ผู้นำโลกเริ่มถกจี20หาทางสกัดผลกระทบสงครามการค้า

ผู้นำโลกเริ่มถกจี20หาทางสกัดผลกระทบสงครามการค้า

นอกจากนี้ การที่รัสเซียผนวกภูมิภาคไครเมียของยูเครนเข้าเป็นดินแดนของตนเอง และกระบวนการเบร็กซิท ของสหราชอาณาจักร ก็อาจเป็นหัวข้อพูดคุยในการประชุมครั้งนี้เช่นกัน

การประชุมผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำจี20 เป็นเวลาสองวัน ที่กรุงบัวโนสไอเรส เมืองหลวงของอาร์เจนตินา เริ่มเปิดฉาก โดยเหล่าผู้นำโลกเริ่มหารือเกี่ยวกับแนวทางป้องกัน ไม่ให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ท่ามกลางการจับตามองของนักลงทุนในตลาดว่า ที่ประชุมจี20 จะสามารถตกลงกันเพื่อออกแถลงการณ์ร่วมได้หรือไม่ 

หลังจากที่การประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) 21 ประเทศ เมื่อช่วงต้นเดือนพ.ย. ที่ปาปัวนิวกินี ปิดฉากลงโดยไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วมเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี เนื่องจากสหรัฐและจีน ซึ่งเป็นสองประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก มีความคิดเห็นไม่ลงรอยกันในประเด็นการใช้ภาษาของแถลงการณ์ร่วมฉบับสมบูรณ์ ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ตึงเครียด จากกรณีการตั้งกำแพงภาษีนำเข้ามูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ระหว่างกัน

หากการประชุมจี20 ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมเช่นเดียวกับเอเปค จะถือเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ที่การประชุมเริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2541 และจะยิ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามตามมามากขึ้น เกี่ยวกับความสามารถของกลไกหรือกรอบการทำงานระหว่างประเทศในการทำหน้าที่เป็นเวทีให้ประเทศต่างๆ หาข้อตกลงร่วมกัน

นอกจากนี้ ทั่วโลกยังจับตาการพบปะกันนอกรอบการประชุมจี20 ระหว่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน โดยปธน.ทรัมป์ มีกำหนดรับประทานอาหารค่ำร่วมกับปธน.สีในวันเสาร์ (1ธ.ค.)ตามเวลาท้องถิ่น ขณะที่ผู้นำทั้งสองจะเจรจาแก้ไขความขัดแย้งทางการค้าระหว่างกันในประเด็นการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา กรรมสิทธิ์ของบริษัทสหรัฐในจีน และการตั้งกำแพงการค้าทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับภาษี

สมาชิกกลุ่มจี20 ประกอบด้วย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล สหราชอาณาจักร แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ตุรกี สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (อียู)

นอกจากประเด็นสงครามการค้าสหรัฐ-จีนแล้ว ผู้นำจี20 ยังจะหารือเกี่ยวกับความเสี่ยงอื่นๆ ที่มีต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งรวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และการปรับนโยบายการเงินของสหรัฐกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งอาจกระตุ้นให้เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ และคาดว่า ประเด็นค่าเงินอาจถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายในที่ประชุมด้วยเช่นกัน เนื่องจากสหรัฐได้แสดงความไม่พอใจที่เงินหยวนอ่อนค่าลงเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งเพิ่มความได้เปรียบให้กับสินค้าส่งออกของจีน