อีบุ๊ค ‘ออน เดอะ โรด’ นายอินทร์-นครชัยแอร์

อีบุ๊ค ‘ออน เดอะ โรด’  นายอินทร์-นครชัยแอร์

ตลาดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ “อีบุ๊ค” ในประเทศไทยค่อยๆ เติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อย แม้ขณะนี้นับว่ายังเล็กมากเมื่อเทียบกับความใหญ่ของตลาดการพิมพ์ในแบบรูปเล่ม หากแต่หลายฝ่ายพยายามผลักดัน หวังสร้างให้เกิดการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

ความเคลื่อนไหวล่าสุด บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด ได้ร่วมมือกับ บริษัท อมรินทร์ บุ๊คเซ็นเตอร์ จำกัด ในนาม “ร้านนายอินทร์” เปิดตัวโครงการ “นายอินทร์ x นครชัยแอร์ Read Around on the Road” ให้สิทธิพิเศษลูกค้าที่ใช้บริการอ่านอีบุ๊คฟรี 24 ชั่วโมง ผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น “นายอินทร์-ปัณฑ์(NAIIN PANN)”

เครือวัลย์ วงศ์รักมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นครชัยแอร์ กล่าวว่า ต้องการส่งเสริมให้คนไทยอ่านหนังสือได้สะดวกทุกที่ ทุกเวลา แม้ขณะเดินทางบนรถโดยสาร ครั้งนี้รวบรวมหนังสือมาให้บริการกว่า 200 เล่ม ทั้งประเภทฮาวทู นวนิยาย เรื่องสั้น วรรณกรรม สุขภาพ อาหาร ท่องเที่ยว นิตยสาร และไลฟ์สไตล์ มีการเปลี่ยนหนังสือใหม่ทุกเดือนตลอด 1 ปี ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 ธ.ค.2562

“ในฐานะบริษัทเดินรถสาธารณะที่มีผู้ใช้บริการกว่า 1 หมื่นคนต่อวันเรามุ่งนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีระหว่างการเดินทาง ตอบโจทย์พฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มปรับเปลี่ยนไปสู่ออนไลน์มากขึ้น พร้อมมอบสิทธิพิเศษให้ผู้โดยสารสมัครสมาชิกร้านนายอินทร์ฟรีเพียงนำตั๋วโดยสารไปแสดง”

ณัฐชัย วีระกุล กรรมการผู้จัดการ อมรินทร์ บุ๊คเซ็นเตอร์ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ทางบริษัทจะให้บริการอีบุ๊คเดือนละประมาณ 12 เล่ม มีการอัพเดททุกเดือน ตั้งเป้าไว้ว่าจะมียอดดาวน์โหลดหนังสือกว่า 3 แสนเล่ม

ที่ผ่านมายอดขายอีบุ๊คของบริษัทมีการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก ทว่ายังเป็นตลาดที่เล็ก สัดส่วนรายได้ยังน้อยมากเพียง 3% ของยอดขายหนังสือทั้งหมด แม้มีการผลักดันมาหลายปีแต่ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยม ผู้บริโภคไม่คุ้นเคย แต่ทั้งนี้มีโอกาสเติบโตได้อีกตามการเติบโตของโมบาย

สำหรับอมรินทร์พยายามนำเสนอให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยเพิ่มความสะดวก ผลักดันให้เกิดการรับรู้ ทดลองใช้งาน โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 3 ปีจากนี้จะเพิ่มสัดส่วนให้ได้ถึง 5% หมวดสินค้าไฮไลต์คือนิยาย ฮาวทู และลิฟวิ่ง ซึ่งที่ผ่านมาเป็นกลุ่มสินค้ายอดนิยม 3 อันดับแรก โดยเฉพาะนิยายที่ทำสัดส่วนรายได้กว่า 60%

ส่วนการทำราคาคงใกล้เคียงกับหนังสือเล่ม ไม่ได้ลดลงมากนัก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสำหรับการบริหารจัดการที่สูง ทั้งการแปลงหนังสือ และดูแลระบบต่างๆ บนดิจิทัล

