สนช.กันท่า 'ชาวนา' ค้านร่างพรบ.ข้าว

สนช.กันท่า 'ชาวนา' ค้านร่างพรบ.ข้าว

ห้ามฟังการพิจารณาในห้องประชุม สนช. หากไม่ทำหนังสือร้องขอ ด้านกลุ่มเกษตรกรรมทางเลือก ยื่นหนังสือขอชะลอ หวั่น 3 ประเด็นทำลาย กลุ่มชาวนารายย่อย



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าว พ.ศ.... ฉบับที่ คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระสอง และวาระสาม ช่วงบ่ายวันนี้ มีเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และ เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศนำโดย นายมงคล ด้วงเขียว และ น.ส.ทัศนีย์ วีระกันต์ ยื่นหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้ยุติการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าว พ.ศ.... ที่จะพิจารณาในที่ประชุมวาระสองและวาระสาม ในเวลา 13.00 น. เนื่องจากสาระของเนื้อหาอาจเป็นการสร้างปัญหาให้กับชาวนา และบทบัญญัติของร่างกฎหมายขาดความสมบูรณ์รอบด้าน



โดย น.ส.ทัศนีย์ กล่าวด้วยว่าเนื้อหาของร่างกฎหมายที่เครือข่ายเป็นห่วง คือ 1.สัดส่วนของผู้แทนองค์กรเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่อยู่ในคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ที่มี 4 คนถือเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่ากรรมการที่มาจากข้าราชการ และ ฝ่ายการเมือง , 2. กรณีจัดโซนนิ่งเพาะปลูกข้าว ควรขยายพื้นที่ไม่ใช่เพื่อการค้าเท่านั้น และ 3.กรณีที่ให้ชาวนาปลูกข้าวที่มีคุณภาพที่มาจากเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการรับรองจากกรมการข้าว ที่อาจกระทบต่อสายพันธุ์ข้าวที่ชาวนารายย่อย ชุมชนตามวิถีวัฒนธรรมซึ่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเอง

"เครือข่ายฯ เห็นว่าไม่ควรรีบเร่งในการออกกฎหมายที่กระทบสังคมในวงกว้าง และควรรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านก่อน ดังนั้น สนช. ควรชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวและรับฟังความเห็นชาวนาทุกกลุ่มอย่างรอบด้าน โดยให้สภาที่มาจากการเลือกตั้งพิจารณา" น.ส.ทัศนีย์ กล่าว

ขณะที่พล.อ.ศุภวุฒิ อุตมะ สมาชิก สนช. ฐานะปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ข้าว ซึ่งเป็นตัวแทนรับหนังสือ กล่าวว่าขอให้เครือข่ายชาวนาคลายกังวลต่อประเด็นดังกล่าว เพราะสนช. ใช้เวลารับฟังความเห็นนานกว่า 2 ปี และที่สำคัญ ชาวนาในนามสมาคมชาวนาไม่ได้คัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ ได้ร้องขอต่อพล.อ.ศุภวุฒิ เพื่อขอเข้าฟังการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ข้าว วาระสอง และวาระสาม ในห้องประชุมรัฐสภา แต่พล.อ.ศุภวุฒิ ระบุว่าขอให้ตัวแทนทำหนังสือร้องขอเข้าฟังการประชุมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรและยื่นต่อเจ้าหน้าที่ก่อน

อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มดังกล่าวขอให้สนช. ชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ พล.อ.ศุภวุฒิ ยืนยันว่าไม่สามารถชะลอได้.