กกต.ห่วงปมค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง เรียก 78 พรรคติวเข้ม

กกต.ห่วงปมค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง เรียก 78 พรรคติวเข้ม

ประธาน กกต. นำสัมมนา 78 พรรคการเมือง ติวเข้มวิธีทำบัญชีค่าใช้จ่ายการเลือกตั้ง ย้ำกฎหมายสลับซับซ้อน หยุมหยิมปฏิบัติยาก ต้องละเอียดทั้งระหว่างการหาเสียงยาวไปจนถึงการเลือกตั้งสมัยหน้า พลาดมีโทษ จ่อประเมินผลชงแก้กฎหมาย ไม่ให้เป็นภาระ

โรงแรมทีเค พาเลซ - นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแนวทางการจัดทำบัญชีแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.และพรรคการเมือง โดยมีผู้แทนจากพรรคการเมือง 78 พรรค ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัด และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติของสำนักงานกกต. รวม 432 คนเข้าร่วมการประชุม

นายอิทธิพร กล่าวว่า การจัดทำบัญชีรับ-จ่ายของพรรคการเมืองเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างน้อยต้องประกอบด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวมถึงรายจ่ายค้างชำระ โดยเอกสารจะต้องถูกต้องครบถ้วน เป็นไปตามความเป็นจริง ทั้งนี้กกต.ได้ออกระเบียบและวิธีการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ตลอดจนวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียง จึงขอให้พรรคการเมืองศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน นอกจากนี้ กกต.ได้จัดบรรยายถึงวิธีการจัดทำบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้ง ซึ่งมีทีมวิทยากรจากกรมบัญชีกลางและสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน มาบรรยายทำความเข้าใจอย่างละเอียด

ด้านนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.กล่าวว่า กฎหมายเรื่องค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเปลี่ยนแปลงไปมาก เหมือนเริ่มนับหนึ่งใหม่ ซึ่งกรธ.ให้ความสำคัญกับค่าใช้จ่าย การดำเนินกิจการทางการเมืองต้องใช้ทุน แต่ทุนต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ จึงออกกฎหมายให้กกต.เน้นตรวจสอบการใช้เงินระหว่างการเลืองตั้ง โดยกกต.สามารถร้องขอให้กรมบัญชีกลางหรือสำนักงานตรวจสอบบัญชีเข้าไปตรวจสอบบัญชีพรรคการเมืองระหว่างการเลือกตั้งได้ นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้พรรคการเมืองชี้แจงที่มาของเงิน วิธีการใช้จ่ายเงิน และการรายงานงบการเงินประจำปี โดยการบันทึกค่าใช้จ่ายผู้สมัครและพรรคการเมือง ต้องมีความรู้พื้นฐานจากวิธีหาเสียงและลักษณะต้องห้าม เป็นฐานคิดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง โดยค่าใช้จ่ายถูกกำหนดไว้ที่ 1.5 ล้านบาท เขตใหญ่ขึ้นแต่เงินเท่าเดิม ในส่วนของพรรค 35 ล้านบาท ถ้าค่าใช้จ่ายเกินจะมีปัญหา กรณีนำพ่อแม่ ลูกเมีย ญาติพี่น้องมาเป็นผู้ช่วยหาเสียง หรือกรณีป้ายหาเสียงถูกทำลายแล้วทำป้ายใหม่ไปติดทดแทน ต้องนำไปคิดรวมเป็นค่าใช้จ่ายหรือไม่ ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องศึกษาให้ดี เพราะหากทำไม่ถูกต้องมีโทษ

นายแสวง กล่าวอีกว่า กฎหมายกำหนดค่าใช้จ่ายเป็น 3 ประเภท 1 ค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร 1.5 ล้านบาท เริ่มนับตั้งแต่วันที่มีพ.ร.ฎ. ให้มีการเลือกตั้ง จนถึงวันเลือกตั้ง, 2 ค่าใช้จ่ายตามประเพณี เงินทำบุญ เกิน 3,000 บาทต้องบันทึกเป็นค่าใช้จ่าย รวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เริ่มนับหลังการเลือกตั้ง หรือตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.ไปจนครบวาระ ซึ่งเป็นภาระของผู้สมัคร สมมุติดำรงตำแหน่งวาระ 3 ปี ใช้จ่ายไป 1 ล้านบาท การหาเสียงเลือกตั้งครั้งต่อไปจะเหลือแค่ 5 แสนบาท ส่วนกรณีเป็นการทำบุญนอกเขตเลือกตั้งจะนับเป็นค่าใช้จ่ายของพรรค เช่น การมอบรางวัลในงานต่อยมวย ใครไปบริจาคอะไรไว้ต้องลงบันทึก ถ้าตกหล่นแล้ว สำนักงานกกต.เห็นเองจะบันทึกให้ หากค่าใช้จ่ายเกิน 1.5 ล้านบาท ครั้งหน้าจะไม่ได้เป็นส.ส. สำหรับค่าใช้จ่ายประเภทที่ 3 เป็นเงินที่พรรคสามารถบริจาคให้ผู้สมัคร คล้ายเงินสนับสนุนผู้สมัคร ซึ่งเริ่มนับแต่วันที่มีพรฎ.จนถึงวันเลือกตั้ง

"กฎหมายสลับซับซ้อนดังกล่าวเป็นปัญหาทางธุรการของพรรคและสำนักงานกกต. ซึ่งต้องยอมรับว่าระเบียบหยุมหยิมปฏิบัติยาก กกต.ไม่อยากทำแต่กฎหมายเขียนให้ทำ ทั้งจำนวนป้าย ขนาดป้าย และสถานที่ปิดประกาศ หลังจากนี้กกต.จะประมวลผลว่าระเบียบต่างๆ ว่าสร้างภาระให้กับพรรคการเมืองและสำนักงานกกต. อย่างไร สิ่งที่ได้มาตรงตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ต้องการให้การหาเสียงเลือกตั้งเป็นไปอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ ในอนาคตอาจต้องเสนอแก้ไขกฎหมาย แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ต้องใช้ระเบียบนี้ไปก่อน" รองเลขาธิการกกต.กล่าว