บริการไร้รอยต่อออนไลน์-ออฟไลน์

ในภาพรวมของธุรกิจแนวทางการตลาดจะทำให้การบริการเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ ไม่ว่าจะเป็นด้านการจำหน่ายบนออนไลน์ ออฟไลน์ การตลาด โมเดลออมนิแชนแนลและออมนิแพลตฟอร์ม ทั้งจะให้ความสำคัญกับการรักษาฐานลูกค้าเดิมผ่านโปรแกรมสร้างรอยัลตี้ต่างๆ ปัจจุบันบริษัทมีฐานสมาชิก 6 แสนคน ลูกค้าบนอีคอมเมิร์ซ 4 แสนคน

“เราจะให้ความสำคัญเรื่องโปรแกรมดูแลสมาชิกมากกว่าการลดราคา นำเทคโนโลยีบิ๊กดาต้ามาช่วยวิเคราะห์เพื่อพัฒนาการสื่อสารการตลาดที่เข้าถึงรายบุคคล ขณะเดียวกันมีแผนทำงานร่วมกับพันธมิตรมากขึ้น มองว่าลูกค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่สร้างรายได้ให้กว่า 50% และตั้งเป้าไว้ว่าปีหน้าจะขยับให้ได้เกิน 55%”

ด้านการลงทุนขยายสาขา จากปัจจุบันมี 145 สาขา ปีหน้ามีแผนเพิ่มอีก 10 สาขา รวมเป็น 155 สาขา และมีความเป็นไปได้ว่าสาขาที่เพิ่มจะเป็นขนาดใหญ่พื้นที่ 200 ตารางเมตรสัดส่วนเกิน 60% เบื้องต้นงบการลงทุนที่ใช้หากเป็นสาขาเล็กประมาณ 6 แสนบาท สาขาใหญ่เกิน 2 ล้านบาท

เขาย้ำว่า ตำแหน่งทางการตลาดของบริษัทจะมีความชัดเจนว่าเป็นไลฟ์สไตล์บุ๊คสโตร์ ไม่ใช่รีเทลสโตร์ มุ่งขายเฉพาะหนังสือและสินค้าที่เกี่ยวกับหนังสือซึ่งเสริมไปกับคอนเทนท์เท่านั้น ส่วนกลุ่มอื่นๆ จะค่อยๆ ลดลง ด้านโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่จะมาเสริมรายได้ในอนาคตอยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนว่าจะตอบรับร่วมให้บริการด้านโลจิสติกส์ซึ่งก่อนหน้านี้มีเสนอเข้ามาแต่ได้ปฏิเสธไปดีหรือไม่

บริษัทตั้งเป้าไว้ว่าปี 2561 จะมีรายได้รวม 2,100 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา สัดส่วนมาจากหนังสือ 80% อื่นๆ 20% ส่วนปี 2562 ตั้งเป้าเติบโต 4-5% จากฐานลูกค้า 1 ล้านรายหวังเพิ่มเป็น 1.2 ล้านราย

ช้อปช่วยชาติดันยอดโต20%

ณัฐชัยเผยว่า แนวทางการตลาดรับมาตรการช้อปช่วยชาติ มุ่งผลักดันให้ผู้บริโภคซื้อหนังสือเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ มีการจัดทำธีมต่างๆ ที่เอื้อให้จับจ่ายได้ง่ายขึ้น เช่น ของขวัญสำหรับเพื่อน เจ้านาย ครอบครัว หรือซื้อเพื่อนำไปบริจาค ทั้งมีจุดแข็งด้านบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญสามารถช่วยแนะนำ บริหารงบ และจัดชุดหนังสือหรือประเภทให้ตรงกับความต้องการ

นอกจากนี้ มีโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเช่นซื้อ 3 เล่มลด 15% สำหรับทุกสำนักพิมพ์ ให้สิทธิเป็นสมาชิกได้ฟรี ฯลฯ คาดว่ามาตรการนี้จะทำยอดขายให้บริษัทได้กว่า 20 ล้านบาท หรือ เติบโตจากช่วงปกติที่มียอดขายเดือนละประมาณ 100 ล้านบาทอีก 20% กลุ่มเป้าหมายหลักคาดว่าจะเป็นวัยทำงาน ขณะที่กลุ่มสินค้าที่จะขายดีที่สุดคาดว่าเป็นนิยาย

พร้อมประเมินว่า ภาพรวมตลาดหนังสือประเทศไทยมีมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 50% มาจากโครงการรัฐเช่นหนังสือเรียน ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นค้าปลีกมูลค่าราว 8,000 - 12,000 ล้านบาท จากจำนวนดังกล่าวอีบุ๊คมีสัดส่วนเพียง 2% ของการขายแบบค้าปลีกทั้งหมด