สื่อทั่วโลกจับตาเลือกตั้งไทย

สื่อทั่วโลกจับตาเลือกตั้งไทย

การเลือกตั้งของไทยวันที่ 24 มี.ค.นี้ได้รับความสนใจอย่างกว้างวางจากประเทศต่างๆทั่วโลก รวมทั้งสื่อทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อโซเชียล ในฐานะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก หลังเกิดรัฐประหารเมื่อ5ปีก่อน

สื่อชั้นนำทั่วโลก รายงานข่าวการเลือกตั้งในไทยแบบเกาะติดทั้ง บีบีซี ซีเอ็นเอ็น นิกเคอิ บลูมเบิร์ก วอลสตรีทเจอร์นัล แชนแนล นิวส์เอเชีย ที่นำเสนอประเด็นการเลือกตั้งของไทยครั้งนี้ว่าเป็นการต่อสู้ของ 3 ฝ่าย คือพรรคการเมืองที่แสดงออกชัดเจนว่าสนับสนุนทหาร พรรคการเมืองที่ต่อต้านทหาร และพรรคที่ยังไม่ระบุว่าจะสนับสนุนฝ่ายใด

ส่วนเวบไซต์ข่าวอัลจาซีราห์ เผยแพร่คลิปรายงานข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งในไทย โดยเน้นไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งครั้งแรกหลายล้านคนของไทยสามารถสร้างความแตกต่างในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้อย่างไร

ขณะที่เว็บไซต์ข่าววอยซ์ออฟอเมริกา (วีโอเอ)นำเสนอบทความเกี่ยวกับการเลือกตั้งของไทยครั้งนี้ว่าได้รับความสนใจอย่างมากจากทั่วโลก เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ5ปีหลังเกิดรัฐประหารพร้อมทั้งเปรียบเทียบกับบรรดาประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พยายามทำให้เกิดการเลือกตั้งแต่ยังคงมีปัญหาในการสร้างระบบการเมืองที่โปร่งใสและมีความเป็นเสรีประชาธิปไตย

อย่างกรณีเมียนมา จัดการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน ท่ามกลางการคาดหวังของนานาชาติที่จะเห็นเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยแต่กองทัพเมียนมาก็ยังคงมีอิทธิพลในการบริหารประเทศของรัฐบาลพลเรือน ส่วนที่กัมพูชา เมื่อปีที่แล้ว ประเทศกลับสู่ระบอบการเมืองที่มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่กุมอำนาจบริหารประเทศ หลังจากพรรคฝ่ายค้านหลักถูกห้ามลงเเข่งขันในการเลือกตั้ง

ขณะที่ฟิลิปปินส์ ความหวังที่จะเห็นการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลต้องสะดุดลง ท่ามกลางนโยบายและปฏิบัติการปราบยาเสพติดที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดของรัฐบาล และฟิลิปปินส์ก็กำลังจะมีเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพ.ค.นี้

ส่วนสิงคโปร์ เป็นประเทศที่พรรคการเมืองเดียวกุมอำนาจมายาวนานตั้งแต่ประเทศเป็นเอกราชเมื่อ 54 ปีก่อน  ขณะที่เวียดนามและลาว ยังคงมีระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์

สำหรับประเทศไทย ศาสตราจารย์คาร์ล เธเยอร์ จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ให้ความเห็นว่า รัฐบาลใหม่ของไทยจะยังคงมีข้อจำกัดในสิ่งทำได้ เพราะผู้ทรงอิทธิพลทางราชการ ธุรกิจและในกองทัพซึ่งถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลปัจจุบันน่าจะยังคงมีอำนาจอยู่หลังฉาก แต่อย่างน้อย การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นครั้งแรก ใน 5 ปีที่ พรรคการเมืองซึ่งต่อต้านอำนาจทหารได้มีสถานะ ที่จะรณรงค์ผ่านการหาเสียง และจะมีตัวแทนทำงานในระบบรัฐสภา

ขณะที่นายเเพทริค เมอร์ฟีย์ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ ให้ความเห็นว่า การเลือกตั้งเป็นกลไกหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นสิ่งที่ดีของความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างไทยและสหรัฐ