประวัติศาสตร์ของหลุมดำขนาดมหึมาที่อยู่ใจกลางของกาแล็กซี ชื่อว่า เอ็ม 87 (M87) ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับกาแล็กซีทางช้างเผือกและห่างจากโลกราว 55 ล้านปีแสง

นักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า หลุมดำดังกล่าวมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 6,500 ล้านเท่า

“ภาพถ่ายระยะไกลนี้ถือเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักมากที่สุด ณ ปัจจุบัน สำหรับการศึกษาการดำรงอยู่ของหลุมดำมหึมา และเปิดโอกาสใหม่สู่การศึกษาหลุมดำ ตำแหน่งและแรงดึงดูดของมัน” โครงการอีเอชทีระบุผ่านเฟซบุ๊ค

ก่อนหน้านี้ ภาพของหลุมดำที่พบเห็นทั่วไปจะเป็นภาพที่ถูกจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ และนี่เป็นครั้งแรกที่มนุษย์โลกได้เห็นภาพถ่ายจากหลุมดำจริง

อีเอชทีเป็นโครงการความร่วมมือนานาชาติเพื่อศึกษาหลุมดำโดยใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุในช่วงความถี่สูงตั้งแต่ 230 GHz ขึ้นไป กล้องโทรทรรศน์อีเอชทีทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายกับกล้องโทรทรรศน์วิทยุตัวอื่นจากทั่วโลก โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า วีแอลบีไอ (Very Long Baseline Interferometry) ทำให้ได้ความละเอียดของภาพเทียบเท่ากับกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่มีขนาดหน้าจานใหญ่เท่ากับโลกทั้งใบ

นอกจากหลุมดำในกาแล็กซี เอ็ม87 ที่บันทึกภาพได้ในครั้งนี้แล้ว ข้อมูลจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซา) ระบุว่า ยังมีหลุมดำมหึมาอีกแห่งอยู่ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก ห่างจากโลก 26,000 ปีแสง (ราว 2.46 แสนล้านล้านกิโลเมตร)